ใครที่อยากเริ่มลงทุน กำลังวางแผนการลงทุน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มลงทุนอะไรดี เพราะมีสินทรัพย์ทางการเงินให้เราเลือกลงทุนเยอะแยะไปหมด แถมก็ยังไม่รู้อีกว่าแบบไหนจะเหมาะกับเราทั้งในแง่ของเงินลงทุน ความเสี่ยง และเป้าหมายการลงทุน แนะนำว่าอย่าพลาดบทความนี้ เพราะบทความนี้จะพาทุกคนไปเจาะลึกสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดเงินลงทุนให้เติบโตได้ ซึ่งสินทรัพย์ที่อยู่ในบทความนี้บางอย่างก็สามารถลงทุนได้ด้วยเงินหลักพันเท่านั้น!
ก่อนที่จะไปดูว่ามีสินทรัพย์อะไรให้ลงทุนได้บ้าง เรามารู้จัก “เงินเฟ้อ” กันสักหน่อยว่ามันคืออะไร อย่างน้อย ๆ ก่อนเริ่มลงทุนอะไรเราก็ต้องทำความรู้จักเจ้าเงินเฟ้อนี้ไว้นะ
เงินเฟ้อ คืออะไร?
ใครที่เปิดทีวีดูข่าวเศรษฐกิจหรือแม้แต่อ่านบทความเศรษฐกิจก็คงต้องเคยได้ยินได้เห็นคำว่า “เงินเฟ้อ” กันอย่างแน่นอน แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าเจ้าเงินเฟ้อเนี่ยมันหมายถึงอะไรกันแน่? ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้นิยามความหมายของคำว่าเงินเฟ้อไว้ว่า
เงินเฟ้อ คือ การที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ โดยทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ทำลายแรงจูงใจในการออมของประชาชนทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา กับต่างประเทศลดต่ำลง และทำให้ความเสี่ยงในการดำเนิน ธุรกิจและการลงทุนในระยะยาวของประเทศมีมากขึ้น
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เช่น เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราอาจจะซื้อข้าวซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ในราคา 20 บาท แต่ปัจจุบันเราไปซื้อก๋วยเตี๋ยวในราคา 20 บาท อาจจะได้ปริมาณนิดเดียว หรือบางร้านก็ไม่ขายเลย และเหตุการณ์นี้นี่แหละที่เรียกว่า “ภาวะเงินเฟ้อ”
เงินเฟ้อนั้นเรียกได้ว่าเป็นศัตรูตัวร้ายของระบบเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้ เห็นความร้ายกาจของเงินเฟ้อแบบนี้แล้ว ก็คงจะมีคำถามกันว่า แล้วจะมีวิธีใดไหมที่เราจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้? ตรงนี้ก็ขอตอบแบบมั่นใจเลยว่า มีแน่นอน ซึ่งวิธีการนั้นก็คือ “การลงทุน” นั่นเอง แต่เดี๋ยวก่อน! การลงทุนในบางสินทรัพย์ก็ให้ผลตอบแทนที่ไม่สามารถชนะเงินเฟ้อได้เหมือนกัน (อ่านถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งกุมหัวกันนะว่าทำไมมันเยอะสิ่งขนาดนี้)
เพราะเราต้องดูผลตอบแทนจากการลงทุนที่แท้จริงว่ามีค่าติดลบหรือไม่
สูตรคำนวณผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริง
ผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริง = ผลตอบแทน – อัตราเงินเฟ้อ
เช่น สินทรัพย์ A ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.00% ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.20% ต่อปี ดังนั้น ผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริงจะเท่ากับ -0.20% ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ A จึงแพ้เงินเฟ้อ แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในสินทรัพย์ A ไม่สามารถชดเชยอำนาจซื้อที่ลดลงได้ จึงควรหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้นั่นเอง
เราก็ได้รู้จักเงินเฟ้อกันไปแล้ว ที่นี่เรามาดูกันดีกว่าว่าจะมีสินทรัพย์อะไรให้เราลงทุนได้บ้าง และจะมีสินทรัพย์ประเภทใดที่เราลงทุนแล้วสามารถคาดหวังผลตอบแทนที่เอาชนะเงินเฟ้อได้
เงินฝาก
จะเรียกว่าการฝากเงินเป็นการลงทุนก็คงเรียกได้ไม่เต็มปากนัก เพราะมันคือ “การออม” มากกว่า แต่จะไม่หยิบมากล่าวถึงก็คงไม่ได้ ดังนั้นจึงขอนำมากล่าวสักนิดหน่อยให้พอหอมปากหอมคอ สำหรับการฝากเงินนั้นก็มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น
- เงินฝากออมทรัพย์: เป็นการฝากเงินแบบไม่กำหนดระยะเวลาฝากถอน ผู้ฝากสามารถฝากและถอนเงินได้ตามวันที่สะดวก ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทนี้อยู่ที่ประมาณ 0.125% – 2.00% โดยดอกเบี้ยส่วนที่เกิน 20,000 บาทผู้ฝากเงินจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ
- เงินฝากประจำ: เป็นการฝากเงินแบบกำหนดระยะเวลาฝากถอนชัดเจน ซึ่งระยะเวลาก็มีตั้งแต่ 3, 6, 12, 24, 36 และสูงสุด 48 เดือน ดอกเบี้ยเงินฝากประจำจะอยู่ที่ประมาณ 0.30% – 1.35% ซึ่งหากมีการถอนเงินก่อนครบกำหนดก็อาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารประกาศ นอกจากนี้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำนั้นต้องมีการเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ เช่นเดียวกับการฝากออมทรัพย์ แต่ก็มีบางธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากแบบปลอดภาษีให้ลูกค้าได้เลือกใช้บริการอีกด้วย
- เงินฝากดิจิทัล: เป็นการฝากเงินในรูปแบบออนไลน์ โดยเงินฝากประเภทนี้จะไม่มีสมุดบัญชี และทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่แตกต่างกันไป ปกติแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1.10% – 2.00%
การคิดดอกเบี้ยของธนาคารก็จะคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น (Compound Interest Rate) โดยจะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงินปีละ 1-2 ครั้ง หรือจ่ายทุกเดือนก็แล้วแต่เงื่อนไขของธนาคารต่าง ๆ ยกเว้นเงินฝากประเภทฝากประจำที่จะจ่ายดอกเบี้ย ณ วันครบกำหนดระยะเวลาฝากประจำทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าสินทรัพย์ประเภทเงินฝากนี้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด เพราะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันทีเมื่อเราต้องการนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าหากเราฝากเงินในธนาคาร A เกิน 1 ล้านบาท ในวันที่ธนาคาร A ล้มในวันที่ธนาคาร A พลาด เราจะได้รับเงินฝากคืนเพียงแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทไม่รับประกันว่าจะได้คืนนะ จะเห็นได้ว่าการฝากเงินในธนาคารก็มีความเสี่ยงตรงนี้อยู่เหมือนกัน ดังนั้น ควรวางแผนดี ๆ ว่าส่วนที่เกินนั้นจะเอาไปไว้ที่ใดหรือจะเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ใด
ตราสารหนี้
“ตราสารหนี้” ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นมาหน่อย แต่ความเสี่ยงก็ยังไม่มากไปกว่าสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อยแต่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก การลงทุนในตราสารหนี้จะแสดงถึง “การกู้ยืม” โดยผู้ถือตราสารหนี้หรือนักลงทุนจะมีสถานะเป็น ‘เจ้าหนี้’ หรือ ‘ผู้ให้กู้’ ส่วนผู้ออกตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น ‘ลูกหนี้’ หรือ ‘ผู้กู้’ นักลงทุนที่มีสถานะเป็นผู้ให้กู้ก็จะรับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย พร้อมได้รับเงินต้นคืนในวันที่ครบกำหนดไถ่ถอน
ตราสารหนี้ หากแบ่งตามประเภทผู้ออกจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ พันธบัตร (Government Bond) เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
- ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ (Corporate Bond) ซึ่งออกโดยบริษัทเอกชนต่าง ๆ เพื่อเป็นการระดุมทุน
หากกล่าวถึงความเสี่ยงของตราสารหนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้แล้ว แน่นอนว่าพันธบัตรที่ออกโดยภาครัฐนั้นความเสี่ยงก็จะต่ำกว่าหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน หากจะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนก็ต้องดูให้ดีก่อนว่าบริษัทนั้น ๆ ที่เราจะไปซื้อหุ้นกู้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง และมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนเราได้เมื่อครบกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน
สำหรับสภาพคล่องของตราสารหนี้จะค่อนข้างต่ำ เนื่องจากอย่างที่บอกไปว่าตราสารหนี้จะมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีระยะเวลาที่แตกต่างกันไป น้อยกว่าหนึ่งปีหรือมากกว่าหนึ่งปี ทำให้สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ช้า
ผลตอบแทนเฉลี่ยของตราสารหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2-5% จะเห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากก็จริง แต่ทั้งนี้ ขอให้ดูอัตราเงินเฟ้อประกอบกันด้วยอย่างที่กล่าวไปในช่วงต้นบทความ เพราะในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นก็อาจทำให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้บางทีก็แพ้อัตราเงินเฟ้อได้ ดังนั้นควรนำอัตราเงินเฟ้อมาคำนวณด้วยว่าได้คุ้มเสียกันรึเปล่า
ทองคำ
สำหรับทองคำคงไม่ต้องกล่าวอะไรมาก เพราะทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่าทองคำนั้นเป็นสินทรัพย์ที่แสดงความมั่งคั่งร่ำรวยมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณสมบัติของทองคำที่มีความงดงาม คงทน ทำให้ทองคำถูกนำไปแปรรูปเป็นเครื่องประดับหลากหลายประเภท หรือที่เรียกกันว่า ทองรูปพรรณ รวมถึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องสะสมมูลค่าอีกด้วย
การลงทุนในทองคำสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนทางตรงโดยการซื้อทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณมาเก็บไว้ การลงทุนทองคำผ่านกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในทองคำ การลงทุนผ่านสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) หรือท่านใดที่อยากเริ่มลงทุนในทองคำแต่คิดว่า หากจะซื้อทองคำแท่งสักหนึ่งแท่งมาเก็บไว้ก็จะดูใช้เงินเยอะไปหน่อย แถมยังมีห่วงเรื่องของความปลอดภัยอีก ก็สามารถลงทุนโดยการออมทองคำผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการก็ได้เช่นกัน เพราะด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาทก็สามารถออมทองคำได้แล้ว (หรือบางเจ้าก็มีเห็นว่าเริ่มต้นลงทุนแค่ 100 บาทเองนะ)
ผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนระยะยาวในทองคำ 10 ปี และ 20 ปีจะอยู่ที่ 5.20% และ 8.77% ตามลำดับ ส่วนเรื่องสภาพคล่องของทองคำนั้นก็มีค่อนข้างสูง เพราะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ค่อนข้างง่าย ในขณะเดียวกัน ทองคำนั้นก็มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นต่ำมาก รวมถึงมีค่าความผันผวนต่ำกว่าสินทรัพย์เสี่ยงชนิดอื่น จึงนิยมนำมากระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน
หุ้น
ตราสารทุน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “หุ้น” (Stock) คงเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่คุ้นหูกันมากที่สุดแล้ว ลักษณะการลงทุนในหุ้นนั้นจะแสดงถึงการเป็น “เจ้าของกิจการ” หมายความว่าผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมในบริษัทที่เราเข้าไปซื้อหุ้น
ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจะอยู่ในรูปแบบของ ส่วนต่างราคา (Captain Gain) และ เงินปันผล (Dividend Yield) ในกรณีที่บริษัทนั้น ๆ มีนโยบายจ่ายเงินปันผล นอกจากนี้ ผู้ลงทุนในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นยังมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น การจองซื้อหุ้นออกใหม่ หุ้นเพิ่มทุน ฯลฯ
