ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

‘ประเทศเกาหลีใต้’ ถือเป็นอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยจัดเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง ส่งออกสินค้าและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลทั่วโลก บทความนี้จึงขอชวนทุกคนมาดู 8 หุ้น (บริษัท) เกาหลีใต้ ที่คัดมาเน้น ๆ แล้วว่าแต่ละบริษัทมีความน่าสนใจและเป็นยักษ์ใหญ่แห่งแดนโสมขาวจริง ๆ

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

8 บริษัทเกาหลียักษ์ใหญ่แห่งแดนโสมขาว

Samsung

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

หากลองสำรวจไปรอบบ้านของเรา เชื่อว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านหลาย ๆ ชิ้นก็คงต้องเป็นยี่ห้อ ‘Samsung’ อย่างแน่นอน

Samsung หรือ ‘ซัมซุง’ (คนไทยเรียก ‘ซัมซุง’ แต่คนเกาหลีเรียก ‘ซัมซอง’) เป็นบริษัทโฮลดิ้งผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในเกาหลีใต้ หรือที่คนเกาหลีเรียกว่าตระกูล ‘แชบอล’ ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ Samsung มีอิทธิพลกับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ถึงขนาดที่คิดเป็นสัดส่วน GDP เกาหลีใต้ถึง 13.1% ในปี 2018 เลยทีเดียว ธุรกิจย่อยภายใต้ Samsung Group มีมากมาย ได้แก่ 

  • Samsung Electronics บริษัทเรือธงของ Samsung Group ผู้นำในอุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ กล้อง ฯลฯ จัดจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Apple, BestBuy และ Deutsche Telekom เป็นต้น Samsung Electronics แสดงความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมด้วยการเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก และยังครองอันดับหนึ่งสำหรับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่สุดในโลกด้วย 
  • Samsung Biologics – บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพเป็นหลัก บริษัทในฐานะที่เป็นองค์กรการผลิตตามสัญญา (CMO) จะเน้นการพัฒนาและผลิตยาแอนติบอดีที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โรคภูมิต้านตนเอง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรัง โดยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • Samsung Life Insurance – บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านประกันชีวิตเป็นหลัก รวมถึงประกันสุขภาพ และประกันออมทรัพย์ เช่น ประกันบำเหน็จบำนาญ นอกจากนี้ยังให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ เช่น สินเชื่อ เงินฝาก หลักทรัพย์ เป็นต้น โดยเป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้

นอกจากบริษัทที่กล่าวไปข้างต้นยังมี ‘Samsung Engineering’ บริษัทก่อสร้างและบริหารโครงการ (EPC&PM) ที่ให้บริการด้านวิศวกรรมแบบครบวงจร, ‘Samsung Fire & Marine Insurance’ ดำเนินธุรกิจด้านประกันวินาศภัยและทรัพย์สิน, ‘Samsung Heavy Industries’ หนึ่งในบริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก, ‘Samsung SDI’ ผู้ผลิตแบตเตอรี่และวัสดุอิเล็กทรอนิกส์, ‘Samsung SDS’ ผู้ให้บริการด้านระบบไอทีที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้, ‘Hotel Shilla’ ดำเนินการส่วนงานโรงแรมและร้านค้าปลอดภาษี, ‘Samsung Medical Center’ (SMC) ศูนย์การแพทย์ซัมซุง ประกอบด้วยโรงพยาบาลในเครือ 3 แห่งและศูนย์วิจัยอีก 1 แห่ง

SK Hynix

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มากมาย 

ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเป็นหลัก ทั้งการทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งสิ้น เช่น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค เป็นต้น

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีบทบาทสำคัญในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 20% ในปี 2020 นับเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ ซึ่งนอกจาก Samsung ที่เรารู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิตชิปรายใหญ่แล้วก็ยังมี ‘SK Hynix’ ที่ไม่น้อยหน้าเพราะ เป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจาก Samsung Electronics เพียงบริษัทเดียว ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 29% ในตลาดชิปหน่วยความจำ และครองอับดับสามสำหรับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีลูกค้ารายใหญ่ ได้แก่ Microsoft, Apple, Asus, Dell, MSI, HP และ Hewlett Packard Enterprise

