ย้อนความกลับไปตอนผมอยู่ชั้นประถม เมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่แล้ว จำได้ว่าคุณนาย พรพรรณ (ชื่อ คุณแม่) นำเงินจำนวน 1 แสนบาทมาให้ช่วยเก็บไว้ ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ได้ถามคุณนายเค้าว่าเอาเงินมาฝากไว้ที่เด็กอายุ 9 ขวบอย่างผมทำไม ไฉนไม่เอาไปเก็บในตู้เซฟเอง
การได้จับเงิน 1 แสนบาทในตอนอายุ 9 ขวบ ตอนนั้นมันเป็นเงินจำนวนมากจริงๆ ผมยังจำความหนาของธนบัตรใบละ 500 บาทได้เป็นอย่างดี ยังคิดตามประสาเด็กเลยว่าเงินก้อนนี้มันสามารถไปซื้อของเล่น และเครื่องเล่นเกมต่างๆ ที่อยากได้ทุกอย่างที่อยากได้ แต่มันก็เป็นเพียงแค่ฝันลมๆ แล้งๆ เพราะรู้ว่าเดี๋ยวคุณนายเค้าก็ต้องมาเอาเงินคืนอยู่ดี
นั่นคือความทรงจำกับเงิน 1 แสนครั้งแรกของผม หลังจากวันนั้นผมต้องรออีกกว่า 15 ปีถัดมา หรืออายุย่างเข้า 25 หลังจากเรียบจบ ผมเริ่มเข้าทำงานด้วยดีกรี ป.ตรี วิศวกรรมศาสตร์ และ ป.โท อีก 2 ใบด้วยเงินเดือนเริ่มต้น 1.6 หมื่นบาท ผมยกเงินเดือนทั้งหมดของผมให้คุณนายพรพรรณทุกเดือน และผมไปหารายได้อื่นเพิ่มจากการสอนพิเศษ ผมเก็บเงินและได้จับเงินแสนอีกครั้ง หลังจากสอนพิเศษอย่างหนักหน่วงกว่าปีครึ่ง
ความรู้สึกในเงินแสนตอนอายุ 9 ขวบคือซื้อได้ทุกอย่างที่ต้องการ ส่วนตอนอายุ 25 มันอาจซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่มันก็ยังเป็นจำนวนเงินที่มาก และให้ความรู้สึกถึงความยากลำบากในการหามาได้ มาถึงวันนี้ผมมีอายุย่างเข้า 40 ปี ได้จับเงินแสนมาหลายครั้ง ทั้งหามาและใช้ไป สิ่งหนึ่งที่ผมตกใจก็คือค่าของเงินมันลดลงเร็วและรุนแรงมาก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 30 ปีที่ผ่านมาจะอยู่ที่ปีละ 3.1% (เท่ากับว่าราคาของสินค้าจะต้องเพิ่มขึ้นแบบทบต้นถึง 149% จากราคาเมื่อ 30 ปีก่อน) ก๋วยเตี๋ยวจากชามละ 10 บาท ต้องกลายเป็น 24.9 บาทในวันนี้ แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก๋วยเตี๋ยว 1 ชามตอนนี้อยู่ที่ 45-50 บาท หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 350-400%
เงิน 1 แสนบาทในตอนนี้จึงมีค่าที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่แล้ว และมันจะต่ำลงไปมากกว่านี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้า (เมื่อนำมาเทียบกับปัจจุบัน) ดังนั้นการจัดการการเงินในวันนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากไม่ทำอะไรมันมีแต่จะด้อยค่าลง
ทางออกของการจัดการเงิน 1 แสนบาทมันอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แค่ 1 แสนบาทแต่มันรวมถึงการจัดการเงินที่เรามีอยู่ทั้งหมดว่าควรต้องบริหารให้มันงอกเงยเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อยังไง
แน่นอนว่าการฝากเงินในธนาคาร โดยเฉพาะการฝากประจำมันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เพราะเงินฝากที่เราได้รับในแต่ละปีมันต่ำกว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยแน่นอน จึงต้องมองไปที่ทางเลือกอื่นๆ ทั้งการลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ และตราสารทุน