หุ้นในที่นี่ก็ไม่ได้จำกัดแต่แค่หุ้นไทยเท่านั้น เราสามารถไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้เพื่อเปิดหาโอกาสในการลงทุน รวมถึงเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนของเราไปในตัว แต่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศบางทีต้องใช้เงินจำนวนมาก อย่างเช่น หุ้น Tesla ที่ล่าสุดราคาพุ่งไปเกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว การจะซื้อหุ้น Tesla สักหนึ่งหุ้นอาจจะไม่ตอบโจทย์นักลงทุนบางท่านสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นต่างประเทศเราสามารถลงทุนได้ผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้เช่นกัน จำนวนเงินเริ่มต้นลงทุนก็ไม่ได้มากเท่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรง สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ นั้นจะกล่าวถึงในหัวข้อกองทุนรวมอีกที
ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 12% (อ้างอิงจากผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีของ MSCI World ข้อมูล ณ วันที่ 29 ต.ค. 2564) ผลตอบแทนจะสูงกว่าเงินฝากและตราสารหนี้ค่อนข้างมาก แต่อย่าลืมว่าผลตอบแทนจากการลงทุนย่อมแปรผันตรงกับความเสี่ยง หมายความว่ายิ่งผลตอบแทนสูงความเสี่ยงก็จะยิ่งมากขึ้นตามกันไป ควรศึกษาเบื้องลึกเบื้องหลังของหุ้นตัวนั้น ๆ ที่เราสนใจว่าธุรกิจเขาเป็นอย่างไร งบการเงินต่าง ๆ ก่อนลงทุน
อสังหาริมทรัพย์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 บัญญัติว่า “อสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย เช่น ที่ดิน คอนโด บ้าน อาคารพาณิชย์ ฯลฯ
ทั้งนี้ การลงทุนในอสังหาฯ ทางตรงอย่างการซื้อบ้านซื้อคอนโดเพื่อเก็งกำไร หรือซื้อมาปล่อยเช่า ก็จะดูใช้เงินเยอะไปเสียหน่อย อย่างไรก็ตาม เราสามารถลงทุนในอสังหาฯ ทางอ้อมได้ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund), ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) รวมไปถึง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund: IFF) ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ จะไปกล่าวถึงในหัวข้อกองทุนรวมอีกครั้ง
ตราสารอนุพันธ์
ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) คือ สินทรัพย์ทางการเงินที่มูลค่าของตราสารจะขึ้นอยู่กับ “สินค้าอ้างอิง” (Underlying Asset) นั้น ๆ ลักษณะของตราสารอนุพันธ์จะเป็น “สัญญา” ที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงทำสัญญาตกลงกัน ณ วันซื้อขาย ทั้งในเรื่องของจำนวนหน่วยและราคา แล้วส่งมอบและชำระราคากันในอนาคต ตราสารอนุพันธ์จะทำการซื้อขายผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX
ตราสารอนุพันธ์ที่ซื้อขายกันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของประเทศไทย (TFEX) แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) – สัญญาที่ผู้ซื้อกับผู้ขายตกลงจะซื้อขายสินค้าอ้างอิง โดยกำหนดราคาตั้งแต่วันนี้ แต่ส่งมอบและชำระเงินในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อและผู้ขายมีหน้าที่ต้องซื้อหรือขายตามที่ตกลงกันไว้
- สัญญาสิทธิ (Options) – สัญญาที่ผู้ซื้อได้รับ “สิทธิ” ซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงตามราคา จำนวน และระยะเวลาที่ระบุ โดยผู้ซื้อต้องจ่ายค่าพรีเมียม (Premium) และสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ขายมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา หากผู้ซื้อขอใช้สิทธิ
สินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) ของตราสารอนุพันธ์ ได้แก่ หุ้น ดัชนี ตราสารหนี้ เงินตราต่างประเทศ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ โดยสินค้าโภคภัณฑ์สามารถแบ่งตามลักษณะสินค้าได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Hard Commodities – สินค้าประเภทวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ไม่สามารถผลิตโดยการเพาะปลูกได้ โดยต้องทำการสกัดหรือขุดขึ้นมา เช่น ทองคำ เงิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ถ่านหิน ฯลฯ