บริการของ SK Hynix เน้นไปที่การผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทหน่วยความจำเข้าถึงโดยสุ่มแบบพลวัต (DRAM) และหน่วยความจำแฟลช (Flash Memory) หน่วยความจำที่ผลิตโดย SK Hynix ถูกใช้ในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องเล่น DVD, โทรศัพท์มือถือ, กล่องรับสัญญาณ, อุปกรณ์เครือข่าย, ฮาร์ดดิสก์ ฯลฯ

ซึ่งในปี 2020 ที่ผ่านมา SK Hynix ยังขยายโอกาสทางธุรกิจในการเข้าซื้อธุรกิจ NAND ของ ‘Intel’ ด้วยมูลค่ากว่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทสำหรับตลาดหน่วยความจำ NAND ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

Naver Corporation

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

หากเราสงสัยหรืออยากรู้อะไร เราก็คงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเปิด ‘Google’ เพื่อหาข้อมูล แต่คนเกาหลีเขาไม่ทำแบบนั้น เพราะเขาไม่ใช้ Google กัน (อ่าว แล้วเขาใช้อะไรหาข้อมูลละ?) พวกเขาใช้ ‘Naver’ ซึ่งเป็นเว็บไซต์พอร์ทัล (Web Portal) แห่งแรกของเกาหลีใต้ ที่พัฒนาและใช้เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ของตัวเอง ฟังก์ชันของ Naver คือสามารถใช้ในการหาข้อมูล รวมถึงการอัปเดตข่าวสาร หารูปภาพ ฯลฯ โดยปัจจุบัน Naver ได้เป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในกลุ่มเว็บไซต์พอร์ทัลของประเทศเกาหลีใต้ไปแล้ว เรียกได้ว่าคนเกาหลีทำคนเกาหลีใช้ที่แท้

Naver ยังขยายฐานสู่การบริการอื่น ๆ แบบครบครัน เช่น ‘Junior Naver’ เว็บไซต์พอร์ทัลสำหรับเด็กแห่งเดียวที่ให้บริการในเกาหลีใต้ ‘Naver Cafe’ บริการที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสร้างชุมชนออนไลน์เพื่อใช้แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน ‘Naver Webtoon’ แพลตฟอร์มเว็บคอมมิกที่ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงเว็บตูนที่หลากหลายจากศิลปินชื่อดังของเกาหลี โดยมีเว็บตูนจาก Naver Webtoon หลายเรื่องที่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ด้วย ‘Naver TV’ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเว็บดราม่าที่สร้างโดย Naver ‘Naver Pay’ บริการชำระเงินที่ให้บริการในร้านค้ากว่า 97,000 แห่งทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ 

นอกจากนี้ Naver ยังเป็นบริษัทแม่ของแอปพลิเคชันแชทที่เราใช้กันทุกวันอย่าง ‘LINE’ อีกด้วย หากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ แอปฯ LINE บริหารโดย Line Corporation ที่มี Naver Corporation เป็นเจ้าของอีกที เชื่อว่าหลายคนคิดมาตลอดว่า LINE เป็นของญี่ปุ่นเพราะคนญี่ปุ่นก็ใช้แอปฯ นี้แชทกันเป็นหลักเหมือนกับคนไทย แม้ว่า LINE จะเป็นของเกาหลีแต่คนเกาหลีเขาไม่ใช่ LINE ไว้แชทกันนะ ส่วนจะใช้แอปฯ อะไรอ่านต่อในข้อมูลบริษัทถัดไปได้เลย

Coupang

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

ในยุคสังคมดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือพฤติกรรมการบริโภค แพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ หรือ ‘E-Commerce’ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริโภคของมนุษย์ 

เกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตลาด E-commerce ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 92% ของจำนวนประชากร จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจ E-commerce จะครองตำแหน่งที่แข็งแกร่งในเกาหลีใต้ และแน่นอนว่าแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยสนับสนุนอย่างการระบาดของ COVID-19 

‘Coupang’ เป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ที่ใหญ่จนถูกขนานนามเป็น “Amazon แห่งเกาหลีใต้” โดยเน้นการสร้างศูนย์กระจายสินค้าไปทั่วประเทศ ให้ครอบคลุมต่อความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด

จุดแข็งที่ทำให้ Coupang ก้าวมาเป็น E-Commerce อันดับหนึ่งของเกาหลีใต้คือบริการขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว ส่งถึงภายในวันทำการหรือวันทำการถัดไป ด้วยความสามารถในการส่งสินค้ามากกว่าวันละ 5 ล้านรายการ พร้อมมีเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล

บริการของ Coupang มีทั้งแบบฟรีและแบบเสียค่าสมาชิกรายเดือน 4,990 วอน (ประมาณ 138 บาท) ความแตกต่างคือแบบเสียค่าสมาชิกรายเดือนจะเพิ่มความพิเศษเข้ามา เช่น ส่วนลดสินค้า ส่งคืนสินค้าฟรีภายใน 30 วัน การรันตีส่งถึงมือผู้รับภายในหนึ่งวัน ฯลฯ นอกจากนี้ Coupang ยังมีบริการขนส่งอาหารสดอย่าง ‘Rocket Fresh’ ที่มีอาหารพร้อมให้บริการกว่า 8,500 ชนิด ขนส่งภายในข้ามคืน ให้ลูกค้าทุกท่านได้รับอาหารที่สดใหม่ทุกวัน

Hyundai Motor

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

‘Hyundai’ เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อเรียกว่า ‘ฮุนได’ (แต่จริง ๆ แล้วคนเกาหลีเขาเรียกรถยี่ห้อนี้ว่า ‘ฮยอนแด’ นะ) 

หากใครเคยไปเกาหลีหรือเป็นคอซีรีส์เกาหลีก็คงจะเห็นว่าส่วนใหญ่รถยนต์ที่คนเกาหลีใช้กันจะมีแต่ Hyundai ทั้งนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่จะได้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดไปด้วยสัดส่วนถึง 49.0% ในประเทศเกาหลีใต้ Hyundai Group ถือเป็นกลุ่มแชบอล (ชื่อเรียกกลุ่มบริษัทที่ทรงอิทธิพลทางการค้าในเกาหลีใต้) ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก Samsung Group เพียงกลุ่มเดียว โดยในปี 2018 รายได้ของ Hyundai คิดเป็น 5.8% ของ GDP เกาหลีใต้เลยทีเดียว ซึ่งนอกจากเกาหลีใต้แล้ว Hyundai ยังบุกตลาดรถยนต์กว่า 200 ประเทศทั่วโลกหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ Hyundai ยังเป็นผู้ถือหุ้นใน ‘Kia Corporation’ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของเกาหลีใต้ ซึ่งนอกจาก Kai แล้ว Hyundai Group ยังเป็นเจ้าของแบรนด์รถหรูอย่าง ‘Genesis Motor’ และรถยนต์ไฟฟ้าน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปในปี 2020 อย่าง ‘IONIQ’ ด้วย

และในเดือนมิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา Hyundai ได้ประกาศเข้าซื้อ ‘Boston Dynamics’ ผู้ผลิตหุ่นยนต์ระดับโลกด้วยมูลค่ากว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยถือหุ้นในสัดส่วน 80% เพื่อขยายธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านการเดินทางและขนส่งอัจริยะ (Smart Mobility)

Kakao Corporation

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

จากที่ทิ้งท้ายไว้ตอนกล่าวถึง Naver ว่าคนเกาหลีเขาไม่ใช้ LINE แอปแชทที่เราคุ้นเคยแชทคุยกัน หลายคนยังคงคาใจว่าแล้วคนเกาหลีเขาใช้แอปฯ อะไรกัน ตอนนี้ถึงเวลาเฉลยแล้ว แอปที่พวกเขาใช้แชทคุยกันเป็นหลักคือ ‘KakaoTalk’ นั่นเอง หลาย ๆ คนคงคุ้นหูหรือเคยใช้แอป แชทนี้มาบ้าง สำหรับบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง KakaoTalk ก็คือ ‘Kakao Corp’ ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่เพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 12 ปีเท่านั้น (บริษัทก่อตั้งในปี 2010 ภายใต้ชื่อ Kakao Inc.) แต่ก็สามารถขึ้นมาเป็นบริษัทแนวหน้าของเกาหลีได้ด้วยบริการหลากหลายที่ดำเนินการภายใต้ธุรกิจในเครือ

ด้านเว็บไซต์พอร์ทัล (Web Portal) Kakao ในฐานะที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีก็ไม่น้อยหน้า Naver เช่นกัน เพราะมี ‘Daum’ เว็บไซต์พอร์ทัลที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Kakao โดยมีผู้ใช้งานต่อเดือนมากเป็นอันดับสองรองจาก Naver เลยทีเดียว

