‘ดัชนีนิเคอิ’ ร้อนแรงอย่างต่อเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลให้ราคาหุ้นเหล่านั้นพุ่งแรงตามไปด้วย โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 ดัชนีนิเคอิ 225 ได้ทำสถิติแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ที่ 40,097.63 จุด ถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 34 ปี โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2024 ดัชนีนิเคอิ 225 บวกไปแล้วกว่า 19%
บทความนี้เราจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘ดัชนีนิเคอิ’ ดัชนีตลาดหุ้นที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น พร้อมลิสต์รายชื่อกองทุนสำหรับคนที่อยากลงทุนหุ้นญี่ปุ่นที่อยู่ในดัชนีนิเคอิมากฝากกัน
ดัชนีนิเคอิ (Nikkei Index) คืออะไร?
ดัชนีนิเคอิ (Nikkei Index) คือดัชนีตลาดหุ้นของญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ดัชนีนิเคอิมีดัชนีแยกย่อยอีกมากมาย หนึ่งในดัชนีหลักคือ ‘ดัชนีนิเคอิ 225’ (Nikkei 225 Index)
‘ดัชนีนิเคอิ 225’ (Nikkei 225 Index) เป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาหุ้นของบริษัทชั้นนำจำนวน 225 บริษัท โดยดัชนีนิเคอิ 225 จะถูกคำนวณจากราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้น 225 ตัวดังกล่าว ทุก ๆ 5 วินาทีระหว่างช่วงเวลาซื้อขาย เกณฑ์การเลือกหุ้นเข้าดัชนีนิเคอิมี 2 ปัจจัยหลัก คือ “สภาพคล่อง” และ “ความสมดุลของอุตสาหกรรม” (จากอุตสาหกรรมทั้งหมด 36 กลุ่ม) ในดัชนี โดยจะทบทวนหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิเคอิ 225 ปีละ 2 ครั้ง
รู้จัก 5 หุ้นที่น่าสนใจใน ‘ดัชนีนิเคอิ’
1. Tokyo Electron
Tokyo Electron หรือ TEL เป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1963 ในชื่อ Tokyo Electron Laboratories, Inc. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘8035’ Tokyo Electron เป็นที่รู้จักดีในฐานะซัพพลายเออร์อุปกรณ์สำหรับผลิตวงจรรวม (IC) จออัจฉริยะ (FPD) และโซล่าเซลล์ (Solar Cell) โดยมี Tokyo Electron Device หรือ TED เป็นบริษัทในเครือที่เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์เครือข่าย ปัจจุบัน Tokyo Electron มีมูลค่าตลาด (Market Cap) กว่า 111.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใหญ่สุดเป็นอันดับ 4 ของบริษัทในญี่ปุ่น (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 2567)
2. Fast Retailing
Fast Retailing เป็นบริษัทโฮลดิ้งค้าปลีก ดำเนินกิจการแบรนด์แฟชั่นหลากหลายแบรนด์ ได้แก่ UNIQLO, GU และ Theory ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 1949 ในชื่อ ‘Men’s Shop Ogori Shoj’ และได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘Fast Retailing’ ในเดือนกันยายน 1991 โดยได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘9983’ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1999 และตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘6288’ ปัจจุบัน Fast Retailing มีมูลค่าตลาด (Market Cap) กว่า 88.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใหญ่สุดเป็นอันดับ 8 ของบริษัทในญี่ปุ่น (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 2567)
3. Softbank
Softbank ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 1981 ดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้บริการบรอดแบนด์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์คู่สาย อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ฯลฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘9984’ ปัจจุบัน Softbank มีมูลค่าตลาด (Market Cap) กว่า 87.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใหญ่สุดเป็นอันดับ 9 ของบริษัทในญี่ปุ่น (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 2567)
4. Shin-Etsu Chemical
Shin-Etsu Chemical ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 1926 ภายใต้ชื่อ ‘Shin-Etsu Nitrogen Fertilizer’ เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าตลาด (Market Cap) กว่า 85.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.พ. 2567) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) และตลาดหลักทรัพย์นาโกย่า (Nagoya Stock Exchange) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘4063’
Shin-Etsu Chemical เป็นบริษัทแรกที่ทำธุรกิจซิลิโคนในญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ซิลิโคนของ Shin-Etsu Chemical ถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมเช่น รถยนต์, ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องสำอาง, การก่อสร้าง, อาหาร ฯลฯ มีฐานการผลิตทั่วโลก ทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ รวมถึงไทย
5. Daikin
Daikin ก่อตั้งขึ้นในปี 1924 ภายใต้ชื่อ ‘Osaka Metalworking Industries’ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘Daikin Industries’ ในปี 1963 และใช้นี้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศและระบบทำความเย็นรายใหญ่ที่สุดของโลก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ภายใต้สัญลักษณ์หุ้น ‘6367’ นอกจากเครื่องปรับอากาศและระบบทำความเย็นแล้ว Daikin ยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ระบบหายใจทางการแพทย์ อุปกรณ์ระบบไฮดรอลิก เคมีภัณฑ์ ตลอดจนยุทธภัณฑ์ เช่น กระสุนปืน และระเบิดมือ เป็นต้น
ลงทุนหุ้นใน ‘ดัชนีนิเคอิ’ ผ่านกองทุนรวม
กองทุนที่ลงทุนหุ้นในดัชนีนิเคอิ ปัจจุบันมีอยู่ 5 กองทุนด้วยกัน โดยกองทุนทั้งหมดจะมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุนมุ่งหวังให้ผลประกอบเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด (Passive Management / Index Tracking) เน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิเคอิ 225 รวมถึงหุ้นที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิเคอิ 225 มีความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงมาก) เนื่องจากเป็นกองทุนรวมหุ้น แต่ละกองทุนมีรายละเอียด ดังนี้
KFJPINDX-A
- ค่าธรรมเนียมรวมกองทุน: 1.0260%
- มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป: 500 บาท
- หนังสือชี้ชวน (Fund Factsheet): คลิก
SCBNK225 และ SCBNK225D
- ค่าธรรมเนียมรวมกองทุน: 1.11%
- มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป: 1 บาท
- หนังสือชี้ชวน (Fund Factsheet): SCBNK225, SCBNK225D
TISCOJP
- ค่าธรรมเนียมรวมกองทุน: 1.2920%
- มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป: 1,000 บาท
KT-JPFUND-A
- ค่าธรรมเนียมรวมกองทุน: 1.0200%
- มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป: 1,000 บาท
- หนังสือชี้ชวน (Fund Factsheet): คลิก
TMBJE
- ค่าธรรมเนียมรวมกองทุน: 1.4883%
- มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป: 1 บาท
- หนังสือชี้ชวน (Fund Factsheet): คลิก
— planet 46.
อ้างอิง
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT” | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299