- Soft Commodities – สินค้าทางการเกษตรหรือปศุสัตว์ ที่มนุษย์สามารถผลิตได้โดยการเพาะปลูก เช่น เมล็ดกาแฟ ข้าวสาลี เนื้อสัตว์ น้ำตาล ฯลฯ
ทั้งนี้การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ไม่เพียงแต่ลงทุนผ่านตราสารอนุพันธ์ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวถึงในหัวข้อกองทุนรวมอีกที
ข้อดีของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ คือ ใช้เงินลงทุนน้อย โดยเราสามารถวางเงินประกัน (Margin) เพียง 10-15% ของมูลค่าสัญญาก็สามารถทำการซื้อขายได้แล้ว ไม่ต้องลงทุนด้วยเงินเต็มจำนวนอย่างเช่นการซื้อหุ้นหน้ากระดาน นอกจากนี้ ตราสารอนุพันธ์ยังเปิดโอกาสให้เราสามารถทำกำไรได้ทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง ด้วยการเปิดสถานะซื้อ (Long Position) ในภาวะตลาดขาขึ้น หรือเปิดสถานะขาย (Short Position) ในภาวะตลาดขาลง อย่างไรก็ตาม ตราสารอนุพันธ์เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และจะมีการกำหนดอายุของตราสาร ตั้งแต่ 1 เดือน 3 เดือน ไปจนถึง 6 เดือน หากผู้ลงทุนไม่ปิดสถานะด้วยตนเองก่อนตราสารอนุพันธ์นั้น ๆ จะหมดอายุระบบจะทำการปิดสถานะเอง ดังนั้น ควรศึกษาถึงรายละเอียดของตราสารอนุพันธ์แต่ละตัวให้ดีก่อนลงทุน
คริปโทเคอร์เรนซี
ยังคงเป็นกระแสร้อนแรงอย่างต่อเนื่องสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง “คริปโทเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) หรือ “สกุลเงินดิจิทัล” ซึ่งก็มีหลากหลายเหรียญให้เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็น Ethereum, Binance Coin, Shiba และอื่น ๆ แต่เหรียญที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าจักรวาลของคริปโทเคอร์เรนซีก็คงจะหนีไม่พ้น “บิทคอยน์” (Bitcoin) ที่ล่าสุดราคาไปแตะที่ 2 ล้านต่อเหรียญแล้ว
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีนั่นมีความเสี่ยงสูงมาก หากใครติดตามตลาดคริปโทฯ อยู่ก็จะพอรู้ว่าราคาเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็ว ขึ้นแรงลงแรง ดังนั้นควรลองประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ดูว่าสามารถยอมรับการขาดทุนได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ หากรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนไม่ได้มากสินทรัพย์ประเภทนี้อาจจะไม่เหมาะกับคุณสักเท่าไร
สิ่งที่สำคัญก็คือไม่ควรลงทุนตามกระแส เห็นว่าช่วงนี้กระแสเขามาแรงก็ขอเข้าไปร่วมวงสักหน่อย แบบนี้ไม่ได้เลย ก่อนจะลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็แล้วแต่ไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนในคริปโทฯ ควรศึกษาข้อมูล รายละเอียดของสินทรัพย์นั้น ๆ ก่อนลงทุนเสมอ ซึ่งหากท่านใดศึกษาข้อมูลตลาดคริปโทฯ เป็นอย่างดีแล้ว และเข้าใจในสินทรัพย์ประเภทนี้แล้วละก็ ตลาดคริปโทฯ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสการลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม
กองทุนรวม
กองทุนรวมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก๋า เพราะเราสามารถลงทุนในสินทรัพย์แบบที่เรียกได้ว่าเกือบครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสินทรัพย์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก ตราสารหนี้ ทองคำ หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ สินค้าโภคภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เรียกได้ว่ามัดรวมเกือบทุกสินทรัพย์ไว้ใน “กองทุนรวม” ที่เดียว
