“รายการที่จะพาทุกคนไปเจาะลึก กับปรัชญา แนวคิดของนักลงทุนระดับ World Class”
หัวข้อ
0:00 Start
0:45 โจเอล กรีนแบลตต์ คือใคร?
2:38 กลยุทธ์ Magic Formula คืออะไร? ใช้อย่างไร?
8:30 ผลตอบแทนย้อนหลังของกลยุทธ์ Magic Formula
10:08 แนวคิดคำคม ปรัชญา ที่น่าสนใจของคุณ Joel Greenblatt
Joel Greenblatt คือใคร?
Joel Greenblatt คือผู้ก่อตั้งบริษัทจัดการสินทรัพย์ Gotham Asset Management และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Wharton ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัย ivy league ของสหรัฐฯหรือมหาลัยอันดับต้น ๆ
คุณ Joel Greenblatt ได้เริ่มบริหารกองทุน Gotham ด้วยเงินทุน 7 ล้านเหรียญ โดยมีเงินทุนหลัก ๆ มาจากราชาตราสารหนี้เก็งกำไรในอดีตอย่างคุณ Michael Milken ซึ่งกองทุนของเค้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 50% ต่อปี หรือ 30% ต่อปีหลังจากหักค่าธรรมเนียมในช่วงปี 1985 ถึง 1994 จากการลงทุนใน special situation จำพวกการ spinoff ของบริษัทใหญ่ ๆ หรือการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยในช่วงปี 1995 ถึงปี 2009 กองทุน Gotham ไม่ได้เปิดให้นักลงทุนภายนอกเข้ามาลงทุนเพิ่ม
และในปี 2000 กองทุน Gotham ก็ได้สร้างปรากฎการณ์อย่างการช่วย Michael Burry นักเก็งกำไรในตำนานผู้สร้างชื่อจากวิกฤติ subprime ด้วยการเข้าลงทุนใน Scion Capital Fund ถึง 25% จนลงทุนถึง 100 ล้านเหรียญในปี 2006
Magic Formula คืออะไร?
Magic Formula คือกลยุทธ์การลงทุนจากคุณ Joel Greenblatt นักลงทุนแนว VI ซึ่งหลักการของกลยุทธ์ที่ว่าก็คือการนำสัดส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่ใช้วัดมูลค่ามาคัดเลือกผ่านระบบข้อมูลและลงทุนผ่านหุ้นที่เข้ากฎเกณฑ์ใน 20 ถึง 30 อันดับแรก และไม่ใช้การวิเคราะห์สตอรี่ธุรกิจหรือการวิเคราะห์ในเชิงพื้นฐาน หรือจะเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เรียบง่ายมาก ๆ และไม่ซับซ้อนเลย
ขั้นตอนการขั้นเลือกหุ้นผ่าน Magic Formula
ขั้นตอนการเลือกหุ้นของ Joel Greenblatt เป็นขั้นตอนที่ง่ายมาก ๆ และง่ายอย่างน่าเหลือเชื่อ โดยเข้าใช้เกณฑ์การเลือกหุ้นเพียงแค่สองส่วน ซึ่งก็คือปัจจัยทางด้านราคาและปัจจัยในเรื่องของศักยภาพในการใช้ทุนจนสร้างผลตอบแทนได้อย่างคุ้มค่า
หรือหากจะพูดกันง่าย ๆ สองปัจจัยนี่ก็คือตัวของ earning yield ที่เป็นส่วนกลับของค่า PE กับสัดส่วน ROC หรือ ROIC นั่นเอง
โดยกลยุทธ์ของคุณ Joel Greenblatt จะใช้สำหรับการหาหุ้นถูกและบริษัทที่ดี โดยมีปัจจัยหนุนอย่างมูลค่าเป็นตัวขับเคลื่อน และชื่อชอบการลงทุนใน special situation หรือสถานการณ์พิเศษ ที่ทำให้ราคาหุ้นสามารถฟื้นตัวกลับมาได้และทำกำไรผ่านหุ้นที่มีมูลค่าต่ำ
ตัวอย่างสถานการณ์พิเศษที่ว่าอาจจะเป็นสถานการณ์ที่ทำให้หุ้นเกิดแรงกดดันเทขายต่าง ๆ เช่น COVID-19 หรือ จากข่าว และวิกฤติต่าง ๆ โดยกลยุทธ์ของคุณ Joel Greenblatt จะช่วยในการหาหุ้นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาได้ หรือจะเป็นการ spin off จากหุ้นใหญ่ ๆ ที่มีพื้นฐานที่ดี มีทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงการปรับโครงสร้างองค์กรต่าง ๆ
ต่อไปเราก็จะมาพูดถึงขั้นตอนของการใช้ Magic Formula อย่างครบสูตร
- หุ้นที่เลือกต้องมีมูลค่าตลาดที่มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือ ตีเป็นเงินไทยก็คือ 3 พันล้านบาท หรือเรียกได้ว่าเป็นหุ้นนับได้ตั้งแต่หุ้นเล็กมาก ๆ ไปจนถึงหุ้นใหญ่เลยทีเดียว โดยเกณฑ์ของหุ้นเล็กมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ราว ๆ 300 ล้านเหรียญถึง 2,000 ล้านเหรียญ และหุ้นไซส์เล็กมาก ๆ จะอยู่ที่ 50 ล้านเหรียญถึง 300 ล้านเหรียญ
- ไม่นับรวมหรือลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินและหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค
- ไม่นับรวมหุ้นต่างประเทศ (ใช้เฉพาะหุ้นอเมริกาเท่านั้น)
