ในยุคปัจจุบันที่ดอกเบี้ยต่ำ ผลตอบแทนจากการลงทุนเงินฝากประจำธนาคาร หรือกองทุนตลาดเงินนั้น ได้เพียง 1.5% – 3% ต่อปี หากเป็นหุ้นกู้ที่มีอับดับความน่าเชื่อถือดีๆ อายุ 1-2 ปี ก็ได้เพียง 3%-4% ต่อปี เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่านี้ อยู่ที่ประมาณ 6%-7% ต่อปี ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งไม่สามารถทนต่อภาวะผลตอบแทนที่ต่ำได้ ส่งผลให้มีเงินลงทุนจำนวนหนึ่งวิ่งหาผลตอบแทน หรือที่เราเรียกว่า Search for yield
ซึ่งเงินดังกล่าวนี้เอง หากต้องการผลตอบแทนที่สูงเท่าเดิมประมาณ 6%-7% ต่อปี เท่ากับว่านักลงทุนต้องเพิ่มความเสี่ยง โดยการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เรียกว่า “Bond proxies” หรือ “ตัวแทนของหุ้นกู้” คือ หลักทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทน หรือเงินปันผลที่สูงเท่าเดิม แต่ราคาของหลักทรัพย์นั้นไม่ได้เคลื่อนไหวผันผวนมากนัก เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund), กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) หรือ หุ้นปันผลสูงที่ราคาไม่ผันผวนมากนัก ซึ่งจะเป็นหุ้นด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟ ทางด่วน ฯ ที่มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในปีที่ผ่านมา 2016 ราคาหุ้นในกลุ่ม REITs ทั่วโลก นั้นได้ปรับตัวสูงขึ้นมามาก ซึ่งในไทยเองก็จะเป็นหุ้นกลุ่ม REITs เช่น BTSGIF, CPNRF, GVREIT, IMPACT, JASIF, SPF หรือ หุ้นสาธารณูปโภค เช่น TTW ที่จ่ายเงินปันผล ประมาณ 5%-7% ต่อปี และราคาค่อนข้างนิ่ง ได้ปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อทาง FED ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ก็ส่งผลให้ดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะต้องขึ้นตาม ไม่เช่นนั้นเงินก็จะไหลออกไปยังประเทศที่ให้ดอกเบี้ยที่สูง
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้มีแรงขายหุ้นออกมาจากกลุ่ม Bond proxies เพราะเมื่อผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าเริ่มปรับสูงขึ้น นักลงทุนเองจะลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่าแต่ได้ผลตอบแทนเท่าเดิมอยู่ทำไม จริงไหมครับ
ซึ่งในปี 2017 หาก FED ไม่ได้มีการปรับเป้าหมายการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเพิ่ม 3 ครั้งในปีนี้ ก็จะทำให้ราคาหุ้นกลุ่ม REITs ทรงตัว เพราะราคาได้ปรับลงมารับข่าวไปหมดแล้ว (Price in) แต่หาก FED มีการส่งสัญญาณการปรับเพิ่มมากกว่า 3 ครั้งก็จะทำให้ราคาหุ้นกลุ่ม REITs ปรับลดลง ในทางกลับกันหาก FED ปรับอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า 2 ครั้ง ก็จะทำให้หุ้นกลุ่ม REITs ปรับตัวสูงขึ้นครับ