ภาวะเงินเฟ้อในปี 2022 ทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ แต่รู้หรือไม่? ร้านอาหารในเครือ Yum! Brands อย่าง KFC, Pizza Hut, และ Taco Bell ถูกบริหารโดยเจ้าของแฟรนไชส์ถึง 98 % ! ฉะนั้นรายได้จากการขายในแต่ละประเทศทั่วโลกย่อมแตกต่างกันไปตามระดับเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ
แล้วสิ่งนี้ดีต่อธุรกิจหรือไม่? บทความนี้จะพามารู้จัก ยัมแบรนด์ (Yum! Brands) พร้อมวิเคราะห์ว่าทำไมธุรกิจแฟรนไชส์อาจรับมือต่อเงินเฟ้อได้ดี ดังที่เห็นได้จาก Yum! Brands
Yum! Brands ทำธุรกิจอะไร?
Yum! Brands (YUM) เป็นบริษัทร้านอาหารจานด่วนชื่อดังระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น KFC, Pizza Hut, และ Taco Bell เป็นต้น ก่อตั้งในปี 2003 จุดเริ่มต้นของบริษัท มาจาก PepsiCo ได้หันหลังให้ธุรกิจร้านอาหาร หลังจากที่เคยทำการไล่ซื้อแบรนด์ร้านอาหารมากมาย ในปี 1997 ธุรกิจส่วนร้านอาหารของ PepsiCo ถูกแยกออกมาเป็นบริษัทใหม่ มีชื่อว่า “Tricon Global Restaurants” ซึ่งในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Yum! Brands นั่นเอง
Yum! มีหน้าที่ พัฒนา ดำเนินการ ขายแฟรนไชส์ และออกใบอนุญาติร้านอาหารจานด่วนทั่วโลก ปัจจุบัน Yum! สำนักงานใหญ่ในเมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา ในปี 2021 Yum! มีจำนวนร้านอาหารถึง 53,424 สาขา ใน 295 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ Yum! มีมูลค่าทางตลาด
ในอุตสาหกรรมร้านอาหารสูงเป็นอันดับ 3 รองจาก McDonalds และ Starbucks ตามข้อมูลของ Yahoo! Finance
Yum! Brands ในประเทศไทย
ในประเทศไทยจำนวนร้านอาหารเครือ Yum! ในปี 2020 มีถึง 1,030 สาขา โดยแบ่งเป็น KFC 853 สาขา Pizza Hut 169 สาขา และ Taco Bell จำนวน 8 สาขา ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ของ Yum!
โดย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล และบริหารแบรนด์ ทั้ง KFC, Pizza Hut และ Taco Bell ในประเทศไทย ขณะที่การบริหารหน้าร้านให้เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อแฟรนไชส์
เช่น KFC มีผู้ซื้อสิทธ์บริหารแฟรนไชส์ทั้งหมด 3 บริษัท ได้แก่
บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (บริษัทเครือไทยเบฟ)
บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
และ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์กรุ๊ป จำกัด (บริษัทเครือเซ็นทรัล) เป็นต้น
กลยุทธ์ แฟรนไชส์ คือคำตอบเพื่อสู้เงินเฟ้อ?
อย่างที่ทราบกันดี แฟรนไชส์ของบริษัทคือลูกค้ารายใหญ่ ผู้ซื้อสิทธิบริหารแฟรนไชส์จากบริษัทจะต้องแบกรับภาระต้นทุน โดยการซื้อหรือให้เช่าที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ป้าย ที่นั่ง และ สินค้าคงคลัง เมื่อการดำเนินงานเป็นของแฟรนไชส์แทบจะทั้งหมด การตั้งราคาตามต้นทุนและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่แฟรนไชส์ต้องแบกรับเอง ในขณะที่ Yum! เพียงแค่เก็บส่วนแบ่งของยอดขายร้านอาหาร ตามข้อมูลของ Yum! KFC และ Pizza Hut เป็นร้านของแฟรนไชส์ถึง 99% และ Taco Bell อยู่ที่ 95% นั่นทำให้ Yum! แทบจะไม่ได้รับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเลย
เกือบหกปีที่แล้ว แบรนด์ต่างๆ ของ Yum ภายในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว จนต้องแยกตัวมาจดทะเบียนเองเป็น Yum! Brand China (YUMC) เพื่ออิสระในการบริหารและทำตลาดภายในจีนเอง ทั้งนี้บริษัทแม่อย่าง Yum! ก็ได้ค่าธรรมเนียม 3% ของยอดขายในเครือข่ายธุรกิจ YUMC
แม้แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องยากที่จะมองข้ามในทุกวันนี้ และต้นทุนอาหารและแรงงานที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ Yum! แต่ Yum! อาจเป็นผู้รับประโยชน์จากโครงสร้างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นภายใต้การดำเนินงานแบบแฟรนไชส์ เพราะแฟรนไชส์ต้องปรับราคาเพื่อเพิ่มยอดขาย Yum จึงได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมสูงขึ้นตามเงินเฟ้อที่สูงลิ่วหากแฟรนไชส์สามารถรอดพ้นจากการบังคับขายหรือล้มละลายได้ ภาวะเงินเฟ้ออาจส่งผลดีต่อ Yum!
