พฤติกรรมนักลงทุน
เป็นศาสตร์ด้านการลงทุนแขนงใหม่ ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาและพฤติกรรมการลงทุน ที่นักลงทุนได้ทำหรือไม่ทำในสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นความรู้ที่นอกเหนือจากความรู้พื้นฐานและหลักการลงทุนที่นักลงทุนรู้อยู่แล้ว
ตัวอย่างพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุน
“ซื้อแพง ขายถูก” จริงครับ ผมไม่ได้พิมพ์ผิด คนส่วนใหญ่มัก “ซื้อแพง ขายถูก”
เมื่อตลาดหุ้นขึ้น คนส่วนใหญ่ยินดีปรีดา มีความกล้า มักจะพูดถึงตลาดหุ้น ว่าเล่นตัวนั้นตัวนี้ได้กำไร เท่านั้นเท่านี้ เปลี่ยนตัวไปเล่นอีกตัวก็ได้กำไร เหมือนอุปทานหมู่ เฮโลกันเข้าไปซื้อ โดยไม่ได้ดูปัจจัยพื้นฐานประกอบ มองเพียงว่าหุ้นอยู่ในขาขึ้น ซื้ออย่างไรก็กำไร ซื้อไปเถอะ ซื้อตามแรงเชียร์ ซื้อตามเพื่อน นั่นคือ “ซื้อแพง”
เมื่อตลาดหุ้นลง นักลงทุนเริ่มกลัว หุ้นที่ถือไว้เริ่มขาดทุน บางคนเริ่ม Cut loss ยอมตัดใจขายขาดทุน เพื่อรักษาเงินส่วนที่เหลือเอาไว้ และเมื่อตลาดลงอีก เริ่มใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่อยากรับความทุกข์นี้เอาไว้ จนในที่สุดไม่อยากรับภาระความเครียดนี้ต่อไป เลือกที่จะขายล้างพอร์ตไปเลยก็มี นั่นคือ “ขายถูก”
แต่จริงๆ เราเรียนรู้มาตลอดว่าต้อง “ซื้อถูก ขายแพง” แต่ทำไมเรากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ นักลงทุน ใช้อารมณ์ ความรู้สึก (Investment Behavior) มากกว่า เหตุผลในการตัดสินใจ หากเราแยกกัน ให้มนุษย์เทรดหุ้น กับคอมพิวเตอร์เทรดหุ้น
มนุษย์เมื่อหุ้นตกเรามักจะกลัว ไม่กล้าซื้อ ซื้อแล้วจะตกอีกไหม พอรอให้ตกอีก มันตกมา ก็รออีก ไม่ซื้อสะที พอหุ้นเริ่มขึ้น ก็ไม่กล้าเข้าซื้อเพราะ เมื่อวานเรายังเห็นราคาที่ต่ำกว่าอยู่เลย รออีกหน่อยเดี๋ยวมันก็ลงมา รอไปเรื่อยๆ หุ้นก็ไม่ลง มันหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ไม่ซื้อแล้ว เพราะของมันแพง ใช่ไหมครับ เท่ากับไม่มีหุ้นในพอร์ตเวลามันตก ทำให้เสียโอกาสการลงทุน
ส่วนคอมพิวเตอร์จะทำตามโปรแกรมที่เราตั้งไว้ เป็นการซื้อถูก ขายแพง เพราะมันไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเขามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ ทำตามระบบที่เราตั้งเอาไว้ ลงมาก็ซื้อเพิ่มเรื่อยๆ ตามการจัดสัดส่วนการลงทุน เมื่อหุ้นขึ้นก็ทยอยขายออกเรื่อยๆ เพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไว้เท่าเดิม
เช่น อาจจะกำหนดไว้ที่ ตราสารหนี้ 50% ตลาดหุ้น 50% เมื่อหุ้นตกลงมา สัดส่วนการลงทุนในหุ้นก็จะน้อยกว่า 50% สิ่งที่ทำคือการซื้อหุ้นเพิ่ม โดยทำการขายตราสารหนี้ออกมา ให้กลับไปที่สัดส่วนเดิม 50%:50% และเมื่อหุ้นขึ้น สิ่งที่ทำคือทยอยขายส่วนที่กำไรในหุ้นออกมา และไปเก็บไว้ในตราสารหนี้ในสัดส่วนเท่าเดิม ซึ่งวิธีการนี้จะเรียกว่าการทำ “Rebalancing” หุ้นลงก็ซื้อเพิ่มเติมให้เต็มสัดส่วน หากหุ้นขึ้นก็ขายออกลดสัดส่วนที่เกินออกมา
สุดท้ายนี้ขอยกวลีของ Warren Buffett ปรมาจารย์ด้านการลงทุน ได้กล่าวไว้ว่า
“Be fearful when others are greedy and greedy when others are fearful”
“จงกลัวเมื่อคนอื่นกล้า และ จงกล้าเมื่อคนอื่นกลัว”
พิชัย ยอดพฤติการ CFP®, CISA1
ที่ปรึกษาการลงทุน ให้กับกลุ่มลูกค้า High Net Worth เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หุ้น กองทุน REITs ทั้งในและต่างประเทศ และศาสต์การเงินสมัยใหม่ด้าน Investment Behavior ผู้เขียนหนังสือด้านการลงทุน อาทิ มือใหม่เล่นหุ้น, เล่นหุ้นออนไลน์, เจาะลึกทองคำ การวางแผนการเงิน ติดตามสรุปข่าวทุกเช้าได้ที่ facebook.com/NewbieInvestor
นักวางแผนการเงิน CFP®
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์และการลงทุน CISA1
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน, ผู้วางแผนการลงทุน License No: 035453
ปริญญาตรี (BA) สาขาวิชาเอกการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปริญญาโท (MBA) สาขา Finance คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์