สำหรับเงิน 1 แสนบาท มันเป็นจำนวนที่ไม่ได้สูงมากนักในปัจจุบัน ดังนั้นหากคิดจะเลือกลงทุน ควรเน้นไปที่การลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่ากระจายลงทุน แนวทางที่น่าสนใจทางหนึ่งคือการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรผสมกับตราสารหนี้เอกชน ซึ่งกองทุนประเภทนี้จะให้ความเสี่ยงต่ำ (เงินต้นไม่ลดลง) และให้ผลตอบแทนในแต่ละปีสูงกว่าการฝากเงินประจำ (แต่ไม่มากนัก)
แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้น อาจเน้นไปที่กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ของเอกชน ที่อันดับเครดิตไม่ได้สูงไปกว่า BBB กลุ่มนี้จะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงมากขึ้นตามด้วย
อีกทางเลือกที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด คือการลงทุนในตราสารทุน โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน มีอัตราการจ่ายปันผล และมีราคาที่เหมาะสม ส่วนตัวแล้วเงิน 1 แสน หากเอาไปแค่ฝากประจำหรือลงทุนกองทุนตราสารหนี้ ผลตอบแทนต่อปีมันจะไม่สูง แต่หากเราไปเลือกลงทุนในกิจการที่ดี นอกจากจะได้ปันผลแล้ว ในวันที่เศรษฐกิจดี กิจการทำกำไรได้มากขึ้น ราคาหุ้นก็จะปรับเพิ่มขึ้นตาม เราก็อาจได้ส่วนต่างของราคามากอย่างไม่คาดฝัน แต่ในเรื่องนี้ต้องระวังด้วยว่าถ้าคิดผิดไปอยู่ในกิจการที่ย่ำแย่ ราคาหุ้นก็ลงหนักเป็นเงาตามตัว ความเสียหายของเงินต้นก็จะเกิดขึ้นได้
ผมมีหลักการง่ายๆ ว่า ควรเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นที่สามารถรักษาระดับรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องใน 5 ถึง 10 ปีที่ผ่านมา แม้บางปีรายได้อาจตกลงตามสภาวะเศรษฐกิจ แต่กิจการก็สามารถที่จะเร่งฟื้นตัวกลับมาได้ภายใน 2 ปี เช่นเดียวกับการทำกำไรทั้งขั้นต้น และกำไรสุทธิ หากกิจการสามารถรักษาระดับทำกำไรให้เติบโตได้อย่างสม่ำเสมอก็ถือว่าเป็นกิจการชั้นยอด ในที่นี้อาจดูที่ค่า ROE ไม่ควรต่ำกว่า 15% และแน่นอนว่ากิจการนั้นๆ ควรต้องจ่ายปันผลในอัตราที่สูงกว่า 4% และระดับราคาไม่ควรแพงเกินไปกว่าค่า PE Ration ที่ 10 หรือ 12 เท่า
การลงทุนในตราสารทุน ควรเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ควรอ่อนไหวกับการขึ้นลงของราคา แต่ควรให้ความสำคัญไปที่ผลการดำเนินงานของกิจการ ทิศทางของกิจการว่ายังเป็นไปในทางที่ดีอยู่หรือไม่ ผมมีข้อสังเกตว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 20 ปีอยู่ที่ราวๆ 5.9% ต่อปี ดังนั้นหากเลือกกิจการที่ดีให้ปันผลสูง 4% ผลตอบแทนที่คาดหวัง (รวมปันผล) ต่อปีอาจสูงถึง 10% เงิน 1 แสนในวันนี้ อาจขยายกลายเป็น 2 แสนได้ในอีก 7 ปีกับอีก 4 เดือนข้างหน้า
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
ติดตามคุณประกิต สิริวัฒนเกตุ ได้ที่ https://www.facebook.com/prakitsiriwattanaket
อยากค้นหากองทุนเด็ดๆ ด้วยตัวเองบ้าง ไปค้นหากันเลยที่ FINNOMENA Fund
https://www.finnomena.com/fund/
ค้นหาข้อมูลหุ้น งบหุ้นย้อนหลังถึง 10 ปี!! ได้ที่ FINNOMENA Stock
https://www.finnomena.com/stock/