“DeFi” หรือ “Decentralized Finance” ยังคงเป็นกระแสร้อนแรงที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในวงการคริปโตฯ เนื่องด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น วันนี้เราจึงนำ “เหรียญ DeFi” มาฝากกันทั้งหมด 5 เหรียญ ซึ่งบอกได้เลยว่าแต่ละโปรเจกต์นั้นมีความน่าสนใจมากทีเดียว
หากสนใจเปิดบัญชีคริปโต Zipmex ผ่าน FINNOMENA ดูรายละเอียดได้ที่ 👉 https://finno.me/zipmex-sign-up
Maker (MKR)
“Maker” เป็นแพลตฟอร์มกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทำงานบน Ethereum Blockchain และ MakerDAO ซึ่งเป็นองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organization: DAO) โดยแพลตฟอร์มของ Maker ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้การยืมและการให้ยืมสกุลเงินดิจิทัลทำได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลาง
การกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากราคามีความผันผวนและเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ตาม Maker แก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยการผสานการกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลกับเหรียญ Stablecoin ของตัวเองที่ใช้ชื่อว่าเหรียญ “DAI” ซึ่งอ้างอิงกับมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ทำให้การกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยแพลตฟอร์ม Maker มีเหรียญ “MKR” เป็น Governance Token ซึ่งผู้ถือเหรียญ MKR จะมีสิทธิ์โหวตหรือเสนอนโยบายและความเห็นในการพัฒนาแพลตฟอร์มได้
Maker Protocol ถูกสร้างขึ้นในปี 2015 โดยกลุ่มนักพัฒนาที่นำทีมโดย “Rune Christensen” ซึ่งในปี 2017 ทีม Maker ได้ระดมทุนกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการขายโทเคน “MKR” ให้กับบริษัทร่วมทุน Andreessen Horowitz, Cryptocurrency Polychain Capital และบริษัทร่วมทุนอื่น ๆ เช่น 1Confirmation และได้ระดมทุนเพิ่มอีก 27.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019 จากบริษัทร่วมทุน Paradigm และ Dragonfly Capital Partners เพื่อขยายสู่ตลาดเอเชีย
- Market Cap: 2.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- Total Supply: 1,005,577 MKR
- Total Value Locked (TVL): 17.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Aave (AAVE)
“Aave” เป็นแพลตฟอร์ม Decentralized Finance (DeFi) ที่ทำงานอยู่บน Ethereum Blockchain โดยเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม DeFi ชั้นนำที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถเป็นผู้ให้ยืมหรือผู้ยืมสกุลเงินดิจิทัลได้โดยไม่ผ่านตัวกลางใด ๆ
จุดเด่นของ Aave คือมีสกุลเงินดิจิทัลให้ผู้ใช้งานกู้ยืมได้หลากหลายสกุล ไม่ว่าจะเป็น Ethereum (ETH), Decentraland (MANA) และอื่น ๆ นอกจากนี้ Aave ยังมี “Flash Loans” ที่เป็นระบบการกู้แบบไม่ต้องใช้หลักประกัน ซึ่งการกู้ยืมผ่านระบบนี้สามารถทำได้รวดเร็วด้วยเวลาเพียง 13 วินาทีเท่านั้น
Aave ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยใช้ชื่อ “ETHLend” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Aave ในปี 2018 โดยมี “Stani Kulechov” เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งดำรงตำแหน่ง CEO ของ Aave ในปัจจุบันด้วย
แพลตฟอร์มของ Aave มีเหรียญ “AAVE” เป็นโทเคนดั้งเดิม (Native Token) โดยมีการเสนอขายเหรียญเริ่มต้น (ICO) ไปในเดือนพฤศจิกายน 2017 และระดมทุนได้กว่า 16.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ณ ตอนนั้นยังใช้ชื่อเหรียญว่า LEND) นอกจากนี้เหรียญ AAVE ยังเป็น Governance Token ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือเหรียญในการเสนอความเห็นพัฒนาระบบได้
- Market Cap: 3.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- Total Supply: 16,000,000 AAVE
- Total Value Locked (TVL): 11.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Curve Finance (CRV)
“Curve Finance” เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Exchange: DEX) สร้างขึ้นบน Ethereum Blockchain ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับ Uniswap แต่ Curve Finance จะเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนเหรียญในกลุ่ม Stablecoin เป็นหลัก เช่น เหรียญ Tether (USDT), USD Coin (USDC) และ Binance USD (BUSD) เป็นต้น
Curve Finance เปิดตัวในช่วงเดือนมกราคมปี 2020 โดยมี “Michael Egorov” นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของ Curve Finance คนปัจจุบัน
Curve ใช้ระบบ “Automated Market Maker” (AMM) ซึ่งเป็นโปรโตคอลผู้ดูแลสภาพคล่องการซื้อขายอัตโนมัติที่ช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้ค่าธรรมเนียมต่ำลง ช่วยเสริมสร้างสภาพคล่อง และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แพลตฟอร์ม Curve มีเหรียญ “CRV” เป็นโทเคนดั้งเดิม (Native Token) โดยผู้ใช้งานสามารถนำเหรียญ CRV ไปฝากบนแพลตฟอร์มของ Curve เพื่อทำการ Staking และรับผลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมได้ นอกจากนี้ผู้ถือเหรียญ CRV ยังมีสิทธิ์โหวตหรือเสนอความเห็นในการพัฒนา Curve Finance ได้
