กับดักคนทำกิจกรรม

สมัยเรียนชั้นอุดมศึกษา หากใครได้เคยทำงานกิจกรรมนักศึกษา เราจะรู้ว่าคือกิจกรรมที่นิสิต/นักศึกษามารวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรม เพื่อพัฒนาตัวเองและเพื่อสรรสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

งานกิจกรรมแม้จะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งสนับสนุน แต่ไม่ใช่หลักสูตรบังคับและไม่มีการนับหน่วยกิต งานกิจกรรมจึงเป็นงานอาสา ที่นิสิต/นักศึกษาจะต้องสละเวลาส่วนหนึ่ง จากการเรียนเพื่อมาร่วมทำกิจกรรม

ผมเองเคยเข้าร่วมกิจกรรมทั้งงานชมรมอนุรักษ์พัฒนา และงานกิจกรรมองค์การนักศึกษา ทั้งในระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษา สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ แม้จะเป็นการเสียสละเพื่อมาทำงานให้กับส่วนรวม แต่เมื่อมีการประชุม วางแผน การประสานงาน การดำเนินงานและการขอความร่วมมือกับฝ่ายอื่น ๆ มันไม่ง่ายเลยที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหวังไว้

เพื่อนของผมคนหนึ่ง ได้เปรยให้ผมฟังว่า พวกเด็กกิจกรรมเรามักจะมีนิสัยอย่างหนึ่งคือ เวลาทำงานเหนื่อยแล้วเพื่อนไม่ทำตาม หรือเพื่อนไม่ให้ความร่วมมือ หรือแม้จะให้ความร่วมมือแต่ก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขมีข้อเรียกร้องมากมาย เราจะบอกว่าเพื่อนพวกนี้ เป็นเพื่อนที่ไม่ดี เห็นแก่ตัว

ตัวเราเองจึงมักจะตอบสนองด้วยการเรียกร้องกลับว่า เราเหนื่อยนะ เรามักจะพูดย้ำ ซ้ำซากว่า เราเสียสละมานะ เข้าใจ เห็นใจเราหน่อย

เราเรียกร้องจนเราลืมนึกไปว่าเหตุใด ทำไมเพื่อนถึงไม่ทำตามที่เราบอก

การทำกิจกรรมคือการร่วมกันเสียสละ ต้องอาศัยการร่วมไม้ร่วมมือจากทุกคน ผู้ที่เป็นหัวหน้าจึงต้องมีสภาวะความเป็นผู้นำสูง นอกจากที่จะต้องเสียสละมากกว่าคนอื่นแล้ว ยังต้องมีความสามารถด้านการจัดการ ทั้งการจัดการยุทธศาสตร์ และการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนและกลุ่มกิจกรรม

พูดง่ายๆว่างานกิจกรรมมันต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการจัดการ เพื่อให้ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน รับรู้ถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกัน มันถึงจะทำให้เกิดความร่วมมือทำกิจกรรมให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้

แต่หากเพื่อนไม่ให้ความร่วมมือ ตัวหัวหน้าหรือทีมที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ต้องถามตัวเองแล้วว่า มีความสามารถมากเพียงพอในการจัดการหรือไม่ จะมาเรียกร้องว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละ แล้วเรียกร้องให้ผู้อื่นต้องทำตามเพียงอย่างเดียว มันคงไม่มีทางเป็นไปได้

เพื่อนของผมยังคงเพิ่มเติมด้วยว่า ความร่วมมือร่วมใจหรือความสามัคคี มันจะเกิดได้มี 2 แบบ

1. มีเป้าหมายที่ดีร่วมกัน รับรู้ถึงประโยชน์ส่วนรวมด้วยกัน

2. มีศัตรูร่วมกัน ซึ่งข้อนี้มักจะเกิดขึ้น เมื่อกลุ่มต้องมีการแข่งขันกับกลุ่มอื่น หรือยามที่ประเทศต้องเผชิญกับสงคราม

หากเปรียบเรื่องนี้กับสถานการณ์โควิดในประเทศ การระบาดในระลอกแรกเมื่อ มี.ค.-เม.ย.63 ที่ผ่านมา เราผ่านมันมาได้ เราควบคุมโรคได้ ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือ เพราะเรามีเป้าหมายร่วมกัน เราเห็นและเราเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจริงจังในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค

แต่การระบาดระลอกที่สองและสาม ซึ่งเกิดจากการดำเนินการที่หละหลวมของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงการจัดการที่ผิดพลาดในหลาย ๆ อย่างของรัฐบาล คราวนี้มันจึงไม่ใช่การสามัคคีเพราะมีเป้าหมายที่ดีด้วยกันละ แต่มันคือความสามัคคีเพราะมีศัตรูร่วมกันมากกว่า ซึ่งศัตรูนั้นคืออะไร เราคงไม่ต้องไปเอ่ยถึง