นอกจากแอปแชทสุดฮิตอย่าง KakaoTalk และ Daum ที่เป็นเว็บไซต์พอร์ทัลแล้ว Kakao ยังให้บริการด้านอื่น ๆ ที่หลากหลายและครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเงินที่มี ‘Kakao Pay’ บริการทางการเงิน ให้บริการจ่ายเงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน KakaoTalk ใครที่คิดภาพไม่ออกก็ให้นึกถึง LINE Pay ที่เราใช้กันผ่านแอปฯ LINE โดยล่าสุดก็เพิ่งได้มีการนำหุ้นเข้าตลาดหุ้นเกาหลีไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมขยายฐานสู่การพัฒนาแอปซื้อขายหุ้นออนไลน์ด้วย นอกจากนี้ยังมี ‘KakaoBank’ ธนาคารดิจิทัลที่ให้บริการทางการเงินแบบครบครันในรูปแบบออนไลน์เพียว ๆ ไม่มีสาขาธนาคาร โดยมีผู้ใช้บริการมากกว่า 17 ล้านรายแล้ว (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2564)

ด้านคมนาคมขนส่งมี ‘Kakao T’ แอปพลิเคชันบริการเรียกรถแท็กซี่ คล้าย ๆ กับ GrabTaxi เพียงแต่ Kakao T เปิดให้บริการแค่ในเกาหลีใต้เท่านั้น ‘KakaoBus’ แอปพลิเคชันดูข้อมูลรถบัสเกาหลีแบบเรียลไทม์ ‘KakaoMetro’ แอปพลิเคชันรวมสายรถไฟฟ้าทั่วเกาหลี สามารถเลือกจุดต้นทางและปลายทางเพื่อคำนวณราคาและเวลาถึงที่หมายได้

สำหรับด้านความบันเทิงมี ‘Kakao Entertainment’ ที่ดำเนินการด้านธุรกิจสื่อบันเทิงและสิ่งพิมพ์ ที่มีค่ายต้นสังกัดที่อยู่ภายใต้การดูแลมากมาย หนึ่งในนั้นมีนักร้องหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเกาหลีใต้อย่าง IU อยู่ด้วย ‘Melon’ แอปพลิเคชันสตรีมเพลงเบอร์หนึ่งของเกาหลี (คล้าย ๆ กับ Spotify) ใครเป็นแฟนคลับ K-POP ก็คงต้องเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของแอปนี้ เพราะส่วนใหญ่คนเกาหลีจะใช้แอปนี้ฟังเพลงเป็นหลัก ‘Kakao Games’ พัฒนาและเผยแพร่เกมบนพีซี มือถือ รวมถึงแพลตฟอร์ม VR 

ด้านอื่น ๆ มี ‘KakaoFriends’ เป็นคาแรคเตอร์การ์ตูนสุดน่ารักที่ถูกนำมาใช้ในสินค้าและบริการในเครือของ Kakao มากมาย

KB Financial Group

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

‘KB Financial Group’ เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ให้บริการทางการเงินผ่านบริษัทชั้นนำในเครือ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย และครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้บริการทั่วทั้งเกาหลีใต้ โดยมี ‘KB Kookmin Bank’ ที่เป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้อยู่ภายใต้การดูแลของ KB Financial Group ด้วย

ธุรกิจย่อยในเครือ KB Financial Group ประกอบไปด้วย 13 ส่วนงาน ได้แก่

  • Kookmin Bank ธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าสถาบัน
  • KB Securities บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย ทั้งหุ้น กองทุนรวม อนุพันธ์ ฯลฯ
  • KB Insurance ให้บริการผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ทั้งประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันอุบัติเหตุ ประกันการเดินทาง สำหรับลูกค้าบุคคลและลูกค้าสถาบัน
  • KB Kookmin Card ให้บริการด้านบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
  • Prudential Life Insurance Korea ให้บริการผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันสุขภาพเป็นหลัก 
  • KB Asset Management บริษัทบริหารสินทรัพย์ นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย ครอบคลุมความต้องการด้านการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยไปจนถึงนักลงทุนสถาบัน
  • KB Capital ให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ทั้งสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และบริการสินเชื่อสำหรับองค์กร
  • KB Life Insurance บริษัทประกันชีวิต นำเสนอและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการออมและผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ครอบครัวชาวเกาหลี
  • KB Real Estate Trust บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การบริหารสินทรัพย์ และกองทุน REITs
  • KB Savings Bank
  • KB Investment ให้บริการด้านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และกองทุน Private Equity (กองทุนหุ้นนอกตลาด)
  • KB Data Systems ให้บริการด้านระบบไอทีสำหรับลูกค้าในอุตสาหกรรมการเงิน
  • KB Credit Information ให้บริการทวงถามหนี้ รายงานข้อมูลเครดิต 

