ในแต่ละประเทศ ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลระบบเศรษฐกิจคือรัฐบาลและธนาคารกลาง โดยรัฐบาลใช้นโยบายทางการคลังและธนาคารกลางใช้นโยบายทางการเงินในการดูแลระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ บทความนี้จะกล่าวถึงความหมายของนโยบายการเงิน ประเภทนโยบายและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

นโยบายการเงินคืออะไร

นโยบายการเงิน หมายถึงการออกนโยบายโดยใช้เครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางเช่น อัตราดอกเบี้ย ปริมาณเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน ในการกำหนดต้นทุนการกู้ยืมหรือปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน

นโยบายการเงินแตกต่างจากนโยบายการคลังอย่างไร?

นโยบายการเงิน – มีธนาคารกลางเป็นผู้ออกนโยบาย ซึ่งการเงินเป็นการดำเนินการทางเงินของสังคมที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
นโยบายการคลัง – มีรัฐบาลเป็นผู้ออกนโยบาย ซึ่งการคลังเป็นการดำเนินการทางการเงินของภาครัฐทั้งรายรับและรายจ่าย

ประเภทของนโยบายการเงิน

นโยบายการเงินแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และนโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยทั้ง 2 นโยบายต่างใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายคือ นโยบายการเงินที่ธนาคารกลางต้องการให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวเมื่อเศรษฐกิจซบเซาหรือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดย เช่น

  • การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กล่าวคือเมื่ออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลดลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากปรับตัวลง เกิดแรงจูงใจกู้ยืมเงินมากขึ้นและฝากเงินน้อยลง ทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงานเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจขยายตัว เช่น ในปี 2020 กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19
  • การซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือเอกชน เพื่อฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ภาครัฐบาลและเอกชน ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดการบริโภค ลงทุนภายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยการใช้เงินเพื่อซื้อพันธบัตรธนาคารพาณิชย์ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลง เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาปล่อยกู้กระตุ้นเศรษฐกิจ
  • การลดสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดส่วนเกินที่สามารถนำไปปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่น ในปี 2021 ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราเงินสดสำรองธนาคารพาณิชย์มาอยู่ที่ 8.9% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อสู่ระบบได้เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 5 ล้านล้านบาท

ในขณะที่นโยบายการเงินแบบตึงตัวคือ นโยบายการเงินที่ธนาคารกลางใช้เพื่อชะลอการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายจะตรงกันข้ามกับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การขายพันธบัตรรัฐบาลหรือเอกชน การทำ QT และการเพิ่มสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

การใช้นโยบายการเงินในปัจจุบัน

ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มปรับนโยบายการเงิน โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นและดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ จากภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน หลังการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงวิกฤติโควิดปี 63

หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ใช้มาตรการ QT ในการดึงสภาพคล่องกลับสู่ธนาคารกลางและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศต้องปรับนโยบายการเงินตาม Fed จากแรงกดดันของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินในต่างประเทศ

เช่น ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีหลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากฮ่องกงใช้ระบบตรึงอัตราแลกเปลี่ยนแบบเข้มงวด

นอกจากการที่ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ภาวะเงินเฟ้อเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางต่างปรับใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25% สู่ 1.25% เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ได้ทยอยเปลี่ยนนโยบายทางการเงินจากเดิม เช่น ลดหรือหยุดการทำนโยบายการเงินผ่อนคลาย เช่นยกเลิกการทำ QE และหันมาทำ QT แทนของ Fed หรือยกเลิกการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของธนาคารกลางออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่ไม่ได้ดำเนินนโยบายการเงินตาม Fed หรือปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเดิม เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield curve control) หรือ ธนาคารกลางจีนที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น

ผลกระทบของนโยบายการเงินต่อตลาดทุน

นโยบายการเงินมีอิทธิพลโดยตรงต่อตลาดทุน โดยตลาดทุน หมายถึง ตลาดที่มีการซื้อขายตราสารทางการเงินหรือกู้ยืมเงินระยะยาวที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป โดยสามารถแบ่งออกเป็นตราสารหนี้ระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) และตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และ กองทุนรวม

ในตลาดทุน การระดมทุนเพื่อลงทุนมาจาก 2 ช่องทางคือผู้ถือหุ้น หรือกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้ เช่น ธนาคาร หรือ การออกหุ้นกู้ ซึ่งเมื่อเกิดการกู้ยืมเงิน ผู้กู้ยืมต้องจ่ายคืนผู้กู้ในรูปแบบ “ดอกเบี้ย” ดังนั้นการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีผลกระทบต่อตลาดทุน

นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทำให้นักลงทุนเพิ่มนํ้าหนักการลงทุนในสินทรัพย์ตลาดทุน เพราะผลตอบแทนจากดอกเบี้ยลดลงประกอบกับต้นทุนในการกู้ยืมเงินลดลง ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น

ในขณะที่นโยบายการเงินแบบตึงตัวทำให้นักลงทุนเพิ่มนํ้าหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุตราไม่เกิน 1 ปี เช่น ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารรับรอง ตราสารพาณิชย์หรือเอกสารการค้า และ ใบรับฝากเงินที่เปลี่ยนมือได้ เพราะยิ่งอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาตราสารทางการเงินลดลง ทำให้การถือตราสารทางการเงินที่มีอายุสั้นจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า

จะเห็นได้ว่านโยบายการเงินต้องใช้ความรอบคอบในการออกนโยบาย เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้นโยบายทางการเงินคือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ให้หดตัวหรือขยายตัวจนเกินไป เพราะเกิดผลเสียได้ทั้งสองทาง นโยบายการเงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ

TSF2024