- หา earning yield หรือ ส่วนกลับ PE ที่ใช้วัดผลตอบแทนออกมาซึ่งทำได้โดยการนำ (EBIT มาหารกับมูลค่ากิจการ)
- หา ROC หรือ อัตราส่วนผลตอบแทนจากเงินทุนซึ่งทำได้โดยการนำ (EBIT มาหารกับ (สินทรัพย์ถาวร พวกตึก ที่ดินโรงงานต่าง ๆ + เงินทุนหมุนเวียนสุทธิซึ่งคิดได้จากการนำสินทรัพย์หมุนเวียนมาหักลบกับสินทรัพย์หมุนเวียนในส่วนของเจ้าหนี้การค้าและค่าใช้จ่ายค้างจ่าย))
- จากนั้นนำสัดส่วนที่ได้สองตัวมาใช้จัดอันดับหุ้นในการเลือกลงทุนโดยเลือกบริษัทที่มี earning yield และ ROC สูงที่สุด
- ลงทุนในบริษัทที่มีอันดับอยู่ในช่วง 20-30 อันดับแรก โดยเปิด position จำนวน 2-3 positions ต่อเดือนและทำอย่างนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี
- ในทุก ๆ ปีให้ทำการปรับสมดุลของพอร์ตโดยการหุ้นที่ทำผลตอบแทนได้ไม่ดีหนึ่งสัปดาห์ก่อนปิดปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะเราจะได้นำส่วนที่ขาดทุนไปหักกำไรเพื่อลดภาษี และขายหุ้นที่ทำกำไรได้หนึ่งสัปดาห์หลังปิดปี
- ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีถึง 10 ปี หรือจะมากกว่านั้นก็ได้
ผลตอบแทนย้อนหลังของกลยุทธ์ Magic Formula
หากทำตามกลยุทธ์ดังกล่าวในช่วงปี 1988 จนถึงปี 2004 กลยุทธ์ Magic Formula จะสร้างผลตอบแทนได้ถึง 30% ต่อปีแบบทบต้น และเปลี่ยนเงินลงทุน 10,000 ดอลลาร์ ให้กลายเป็นเงินราว ๆ ล้านดอลลาร์ได้ในปี 2009 ในเวลาราว ๆ 20 ปี
แต่ถึงอย่างนั้นผลตอบแทนในช่วงล่าสุดยังถืออว่าตามหลังดัชนีหุ้นสามัญประจำบ้านอย่าง S&P 500 อยู่พอสมควร โดยกองทุนให้ผลตอบแทนรายปีนับตั้งแต่จัดตั้งอยู่ที่ 12.05% เทียบกับดัชนีหุ้น S&P 500 ที่ทำได้ 15.07% และมีผลตอบแทนสะสมนับตั้งแต่จัดตั้งอยู่ที่ 79.93% เทียบกับดัชนีที่ 106.53% ซึ่งอาจมีเหตุผลมาจากการที่การลงทุนในหุ้นเติบโตในช่วงที่ผ่านมีผลงานที่โดดเด่นกว่าการลงทุนในหุ้นมูลค่าซึ่งเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาในช่วงหลังไม่นานมานี้
ปิดท้ายด้วย Quote คำคมจาก Joel Greenblatt
“The strategy of putting all your eggs in one basket and watching that basket is less risky than you might think.”
“กลยุทธ์อย่างการลงทุนแบบกระจุกตัวอาจเสี่ยงน้อยกว่าที่คุณคิด”
“Choosing individual stocks without any idea of what you’re looking for is like running through a dynamite factory with a burning match. You may live, but you’re still an idiot.”
“การเลือกหุ้นรายตัวโดยที่คุณไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับมันเลย มันเหมือนกับการที่คุณวิ่งเข้าไปในโรงงานผลิตไดนาไมต์กับไม้ขีดไฟ ซึ่งคุณอาจจะรอดก็ได้นะ แต่คุณก็ดูโง่อยู่ดี”
“So one way to create an attractive risk/reward situation is to limit downside risk severely by investing in situations that have a large margin of safety. The upside, while still difficult to quantify, will usually take care of itself. In other words, look down, not up, when making your initial investment decision. If you don’t lose money, most of the remaining alternatives are good ones.”
“ทางเลือกหนึ่งในการเฟ้นหาผลตอบแทนเทียบความเสี่ยงที่คุ้มค่า คือการจำกัดความเสี่ยงขาลงผ่านการลงทุนที่ให้ส่วนเผื่อความปลอดภัยที่สูง แน่นอนว่าในช่วงขาขึ้นมันเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ แต่มันจะอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง หรืออีกนัยหนึ่งมองหุ้นตอนมันลงไม่ใช่ตอนมันขึ้นหากตัดสินใจที่จะลงทุน ถ้าคุณไม่เสียเงินลงทุน คุณจะมีทางเลือกมากขึ้น”
ติดตาม FINNOMENA Podcast ได้ทุกช่องทางที่คุณมี
App Spotify
https://finno.me/spotify
App Google podcasts
https://finno.me/googlepodcast
Apple podcast
https://finno.me/applepodcast
App Soundcloud
https://finno.me/soundcloud
Podbean
https://finno.me/podbean
Youtube
https://finno.me/youtubepodcast