นอกจากจะไม่ไหลออก ยังจะไหลเข้าเพิ่มด้วย: วิเคราะห์มาตรการป้องปรามเงินบาทของ ธปท. กับ โอกาสของตลาดหุ้นไทย

ตกใจและหวั่นไหวกันพอสมควร กับการประกาศมาตรการป้องปรามเก็งกำไรเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดย ธปท. ประกาศมาตรการและปรับปรุงหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. ควบคุมยอดคงค้างแต่ละบัญชีของผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ หรือที่เรียกว่า Non-resident (NB) ทั้ง Non-resident Baht Account (NRBA) หรือ Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) ณ สิ้นวันไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อราย จากเดิมซึ่งกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท หากจะมียอดเกิน 300 ล้านบาทต้องมีการรายงานวัตุประสงค์เฉพาะ (Special Purpose Non-resident Baht Account: SNA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2019 หรืออีก 1 สัปดาห์หลังจากนี้

2. เพิ่มความเข้มงวดของรายงานยอดเงินคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยให้รายงานถึงระดับชื่อของผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง เริ่มมีผลบังคับใช้ในรายงานเดือนกรกฎาคมนี้

วิเคราะห์มาตรการดังกล่าว

– ธปท. ใช้คำว่า “ป้องปรามเก็งกำไรเงินบาท” มันจึงชัดในตัวว่านี่เป็นมาตรการเตือนเบาๆ เท่านั้น ไม่ใช่มาตรการสกัดเงินไหลเข้าอย่างที่หลายฝ่ายกลัว

– เป็นความจำเป็นของ ธปท. ที่ต้องออกมาตรการดังกล่าว เพราะปัจจุบันกระแสเงินโถมเข้าจนทำให้บาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยหลักๆ คือ

1. สภาพคล่องของโลกดีขึ้นตรงกันข้ามกับปีก่อนชัดเจน Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายผ่อนคลาย (ปีที่แล้วตึงสุดๆ)
2. กระแสเงินกลับลำ จากปีก่อนที่โจมตีสกุลเงิน Emerging Market อย่างหนัก เปลี่ยนมาเป็นถาโถมไหลบ่าเข้ามา
3. บาทถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ในฐานะที่มีสถานะการเงินและการค้าที่แข็งแกร่ง (เงินเฟ้อต่ำ เกินดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศต่ำ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง) ทำให้เงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่อง แม้แต่ปีที่แล้วที่ Emerging Market ถูกโจมตี แต่บาทไทยยังแข็งแกร่งและเข็งค่าขึ้นอีก 0.9% มาปีนี้พอเงินไหลกลับ Emerging Market เงินก็ยิ่งเข้าไทยมากเข้าไปอีกจนบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคกว่า 5%
4. การเมืองในประเทศ เปลี่ยนจากรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลพลเรือนประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากเพื่อนบ้าน แม้จะมีการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ก็เป็นรัฐบาลพลเรือนเหมือนเดิม ดังนั้น ไทยมีโอกาสที่จะถูกบรรดาสำนักจัดอันดับเครดิตปรับเรตติ้งขึ้น
5. เงินทุนที่ไหลเข้าตลาดการเงินไทยเพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นและพันธบัตรในดัชนีอ้างอิงเพื่อการลงทุนของ MSCI และ JP Morgan

– ก่อนที่ ธปท. จะออกมาตรการป้องปราบ ก็ได้มีการออกมาตรการลดปริมาณวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน 6 เดือนและ 1 ปีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 หมื่นล้านบาทตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา เพื่อลดช่องทางการเก็งกำไรเงินบาทระยะสั้นจากการลงทุนในพันธบัตรของ ธปท. ไปแล้ว อย่างไรก็ตามมาตรการนี้อาจไม่ได้ผลมากนัก เพราะกระแสเงินที่เข้าซื้อพันธบัตรในไทยกว่า 9 หมื่นล้านบาทใน 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นการซื้อในพันธบัตรระยะสั้นเพียง 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แสดงว่านอกจากต่างชาติจะเก็งค่าเงินบาทแล้ว ยังเก็งเรื่องการลดดอกเบี้ยด้วย นอกจากนั้นมาตรการดังกล่าวเคยบังคับใช้ไปแล้วในปี 2017 แต่ไม่ได้ทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้มากนัก และมีผลข้างเคียงให้อัตราผลตอบแทนระยะสั้นอยู่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

– มาตรการควบคุมยอดคงค้างในบัญชี NRBA/NRBS เกิดขึ้นเพราะ ธปท. เล็งเห็นว่าต่างชาติมีการเอาเงินมาฝากใน NRBA/NRBs ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ บัญชีที่มียอดคงค้างเกินกว่า 200 ล้านบาทในปัจจุบันยังมีเวลาปรับตัวอีก 1 สัปดาห์ก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ และหากมียอดคงค้างเกินกว่า 200 ล้านบาท ต้องมีการขออนุญาตจาก ธปท.

– ธปท. เคยบังคับใช้มาตรการเหล่านี้มาแล้วเมื่อ 2017 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่ารวดเร็วเช่นกัน โดย NRBA/NRBs ไม่เกิน 300 ล้านบาท และ ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเพิ่มวงเงินการลงทุนจาก 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1 แสนล้านลดดอลลาร์สหรัฐฯ และให้ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราได้มากเท่าที่ต้องการ

– ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการข้างต้นจะไม่กระทบต่อการค้าและการลงทุนโดยตรง ด้วยเพราะ ธปท. ยังคงอนุญาตให้มียอดคงค้างที่เกินกว่า 200 ล้านบาท ณ สิ้นวันได้

– มองมาตรการทั้งหมด เป็นมาตรการเบาอาจช่วยแค่ชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และไม่ถึงขั้นทำให้เงินไหลออก เพราะอย่างที่บอกสาเหตุของเงินไหลเข้ารอบนี้ มันเป็นเหตุผลระดับ Macro ซึ่งกระแสน้ำกำลังเชี่ยวเอาเรือไปขวางอย่างมากก็ทำได้แค่ชั่วคราว

– เอาจริงๆ มีความเป็นไปได้ที่มาตรการนี้จะส่งผลบวกทางอ้อมมายังตลาดหุ้นด้วยซ้ำ เพราะการควบคุม NR ของ ธปท. รวมถึง Non-resident Baht Account for Securities หรือบัญชีของผู้มีถิ่นฐานต่างประเทศสำหรับหลักทรัพย์ เมื่อมีมาตรการนี้เงินต่างชาติที่ฝากไว้ในบัญชีหุ้นอยู่เฉยๆ เพื่อเก็งเงินบาท หากต่างชาติไม่อยากถอนเพื่อเอากลับ ก็ต้องโยกบางส่วนไปซื้อหุ้น

– ตลาดอาจจะงงๆ กับมาตรการนี้ไปอีกสักพัก แต่ในระยะถัดไปเชื่อว่าจะได้เห็นเงินจาก NRBs ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น ถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับ SET

ประกิต สิริวัฒนเกตุ

TSF2024