ความเชื่อมั่น และความไว้เนื้อเชื่อใจ มันเป็นสิ่งสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและสมาชิกภายในกลุ่ม แต่หากผู้นำทำผิดพลาด ทำให้สมาชิกต้องผิดหวัง อกหักกันบ่อยมากเกินไป ความสัมพันธ์ที่มีมันก็จะเสื่อมและร่อยหรอหายไปจนหมด ซึ่งมันก็เหมือนคนรักกันแล้ว เชื่อใจกันมาก ๆ แต่สุดท้ายก็ถูกย่ำยีซ้ำแล้วซ้ำอีก จนสุดท้ายมันก็ไม่เหลือความรักให้กัน และอาจพานเปลี่ยนกลายเป็นความเกลียดชัง

คำว่า ขอให้เชื่อว่าทำเพื่อทุกคน มันถึงไม่มีใครได้ยิน

สิ่งเดียวที่จะช่วยกู้วิกฤติศรัทธาในครั้งนี้ขึ้นมาให้ได้ คือต้องออกจากกับดักคนทำกิจกรรม ต้องเลิกมองแต่ตัวเองว่าเราเหนื่อยเราคือผู้เสียสละ และหันกลับมามองเพื่อน มองคนอื่น มองคนรัก ว่าจะง้ออย่างไร ให้คนกลับมารักดังเดิม

ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความจริงใจ การเล็งเห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าความมั่นคงแข็งแรงของกลุ่มตัวเอง

เมื่อเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม ต้องเปิดใจ พูดคุยความจริง หาทางร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่ายังคงปิดบังเพราะเห็นแก่เสถียรภาพ หน้าตา ความมั่นคงของตัวเอง และบอกให้คนอื่นเชื่อใจตัวเองทั้ง ๆ ที่ปิดบังอะไรต่อมิอะไรไว้อีกมากมาย

ในสภาวะวิกฤติโควิดที่พวกเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ แนวทางที่ควรต้องเริ่มทำนับจากนี้ เพื่อให้เราทุกคนรอดไปด้วยกัน คือยอมรับความผิดพลาด และบอกความจริงต่าง ๆ ต่อประชาชน

ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ไม่มีประโยชน์ที่จะมาเผยแพร่ทุกวัน เพราะยังมีที่ตกค้างไม่ได้ตรวจอีกมาก สิ่งที่ต้องเปิดเผยคือตัวเลขผู้ป่วยวิกฤติ และเทียบกับจำนวนเตียง ICU (รวมถึงเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์อื่น ๆ) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงว่า หากมีการติดโรค และมีอาการหนักก็จะมีโอกาสเสียชีวิตสูง เนื่องจากกำลังการรักษามีไม่เพียงพอ ประชาชนจึงควรเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อ

กำหนดหลักเกณฑ์ หากติดเชื้ออาการไม่หนักที่กำลังรักษาพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาล ให้ทำการคืนเตียง เพื่อเอาไว้รองรับผู้ป่วยอาการหนัก พร้อมทั้งสอนวิธีการดูแลและรักษาด้วยตัวเองให้กับประชาชน เร่งประชาสัมพันธ์การ แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation :HI) และเร่งเครื่องสร้างศูนย์ในการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation :CI) ควรทำแบบต่างประเทศคือให้กักตัวที่บ้าน เมื่อมีวี่แววว่าจะหนักค่อยให้มาที่โรงพยาบาล

ยอมรับว่าหาวัคซีนล่าช้า พร้อมทั้งปรับแผนใหม่ บอกเป้าหมายใหม่ให้กับประชาชน ไม่ใช่ยังคงยืนยันเป้าหมายที่มันเป็นไปไม่ได้ทั้งเรื่อง 100 ล้านโดสและ 120 วันเปิดประเทศ การตีมึนและปล่อยเบลอ มันไม่ได้ช่วยอะไร ควรออกมายอมรับความผิดพลาดในการจัดหาวัคซีนที่ไม่ทันท่วงที และชี้แจงแผนใหม่นั่นคือแนวทางที่ควรทำ อีกทั้งต้องบอกความจริงว่าทำไม ต้องทำไมต้องนำเข้าวัคซีน Sinovac เพิ่มอีก มันจะช่วยอธิบายให้คนเข้าใจว่าทำไมตอนนี้ต้องใช้ Sinovac ไปก่อน ไม่ใช่มามัวหาเหตุผลมาคอยโต้แย้งว่ามันคือวัคซีนทีดี เพราะคนจะไม่เชื่อและพานทำให้ไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน

ต้องให้ความรู้กับประชาชนเรื่องกำลังในการรักษาพยาบาลตอนนี้มีจำกัด ดังนั้น Sinovac จึงมีประโยชน์ เพราะแม้ว่าจะไม่ได้มีประสิทธิภาพป้องกันโรคสูง แต่ช่วยลดความแรง และยังพอกันได้บ้าง ยังไงฉีดก็ดีกว่าไม่ฉีด เพราะตัวเลขอัตราการติดและการตายในกรณีที่มีการฉีดก็น้อยกว่าที่ไม่ฉีดแน่ ๆ

ประกิต สิริวัฒนเกตุ
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด

TSF2024