HYBE Corporation

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

ถ้าพูดถึงเกาหลีแล้ว นอกจากซีรีส์เกาหลีอีกอย่างที่ต้องนึกถึงคงต้องเป็นเพลง K-POP หรือนักร้องเกาหลีกันแน่ ๆ สำหรับ ‘HYBE Corporation’ บางคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชื่อกันสักเท่าไร แต่ถ้าบอกว่า ‘Big Hit Entertainment’ ก็คงต้องร้องอ๋อกันแน่ ๆ เพราะบริษัทนี้เป็นต้นสังกัดของศิลปิน K-POP ชื่อดังมากมาย หนึ่งในนั้นคือวง ‘BTS’ วงบอยแบนด์ระดับโลกนั่นเอง แล้วชื่อ HYBE (ไฮบ์) นี้มาจากไหนกันละ? แล้ว Bighit หายไปไหน? เหตุผลหลัก ๆ ที่มีการเปลี่ยนชื่อก็คือบริษัทต้องการรีแบรนด์เพื่อขยายฐานสู่การเป็นผู้นำด้านการบันเทิงและแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ระดับโลก โดยมีความต้องการเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมเพลงภายใต้พันธกิจ “We believe in music” นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจสู่ด้านการท่องเที่ยว และด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย โดยได้มีการรีแบรนด์ไปในช่วงเดือนมีนาคมปี 2021 ที่ผ่านมา

HYBE ประกอบด้วย 3 ส่วนงานที่ให้บริการด้านความบันเทิงครบครัน ได้แก่ Hybe Labels, Hybe Solution และ Hybe Platform 

สำหรับส่วนงานแรก ‘Hybe Labels’ เป็นแผนกด้านการบันเทิงและผลิตเพลง ที่ประกอบไปด้วยบริษัทย่อยที่เป็นค่ายเพลงของศิลปิน K-POP ชื่อดังมากมาย

  • Bighit Music ศิลปินในค่าย ได้แก่ BTS, TXT, Leehyun
  • Belief Lab ศิลปินในค่าย ได้แก่ Enhypen
  • Pledis Entertainment ศิลปินในค่าย ได้แก่ NANA, Bumzu, NU’EST, SEVENTEEN, YEHANA, SUNGYEON และ fromis_9 
  • KOC Entertainment ศิลปินในค่าย ได้แก่ Zico, Dvwn
  • Source Music
  • ADOR

ส่วนงานที่สอง ‘Hybe Solution’ ประกอบด้วยหน่วยงานเฉพาะสำหรับคอนเทนต์วิดีโอ ทรัพย์สินทางปัญญา การเรียนรู้ และเกม ซึ่งได้แก่ HYBE Edu, Superb และส่วนงานสุดท้าย ‘Hybe Platform’ เป็นแผนกเทคโนโลยี จัดการเกี่ยวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและความบันเทิงอย่าง ‘Weverse’ ประกอบด้วย Weverse Company ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย ได้แก่ Weverse และ Weverse Shop

ลงทุนหุ้นเกาหลีผ่านกองทุนรวม

กองทุนหุ้นเกาหลีในไทยมีทั้งหมด 3 กองทุนด้วยกัน ได้แก่ SCBKEQTG, PRINCIPAL KEQ และ PRINCIPAL KOS ซึ่งทั้ง 3 กองนี้ลงทุนใน iShares MSCI South Korea ETF เป็นกองทุนหลัก (Master Fund) เราจึงขอหยิบกองทุนหลักมาพูดถึงก่อนแล้วไปเจาะรายละเอียดของทั้ง 3 กองทุนอีกที

สัดส่วนอุตสาหกรรมหลักของ iShares MSCI South Korea ETF

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

Exposure Breakdowns ของ iShares MSCI South Korea ETF (ข้อมูล ณ วันที่ 07/02/2022)
ที่มา: https://www.ishares.com/us/products/239681/ishares-msci-south-korea-capped-etf 