- Market Cap: 1.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- Total Supply: 3,303,030,299 CRV
- Total Value Locked (TVL): 10.80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Uniswap (UNI)
“Uniswap” เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Exchange: DEX) ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีเหรียญ “UNI” เป็น Governance Token
ตัวแพลตฟอร์ม Uniswap จะใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บน Ethereum Blockchain ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ Uniswap ยังเป็นผู้บุกเบิกระบบ “Automated Market Maker” (AMM) ซึ่งเป็นโปรโตคอลที่ช่วยให้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลได้โดยไม่ต้องพึ่งตัวกลาง อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มของ Uniswap จะรองรับเฉพาะการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ทำงานบน Ethereum Blockchain เท่านั้น
Uniswap เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนปี 2018 โดยอดีตวิศวกรเครื่องกลของ Siemens ที่ชื่อว่า “Hayden Adams” Uniswap ได้รับเงินทุนจากบริษัทร่วมทุน เช่น Andreessen Horowitz, Paradigm Venture Capital, Union Square Ventures และ ParaFi
ต่อมาได้มีการเปิดตัวเวอร์ชัน 2 (Uniswap V2) ในเดือนพฤษภาคม 2020 และเปิดตัวเวอร์ชัน 3 (Uniswap V3) ในเดือนพฤษภาคม 2021
- Market Cap: 8.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- Total Supply: 1,000,000,000 UNI
- Total Value Locked (TVL): 7.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Compound Finance (COMP)
“Compound” เป็นโปรโตคอลที่เชื่อมโยงผู้ให้กู้และผู้กู้โดยใช้สัญญาอัจฉิรยะ (Smart Contract) ที่ทำงานบน Ethereum Blockchain แบบไม่ผ่านตัวกลาง
ผู้ที่ต้องการกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลต้องทำการวางหลักประกันด้วยเหรียญคริปโตฯ โดยกู้ยืมได้สูงสุดตามจำนวนหลักประกันที่วาง และหากผู้กู้ต้องการหลักประกันคืนจะต้องทำการคืนเหรียญที่ยืมมาพร้อมชำระค่าธรรมเนียมในการกู้
สำหรับผู้ที่ต้องการปล่อยกู้สินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องทำการฝากเหรียญที่ต้องการปล่อยกู้เข้าทำการ Stake หลังจากนั้นระบบจะส่ง cTokens เพื่อใช้แสดงสิทธิ์การ Stake โดย cToken สามารถโอนย้ายหรือแลกเปลี่ยนได้โดยไม่มีข้อจำกัด แต่จะแลกเปลี่ยนได้เฉพาะสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกล็อกไว้อยู่ในโปรโตคอลเท่านั้น โดยผู้ให้กู้จะได้รับดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ซึ่งอยู่ในรูปของเหรียญ COMP ตามจำนวน cTokens ที่อยู่ในกระเป๋าเงิน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ ยิ่งมีสภาพคล่องมาก อัตราดอกเบี้ยก็จะยิ่งต่ำลง
Compound ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดย “Robert Leshner” และ “Geoffrey Hayes” ในปี 2018 Compound ระดมทุนได้ 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทร่วมทุนที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้แก่ Andreessen Horowitz และ Bain Capital Ventures และได้มีการระดมทุนอีก 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019 จากทั้ง 2 บริษัท รวมถึงบริษัทผู้ร่วมทุนรายใหม่อย่าง Paradigm Capital
- Market Cap: 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- Total Supply: 10,000,000 COMP
- Total Value Locked (TVL): 6.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
* หมายเหตุ: ข้อมูล Market Cap, Total Supply และ Total Value Locked (TVL) ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565
อ่านบทความเกี่ยวกับ DeFi เพิ่มเติม
- DeFi คืออะไร? ทำความรู้จักกับโลกการเงิน ที่ไม่ต้องพึ่งธนาคาร
- Yield Farming คืออะไร? หนทางการขุดเหรียญทำกำไรบนโลก DeFi แบบวิถีเกษตรกร
- เริ่มต้นลงทุนกับ DeFi ต้องเตรียมตัวอย่างไร
- ปรับ Mindset ก่อนลงทุนใน DeFi
— planet 46.
หากสนใจเปิดบัญชีคริปโต Zipmex ผ่าน FINNOMENA ดูรายละเอียดได้ที่ 👉 https://finno.me/zipmex-sign-up
อ้างอิง
- https://coinmarketcap.com/view/defi/
- https://www.defipulse.com/
- https://www.weusecoins.com/what-is-maker/
- https://coinmarketcap.com/th/currencies/maker/
- https://www.kraken.com/learn/what-is-aave-lend
- https://www.investopedia.com/uniswap-uni-definition-5217463
- https://www.kraken.com/learn/what-is-compound-comp
- https://www.kraken.com/learn/what-is-curve-crv
- https://www.kraken.com/learn/what-is-maker-mkr
- https://www.wealthsimple.com/en-ca/learn/what-is-maker#what_is_maker
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้