ผลประกอบการที่ผ่านมาของ Yum!
ผลประกอบการล่าสุด Q1 2022 Yum! Brands ตํ่ากว่าที่คาดการณ์ โดย
กำไรต่อหุ้น(EPS) : $1.05 เทียบกับ $1.07 ที่คาดไว้
รายได้: 1.55 พันล้านดอลลาร์เทียบกับ 1.59 พันล้านดอลลาร์ ที่คาดไว้
นักวิเคราะห์ประเมินว่าสาเหตุหลักมาจากการล็อกดาวน์ของจีนและการยกเลิกกิจการในรัสเซีย
ทั้งนี้หากลองขยายภาพให้กว้างขึ้น จากข้อมูลของWSJ ผลประกอบการของ Yum! ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า
แม้ในปี 2019-2020 บริษัทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาดโควิด-19 แต่ในปี 2021 ก็สามารถฟื้นตัวจนมีผลทางรายได้ที่สูงกว่าในช่วงก่อนโควิด ยอดขายที่ทะลุ 6 พันล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และมีกำไรต่อหุ้นมากกว่า $5
ขณะที่ราคาหุ้นในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีราคาสูงกว่าราคาดัชนี S&P 500 และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
และเมื่อลองเปรียบเทียบ ผลตอบแทนย้อนหลัง(ไม่รวมเงินปันผล) ระหว่าง Yum! กับ ตลาดค้าปลีกอาหารและร้านอาหาร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่า Yum! ให้ผลตอบแทนน้อยลง 4.2% แต่ยังเป็นตัวเลขที่ดี เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมค้าปลีกและร้านอาหารที่ลดลงถึง 20.5%
นอกจากนี้ Yum! ยังมีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยแทบจะจ่ายปันผลทุก ๆ ไตรมาสตลอดทั้งปี และยังจ่ายในอัตราที่สูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2004 แม้ในยามวิกฤติ เช่นในปี 2020 ที่ราคาหุ้น YUM ร่วงลงถึง 37% นับตั้งแต่ต้นปี แต่บริษัทยังคงจ่ายปันผล ที่ราคา $ 0.47 ต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าปีก่อนๆ และยกเว้นการจ่ายปันผลในไตรมาสแรกปี 2020 เท่านั้น จากข้อมูลของ Streetinsider
ทั้งกลยุทธ์แฟรนไชส์ที่ทำให้ Yum! รับความเสี่ยงได้น้อยลงจากภาวะเงินเฟ้อ และผลประกอบการของ Yum! ที่อยู่ในเกณฑ์ดี อาจเป็นตัวอย่างที่แสดงว่า ธุรกิจแฟรนไชส์อย่าง Yum! Brands จะสามารถรอดจากภาวะเงินเฟ้อที่กำลังร้อนระอุในขณะนี้ได้ ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถอนุมานได้ว่าจะรอดได้อย่างแน่นอน ซึ่งต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกต่อไป
ที่มา : https://investors.yum.com/corporateprofile/default.aspx
https://www.longtunman.com/24375
https://www.wsj.com/market-data/quotes/YUM/financials/annual/income-statement
https://www.cnbc.com/2022/05/04/yum-brands-yum-q1-2022-earnings.html
https://www.streetinsider.com/dividend_history.php?q=yum