นอกจากนี้ กองทุนรวมยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความพิเศษอีกหนึ่งอย่างที่ไม่มีในสินทรัพย์อื่น คือกองทุนรวมมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนคอยบริหารจัดการเงินที่เรานำไปลงทุนในกองทุนนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม การมีผู้จัดการกองทุนก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ลงทุนจะไม่ต้องศึกษาก่อนลงทุน เพราะกองทุนรวมนั้นมีหลายประเภทและแต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนลงทุนในกองทุนรวม ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดนโยบายกองทุน ความเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมด้วย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุนเองนะ
อย่างที่บอกไปว่ากองทุนรวมมีหลายประเภทหลายความเสี่ยง เราลองมาดูกันดีกว่าว่าสามารถแบ่งประเภทกองทุนตามระดับความเสี่ยงได้อย่างไรบ้าง
ประเภทของกองทุนรวม
- ความเสี่ยงระดับที่ 1: กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ ได้แก่ ตั๋วเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี
- ความเสี่ยงระดับที่ 2: กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ ได้แก่ ตั๋วเงิน และตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปีที่ลงทุนในต่างประเทศ
- ความเสี่ยงระดับที่ 3: กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี
- ความเสี่ยงระดับที่ 4: กองทุนรวมตราสารหนี้ ได้แก่ ตราสารหนี้ทั้งที่ออกโดยภาครัฐและเอกชน
- ความเสี่ยงระดับที่ 5: กองทุนรวมผสม ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์อื่น ๆ
- ความเสี่ยงระดับที่ 6: กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ทั้งหุ้นในประเทศและต่างประเทศ
- ความเสี่ยงระดับที่ 7: กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม ยังคงเป็นประเภทกองทุนที่ลงทุนในหุ้นแต่เจาะจงกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่ม Healthcare
- ความเสี่ยงระดับที่ 8: กองทุนรวมทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ
ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมก็ขึ้นอยู่กับว่าเราไปลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนอะไร เช่น ถ้าเป็นกองทุนตราสารหนี้ผลตอบแทนเฉลี่ยก็จะน้อยกว่ากองทุนหุ้นนั่นเอง
สร้างเงินล้านแรกในชีวิตด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 5,000 บาท!
“ล้านแรกหายาก แต่หากมีแล้ว ล้านต่อไปก็หาง่ายขึ้น”
บางคนอาจจะเคยได้ยินโควทอะไรทำนองนี้กันมาบ้าง แต่จะจริงรึเปล่า คงต้องลองพิสูจน์กันดูสักหน่อย เราจึงขอพาทุกคนมารู้จักกับ “แผนการลงทุน 1st Million” ของ Finnomena Funds เป็นแผนการลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เพิ่งเริ่มต้นลงทุน มีความตั้งใจในการสร้างวินัยการออมและลงทุนแบบรายเดือน และต้องการที่จะสร้าง 1 ล้านบาทแรกในชีวิต โดยแผนนี้เริ่มลงทุนเพียงเดือนละ 2,500 บาท (ลงทุนครั้งแรก 5,000 บาท) มีการกระจายพอร์ตการลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้
อ้างอิง
- https://www.1213.or.th/th/serviceunderbot/savings/Pages/savingsbook.aspx
- https://www.bot.or.th/App/FinancialLiteracy/ExchangeRate/02_01_glossary_inflation.pdf
- https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/201-inflation-versus-investment-opportunity
- https://www.setinvestnow.com/th/mutualfund/types-of-mutual-funds
- https://www.setinvestnow.com/th/derivative/what-are-futures-and-options
— planet 46.
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FinnomenaPort” | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299