สำหรับสัดส่วนอุตสาหกรรมหลักของ iShares MSCI South Korea ETF จะเน้นให้น้ำหนักไปที่หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ในสัดส่วน 37.17% และหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) ให้น้ำหนักรองลงมาในสัดส่วน 11.30%

สัดส้วนหุ้นหลักของ iShares MSCI South Korea ETF

ส่อง 8 'หุ้นเกาหลี' ยักษ์ใหญ่ แห่งแดนโสมขาว

Top 10 Holdings ของ iShares MSCI South Korea ETF (ข้อมูล ณ วันที่ 07/02/2022)
ที่มา: https://www.ishares.com/us/products/239681/ishares-msci-south-korea-capped-etf 

SCBKEQTG

▶︎ SCBKEQTG, SCBKEQTGE, SCBKEQTGP

นโยบายการลงทุน: ลงทุนในกองทุน iShares MSCI South Korea ETF เป็นกองทุนหลัก (Master Fund) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ โดยกองทุน SCBKEQTG จัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6

กองทุนหลักลงทุนในหุ้นของประเทศเกาหลีใต้ เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนกองทุนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนให้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนี MSCI Korea 25/50 โดยกองทุนหลักจะลงทุนในหุ้นของประเทศเกาหลีใต้เป็นสกุลเงินวอน (KRW) และกองทุนจะลงทุนในกองทุนหลักดังกล่าวเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD)

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุน: มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด (Passive Management / Index Tracking)

ปัจจัยความเสี่ยงที่ควรทราบ: ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ และหมวดอุตสาหกรรม Information Technology, ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน โดยคิดเป็น 59.96% ของเงินลงทุนต่างประเทศ)

ค่าธรรมเนียมกองทุน

  • SCBKEQTG: การจัดการ – 1.00% / Front-end Fee และ Switching-in – 0.50% / รวม – 1.11%
  • SCBKEQTGE: Front-end Fee และ Switching-in – ไม่เรียกเก็บ / รวม – 0.11%

มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป

  • SCBKEQTG: 1,000 บาท
  • SCBKEQTGE: 1 บาท

ซื้อกองทุน SCBKEQTG คลิก

PRINCIPAL KEQ และ PRINCIPAL KOS

นโยบายการลงทุน: ลงทุนในกองทุน iShares MSCI South Korea ETF เป็นกองทุนหลัก (Master Fund) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ โดยกองทุน PRINCIPAL KEQ และ PRINCIPAL KOS จัดเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6

กองทุนหลักมุ่งลงทุนให้เป็นไปตามดัชนี MSCI Korea 25/50 (ดัชนีอ้างอิง) ซึ่งประกอบ ไปด้วยหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เกาหลี ดัชนีที่อ้างอิงคือดัชนีที่ถ่วงนํ้าหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (free float adjusted market capitalization-weighted) ดัชนีอ้างอิงจะรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุน: มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามดัชนีชี้วัด (Passive Management / Index Tracking)

ปัจจัยความเสี่ยงที่ควรทราบ: ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ และหมวดอุตสาหกรรม Information Technology, ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน)

ค่าธรรมเนียมกองทุน

  • PRINCIPAL KEQ: การจัดการ – 1.603% / Front-end Fee และ Switching-in – 1.50% / รวม – 2.076%
  • PRINCIPAL KOS: การจัดการ – 1.60% / Front-end Fee และ Switching-in – 1.50% / รวม – 2.42%

มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป: 1,000 บาท

ซื้อกองทุน PRINCIPAL KEQ คลิก

ใครพร้อมจะเติบโตไปกับเศรษฐกิจของแดนโสมขาวแล้ว ก็เปิดบัญชีกับ FINNOMENA เพื่อเริ่มลงทุนได้เลย!

 

อยากลงทุนกองทุนหุ้นเกาหลี แต่ยังไม่รู้ว่าจะใส่เข้าพอร์ตเท่าไรดี? รับบริการที่ปรึกษาการลงทุนส่วนตัวจาก FINNOMENA ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500,000 บาทเท่านั้น
👉 ลงทะเบียน คลิก >>> https://finno.me/finnomena-x-service

— planet 46.

อ้างอิง


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”

TSF2024