รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) กำลังเป็นกระแสร้อนแรง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลาย ๆ อุตสาหกรรมเริ่มมีการนำประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ

สำหรับบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัลกับกองทุน ASP-DIGIBLOC กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Digital Asset และ Blockchain โดยกองทุนนี้เพิ่งเปิดตัวไปในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แต่ก่อนที่จะไปเจาะลึกถึงกองทุน ASP-DIGIBLOC เรามาทำความเข้าใจกับ Digital Asset กันสักนิดว่ามันคืออะไร และมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับ Blockchain

Digital Asset คืออะไร?

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

“สินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ “Digital Asset” คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงมูลค่าเหมือนกับสินทรัพย์ทั่วไป เพียงแต่ไม่สามารถจับต้องได้ โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมถึงใช้กำหนดสิทธิในการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ และสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลได้โดย “ไม่ต้องผ่านตัวกลาง”

Digital Asset สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) – ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ เช่นเดียวกับสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ไม่สามารถจับต้องได้
  2. โทเคนดิจิทัล (Digital Token) – ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในส่วนแบ่งรายได้หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ หรือสิทธิอื่น ๆ ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน
    • โทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) – ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุน
    • โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) – ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจง

Blockchain คืออะไร?

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

“บล็อกเชน” (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ โดยจะบันทึกข้อมูลลงในกล่อง (Block) และนำมาต่อกันเรื่อย ๆ เหมือนสายโซ่ (Chain) ซึ่งจะไม่สามารถย้อนกลับได้ ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง แก้ไข หรือทำลายข้อมูล

บล็อกเชนจะประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบ “กระจายศูนย์” (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่ปราศจากการควบคุมโดยตัวกลางอย่างธนาคารหรือรัฐบาล ทำให้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนจึงมีความปลอดภัย โปร่งใส และน่าเชื่อถือ

ประโยชน์ของ Blockchain

  • มีความโปร่งใสมากขึ้น
  • มีความปลอดภัยขั้นสูง
  • สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทันที
  • เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว
  • ลดต้นทุนในการทำธุรกรรม

ทำไมต้องลงทุนใน Blockchain ตอนนี้?

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

ในช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยี “Blockchain” ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก มาดูกันว่าทำไมตอนนี้ถึงเป็นโอกาสในการลงทุนใน Blockchain

‘Blockchain’ และ ‘Digital Asset’ การเติบโตที่มาคู่กัน

ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนกำลังอยู่ในช่วงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าธุรกิจบล็อกเชนจะอยู่ที่ 57% ต่อปี ระหว่างปี 2021-2026 และเติบโตที่ 72% ต่อปี ระหว่างปี 2026-2030 พร้อมคาดว่ามูลค่าของธุรกิจบล็อกเชนทั่วโลกจะแตะ 3.16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2030

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

รูปซ้าย: รายได้และมูลค่าตลาดของบริษัท Digital Transformation ที่มีการซื้อขายในตลาดจดทะเบียน (2012-2021)
รูปขวา: คาดการณ์การเติบโตมูลค่าธุรกิจ Blockchain (2021-2030)
ที่มา: VanEck และ ResearchGate

หลายประเทศทั่วโลกเริ่มสร้าง CBDC

“CBDC” เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเช่นเดียวกับสกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency)

CBDC แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ CBDC สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) และ CBDC สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC)

ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาและสร้าง CBDC ในระดับภาคประชาชน (Retail CBDC) เป็นอันดับแรก ๆ ของโลก โดยใช้ชื่อว่า “DCEP” หรือรู้จักกันในชื่อ “หยวนดิจิทัล” เพื่อลดบทบาทของเงินสดและก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างเต็มรูปแบบ

ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ทำการศึกษา พัฒนา และทดสอบ CBDC มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ก่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันภายใต้ชื่อ “โครงการอินทนนท์”

ประโยชน์ของ CBDC ต่อสินทรัพย์ดิจิทัล

  • ปรับปรุงระบบการชำระเงินแบบเดิม ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของโลกถูกพัฒนาไปอีกระดับ
  • สร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ
  • ลดการใช้ธนบัตรหรือเหรียญที่จับต้องได้ในปัจจุบัน เปลี่ยนโลกสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
  • ประชาชนหันมาใช้สกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกสบาย ไม่พึ่งพาตัวกลาง และไม่ต้องผูกติดกับบัญชีใด ๆ

โอกาสเติบโตของ Blockchain ยังมีอีกมาก 

หลายคนอาจจะคิดว่าบล็อกเชนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์แต่ในอุตสาหกรรมการเงินเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมายนอกเหนือจากอุตสาหกรรมการเงินที่ได้นำประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจเช่นเดียวกัน

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

Total Addressable Market (TAM) ของ Blockchain
ที่มา: Cosimo Ventures, NECTEC, DGA

หากดูจาก Total Addressable Market (TAM) ที่เป็นข้อมูลแสดงขนาดของตลาดที่สามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน จะเห็นได้ว่าภาครัฐ และธุรกิจ Supply Chain เป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุดอยู่ที่ 16% รองลงมาเป็น Healthcare, E-Commerce และ Real Estate ในสัดส่วน 11%

  • ภาครัฐ: ใช้บล็อกเชนในการติดตามการติดตั้งอุปกรณ์ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เซียร์ราลีโอน ที่นำบล็อกเชนมาใช้ในการเลือกตั้งด้วย
  • ภาค Supply Chain: นำระบบบล็อกเชนมาใช้ติดตามวัตถุดิบหรือสินค้าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งปัจจุบันร้านค้าปลีกอย่าง ‘Walmart’ ใช้บล็อกเชนในการตรวจสอบอาหาร โดยสามารถลดเวลาตรวจสอบได้จาก 6 วันเหลือเพียง 2 วินาที
  • ภาค Healthcare: นำระบบบล็อกเชนมาใช้ในการเก็บข้อมูลของคนไข้ เช่น ประวัติข้อมูลการรักษา โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ทำให้แพทย์สามารถเข้าข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษาคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว
  • ภาค E-Commerce: ใช้ในการซื้อสินค้าโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง รวมถึงนำมาใช้ในการบริหารจัดการขนส่งสินค้า โดยผู้ซื้อสามารถเห็นข้อมูลการจัดส่งในทุกขั้นตอน
  • ภาคอสังหาริมทรัพย์: ประเทศมอลต้า อังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ในการเก็บข้อมูลแบ่งการเป็นเจ้าของที่ดินแทนการถือโฉนด

อยากลงทุนใน Digital Asset และ Blockchain ไม่จำเป็นต้องซื้อคริปโตฯ เสมอไป!

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

หากคิดถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เราคงต้องนึกถึงการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเช่นเหรียญราชาแห่งโลกคริปโตฯ อย่าง “Bitcoin” เป็นอันดับแรกแน่ ๆ ซึ่งบางคนอาจจะอยากลงทุนตามแนวโน้มการเติบโตของ Digital Asset และ Blockchain แต่ยังคงกังวลเรื่องความผันผวนด้านราคาอยู่หากลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลโดยตรง

อย่างไรก็ตาม เราสามารถลงทุนทางอ้อมด้วยการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ถือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนมาก หรือนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ แต่การลงทุนในหุ้นรายตัวก็อาจมีความเสี่ยงสูงเช่นกันหากไม่กระจายการลงทุน อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจคือการลงทุนใน Digital Asset และ Blockchain ผ่าน “ETF” ที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล มีการกระจายการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลสัดส่วนที่เหมาะสม ให้เราสามารถลงทุนได้ในระยะยาว

จุดเด่นของการลงทุนใน Digital Asset & Blockchain ETF

เป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยง

กองทุน ETF สามารถถือครองได้มากกว่าหนึ่งสินทรัพย์ โดยมีเป้าหมายลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลและเทคโนโลยี Blockchain ทำให้นักลงทุนมีโอกาสลดความเสี่ยงและกระจายพอร์ตการลงทุน 

ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัล

การลงทุนในบริษัทที่ถือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนสูง หรือใช้เทคโนโลยี Blockchain เมื่อความต้องการถือครองสกุลเงินดิจิทัลสูงขึ้น จะทำให้มูลค่าบริษัทและความต้องการในเทคโนโลยี Blockchain สูงตามไปด้วย ซึ่งการเติบโตของราคาหุ้นจะล้อไปกับราคาสกุลเงินดิจิทัล

มีความง่ายและสะดวกสบายกว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลโดยตรง

สามารถซื้อขาย และถือหน่วยลงทุน ETF ผ่านการใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบดั้งเดิม (Traditional Brokerage Account) ไม่จำเป็นต้องใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งรหัสผ่านอาจสูญหาย หรือถูกขโมยข้อมูลได้

กองทุน Digital Asset & Blockchain ETF ถูกกำกับโดยรัฐบาล

ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการฉ้อโกง รวมถึงการปั่นราคาโดย Fake news

ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัลไปกับกองทุน ASP-DIGIBLOC

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

กองทุน ASP-DIGIBLOC หรือ Asset Plus Digital Blockchain Fund จาก บลจ.แอสเซทพลัส (ASSETFUND) มีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets Companies) และ/หรือบริษัทที่มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจหรือมีความเกี่ยวข้องกับระบบสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เช่น เพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดต้นทุนในการดำเนินงาน เป็นต้น และ/หรือลงทุนในหน่วย CIS และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) ที่มีการลงทุนในหุ้นตามลักษณะดังกล่าวข้างต้น โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 6

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุน: มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)

ประมาณสัดส่วนการลงทุนของกองทุน ASP-DIGIBLOC

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

ประมาณสัดส่วนการลงทุนของ ASP-DIGIBLOC
ที่มา: ASSETFUND

1. กองทุน VanEck Digital Transformation ETF (DAPP) (สัดส่วน 75%)

มีนโยบายในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับ ดัชนี MVIS Global Digital Assets Equity Index ซึ่งดัชนีมีวัตถุประสงค์ในการทำ ผลการดำเนินงานตามบริษัทที่เกี่ยวข้องกับระบบสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets)

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุน: มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนี (Passive Management / Index Tracking)

7 ธีมหลักที่กองทุน DAPP ลงทุน

  • Payment Gateways – บริษัทผู้ให้บริการด้านการชำระเงินบนเว็บไซต์ แพลตฟอร์มการซื้อขาย รวมถึงร้านค้าแบบดั้งเดิมด้วยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บริษัท Block และ GreenBox POS
  • Hardware – บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับการขุดหรือจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บริษัท Canaan และ Ebang
  • Crypto Miners – บริษัทที่ทำหน้าที่ประมวลผลธุรกรรมระหว่างผู้ใช้บัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์ หรือนักขุด เช่น บริษัท Marathon, Riot Blockchain และ Bitfarm
  • Exchanges – บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บริษัท Coinbase และ Voyager Digital
  • Crypto Holding and Trading – บริษัทที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลใน Balance Sheet หรือมีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนมาก เช่น บริษัท Microstrategy และ Coinshares
  • Software and Value Added Services – บริษัทที่สร้างซอฟต์แวร์หรืออำนวยความสะดวกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บริษัท Northern Data
  • Banking & Asset Management – บริษัทที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างระบบการให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิมและระบบการให้บริการสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลยุคใหม่ เช่น บริษัท Silvergate และ BC Technology Group

จุดเด่นกองทุน DAPP

  • ลงทุนในบริษัททั่วโลกที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เกินกว่า 50% หรือมีศักยภาพในอนาคตที่สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในสัดส่วนเกินกว่า 50%
  • กระจายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งด้านธุรกิจขุดเหมืองคริปโตฯ ด้านการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ธนาคารตัวกลางด้านสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงธุรกิจซอฟต์แวร์อื่น ๆ
  • มี Exposure ทางอ้อมใน Cryptocurrency ผ่านการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรม แต่มีความผันผวนด้านราคาต่ำกว่าการลงทุนใน Cryptocurrency โดยตรง

2. ลงทุนตรงในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain และ Digital Asset (สัดส่วน 25%)

สัดส่วนอุตสาหกรรมของกองทุน ASP-DIGIBLOC

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

Sector Weighting ของ VanEck Digital Transformation ETF (ข้อมูล ณ วันที่ 31/12/2023)
ที่มา: https://www.vaneck.com/us/en/investments/digital-transformation-etf-dapp/

กองทุน VanEck Digital Transformation ETF ซึ่งเป็นกองทุนที่ ASP-DIGIBLOC มีสัดส่วนลงทุนมากที่สุด เน้นลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) โดยให้น้ำหนักการลงทุนที่ 74.51% และอุตสาหกรรมการเงิน (Financials) มีสัดส่วนการลงทุนรองลงมา โดยให้น้ำหนักที่ 25.56% ของพอร์ตการลงทุน

รีวิวหุ้นที่กองทุน ASP-DIGIBLOC ลงทุน

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

Top 10 Holdings ของ VanEck Digital Transformation ETF (ข้อมูล ณ วันที่ 31/12/2023)
ที่มา: https://www.vaneck.com/us/en/investments/digital-transformation-etf-dapp-fact-sheet.pdf

  • Coinbase (8.03%) – หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญสกุลเงินดิจิทัลชั้นนำในสหรัฐฯ รองรับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลกว่า 90 สกุล
  • BLOCK (7.12%) – เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Square” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “BLOCK” ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2021 เนื่องจากบริษัทมีความตั้งใจที่จะมุ่งเน้นธุรกิจในด้าน Blockchain มากขึ้น เป้าหมายหลักของบริษัทคือการสร้างเครื่องมือเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงเศรษฐกิจของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชน
  • MicroStrategy (6.05%) – บริษัทเหมืองขุดบิตคอยน์ (Mining) ขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการขุด (Hash Rate) เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตบิตคอยน์
  • Riot Blockchain (4.89%) – บริษัทเหมืองขุดคริปโตฯ (Mining) สัญชาติอเมริกา มุ่งเน้นไปที่การขุดบิตคอยน์ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain

ผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน ASP-DIGIBLOC

รีวิวกองทุน ASP-DIGIBLOC: ตะลุยมิติใหม่ของการลงทุนแห่งยุคดิจิทัล

** ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต **

ผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน ASP-DIGIBLOC (ข้อมูล ณ วันที่ 29/01/2024)
ที่มา: https://www.finnomena.com/fund/ASP-DIGIBLOC/performance

ด้านผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน ASP-DIGIBLOC ก็ทำได้ดีเยี่ยม โดยผลตอบแทนในทุกช่วงเวลาตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เป็นบวกทั้งหมด นอกจากนี้กองทุน ASP-DIGIBLOC ยังท็อปฟอร์มมากในปี 2023 เพราะเป็นกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดในปี 2023 โดยทำผลตอบแทนตลอดปี 2023 ไปได้ถึง 184.49%

ความเสี่ยงของกองทุน ASP-DIGIBLOC

กองทุน ASP-DIGIBLOC จัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงระดับ 6 โดยมีปัจจัยความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน: มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน 
  • ความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัว: มีการลงทุนกระจุกตัวในประเทศสหรัฐฯ  และหมวดอุตสาหกรรม Information Technologyและ Financials

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงได้ด้วยการจัดพอร์ตการลงทุน โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดพอร์ตการลงทุนจากฟินโนมีนาได้ที่ https://www.finnomena.com/port/

ค่าธรรมเนียมของกองทุน ASP-DIGIBLOC

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการ: 1.61%
  • ค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end Fee) และ Switching-in: 1.25%
  • ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวม: 3.05%

เงินลงทุนขั้นต่ำในการลงทุน ASP-DIGIBLOC

  • มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรก: 1,000 บาท
  • มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งถัดไป: 1,000 บาท

กองทุน ASP-DIGIBLOC เหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่สนใจหรือต้องการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับระบบสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) รวมถึงบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) 
  • ผู้ที่ต้องการกระจายพอร์ตการลงทุนไปยังต่างประเทศ
  • ผู้ที่สนใจลงทุนใน Cryptocurrency แต่ไม่อยากลงทุนโดยตรงเนื่องจากกังวลเรื่องความผันผวนด้านราคา
  • ผู้ที่สามารถลงทุนในระยะกลางถึงยาวได้ และสามารถรับความเสี่ยงได้สูงเพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

 

สำหรับใครที่อยากฟังคุณแบงค์และคุณปั๊ปรีวิวและวิเคราะห์กองทุน ASP-DIGIBLOC ในรายการ Morning Brief เพิ่มเติมก็สามารถกดรับชมคลิปด้านล่างได้เลย

ส่วนใครที่อยากลงทุนในกองทุน ASP-DIGIBLOC แล้วยังได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีแถมไปด้วย ทาง ASSET PLUS เขาก็มีกองทุน ASP-DIGIBLOC-SSF และ ASP-DIGIBLOCRMF ให้เลือกลงทุนเช่นกัน

— planet 46. 

อยากลงทุนกองทุน ASP-DIGIBLOC แต่ไม่รู้ว่าจะลงทุนในสัดส่วนเท่าไรดี? รับบริการที่ปรึกษาการลงทุนส่วนตัวจาก FINNOMENA ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500,000 บาทเท่านั้น
👉 ลงทะเบียน คลิก >>> https://finno.me/finnomena-x-service

อ้างอิง


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”

TSF2024