จำนวนผู้ป่วยทวีมากขึ้นในทุก ๆ วัน ผู้ป่วยอาการหนักจำนวนมากที่กำลังรอเตียง ผู้เสียชีวิตในบ้าน และกลางถนน ก็มีให้เห็นแล้ว สถานการณ์ในประเทศ ดูช่างน่าสิ้นหวังจริง ๆ
SET Index เอง อาการทรุดหนักไม่แพ้กัน ดัชนีไหลลงต่อเนื่องจนจะกลับมาเยือนบ้านเก่าที่ 1,500 จุดอยู่รอมร่อ
ตลาดหุ้นไทยกลายสภาพเป็นตลาดที่ไร้ซึ่งความน่าสนใจและเต็มไปด้วยปัจจัยลบ แม้จะมีเรื่องการรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ที่หลายบริษัทจะมีผลกำไรที่ดีมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ดูไม่สามารถจะช่วยอะไรได้เลยในตอนนี้ ซึ่งดูได้ง่าย ๆ จากการรายงานงบของกลุ่มธนาคาร
TISCO BBL KBANK แม้จะมีการรายงานผลการดำเนินงานที่ดีกว่าตลาดคาด แต่ราคาหุ้นไม่ได้ตอบสนองในทางบวกเลย อย่างไรก็ตามการที่ราคาหุ้นปรับลงโดยไม่สนใจผลประกอบการจะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในระยะถัดไป เนื่องจากผลประกอบการของกลุ่มธนาคารฯ เริ่มมีสัญญาณดีบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ทั้งการดำเนินงานปกติที่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตโควิดเต็มไตรมาส และการคุมคุณภาพสินเชื่อได้ในระดับที่ดีกว่าตลาดคาด ดั่งจะเห็นได้จากรายละเอียดงบของแต่ละธนาคารฯ ด้านล่าง
TISCO รายงานกำไร 2Q64 ที่ 1.67 พันล้านบาท (+25% YoY, -5.5% QoQ) สูงกว่าที่ตลาดคาด 4% ได้แรงหนุนจากการรายได้ดอกเบี้ยที่ขยายตัว 22 bps จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 21% QoQ จากค่าธรรมเนียมที่ลดลงตามสภาวะการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวังมากขึ้น รวมไปถึงค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยและค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน
ด้านคุณภาพสินเชื่อ แม้ว่า NPL จะปรับเพิ่มขึ้น 6% QoQ หลัก ๆ มาจาการลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์บางส่วนที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงกลับมาเป็น NPL อีกครั้ง ซึ่งไม่ได้มีจำนวนมากจนน่ากังวล ดังจะเห็นได้จาก Credit Cost ปรับลดลง 46 bps สุ่ 1.04% และการตั้งสำรองต่ำเพียง 564 ล้านบาท (งวด 1Q64 ตั้ง 833 ล้านบาท และ 2Q63 ตั้ง 881 ล้านบาท) สะท้อนความสามารถในการคุมคุณภาพสินเชื่อได้
BBL รายงานกำไรสุทธิงวด 2Q64 ที่ 6.4 พันล้านบาท (+105% YoY -8% QoQ) ดีกว่าตลาดคาด 6% แรงหนุนหลัก ๆ มาจากการเติบโตของสินเชื่อ 3% YoY และ 2% QoQ จากสินเชื่อทั้งในประเทศและจากเพอร์มาตา ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นมากถึง 24% QoQ หลัก ๆ เกิดจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 185% QoQ
คุณภาพสินเชื่อ BBL ยังคงตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าอีก 55% เป็น 9.8 พันล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ credit cost เพิ่มขึ้นสู่ 1.64% การเร่งตั้งสำรองเพื่อรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยืดเยื้อ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ได้กระทบต่อผลกำไรโดยรวม (ได้ชดเชยจากรายการพิเศษที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งการเร่งตั้งสำรองนี้จะทำให้ภาระในครึ่งปีหลังน้อยลง ภาพรวมของกำไร BBL จึงมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในงวด 2H64 ได้
KBANK รายงานกำไรสุทธิงวด 2Q64 ที่ 8.89 พันล้านบาท (+309% YoY, -16% QoQ) ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด กำไรที่โตโดดเด่น YoY มาจากค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง ECL ที่ลดลง และสินเชื่อขยายตัว 6.3% YTD หนุนจากรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงตามกำไรจากเงินลงทุนค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนและค่าธรรมเนียมนายหน้าธุรกิจหลักทรัพย์ที่น้อยลง
คุณภาพสินเชื่อ การตั้งสำรองแม้ว่าจะมีการตั้งเพิ่มอีก 1.08 หมื่นล้านบาท สูงกว่า 1Q64 ที่ 8.65 พันล้านบาท แต่ยังน้อยกว่า 2Q20 ที่ 2.02 หมื่นล้านบาท การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เพราะธนาคารฯ ต้องการเผื่อสำหรับรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยืดเยื้อ แต่ระดับ NPL ratio อยู่ที่ 4.5% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ด้าน Coverage ratio อยู่ที่ 136% เทียบกับ 141% ใน 2Q63 ยังอยู่ในระดับการคุมคุณภาพสินเชื่อไว้ได้
จะเห็นได้ว่าไส้ในของงบ TISCO BBL KBANK ไม่ได้ดูแย่เลย รายได้ดีขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ตลาดไม่ได้ให้ราคาในส่วนนี้ เพราะมองที่ประเด็นลบเรื่อง COVID-19 รุนแรงยืดเยื้อ จนทำให้เกิดการเทขายกลุ่มธนาคารฯ โดยไม่มองว่า ณ ระดับราคาปัจจุบันกลุ่มธนาคารฯ ไทยมี Valuation ที่ถูกที่สุดในโลกแล้ว
การที่ราคาปรับลงรุนแรงสวนทางกับภาพผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของแต่ละธนาคารฯ ที่จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่ชอบสะสมหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีที่มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง เมื่อถึงวันที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เมื่อนั้นเชื่อว่ากลุ่มธนาคารฯจะสร้างผลตอบแทนที่งดงามให้กับผู้ที่สะสม ณ วันนี้ได้อย่างแน่นอน
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต