สถานการณ์ปัจจุบัน (7 ก.ค) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์อยู่ที่ระดับ 36.23 ตามข้อมูลของ investing.com ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี และ สร้างความตระหนกให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทย

เงินบาทอ่อนค่าคืออะไร?

ความหมายของเงินบาทอ่อนค่า คือการที่เงินบาทไทยสามารถแลกเป็นเงินต่างประเทศที่เป็นสกุลหลัก เช่น เงินดอลลาร์ ได้น้อยลง ในทางกลับกับเงินดอลลาร์สามารถแลกเป็นเงินบาทไทยได้มากขึ้น กล่าวคือเงินบาทไทยมีมูลค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับเงินต่างประเทศ

ทำไมเงินบาทถึงอ่อนค่า?

สาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าในระดับที่น่ากังวล มาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดำเนินมาตรการ QT ลดสภาพคล่องเงินดอลลาร์ในตลาด รวมไปถึงความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยทำให้คนหันไปถือเงินดอลลาร์และซื้อพันธบัตรมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามนี้

นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเนื่องจากสงครามยูเครน-รัสเซีย หลายประเทศต้องประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงจากระดับราคาสูงขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในเดือนพฤษภาคม 2565 อัตราเงินเฟ้อไทยขยายตัว 7.1 % สูงสุดในรอบ 14 ปี

เมื่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐสูงขึ้น เงินทุนจะไหลไปสู่ประเทศที่ให้ผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ย ฉะนั้นเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เนื่องจากคนจะแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์เพื่อหวังผลตอบแทนที่มากกว่า ขณะเดียวกันจากภาวะเงินเฟ้อ ทำให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง เป็นตัวชี้วัดว่าเงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง หาก FED ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง จากการประชุมในปลายเดือนนี้ แม้เงินบาทอาจแข็งค่าจากปัจจัยข้างต้น แต่ยังคงมีปัจจัยอื่นให้พิจารณา เช่น ประเทศจีนเริ่มใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้งจากยอดผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ค่าเงินบาทในปัจจุบันจึงมีความผันผวน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย แม้ว่าจะประสบปัญหาเงินเฟ้อและเงินบาทอ่อนค่าก็ตาม โดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นการตัดสินใจระหว่างผลดีที่จะเกิดกับภาคเกษตร ท่องเที่ยว และ ผลกระทบต่อต้นทุนราคาพลังงาน และปัญหาเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วในไทย คงต้องติดตามต่อไปว่า ธปท. จะสามารถปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้นานแค่ไหน

สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดี/เสียต่อกลุ่มดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินอ่อนค่า
– กลุ่มผู้ส่งออก เนื่องจากรายได้ในรูปแบบเงินต่างประเทศสามารถแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
– กลุ่มผู้ทำงานต่างประเทศ เนื่องจากผลตอบแทนจากเงินต่างประเทศสามารถแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
– กลุ่มท่องเที่ยว เนื่องจากรายได้บางส่วนมาจากชาวต่างชาติที่มีเงินต่างประเทศ ทำให้แลกเป็นเงินบาทมากขึ้น

กลุ่มที่เสียประโยชน์จากค่าเงินแข็งค่า
– กลุ่มผู้นำเข้า เนื่องจากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น เพราะราคาสินค้าในรูปสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น
– กลุ่มผู้บริโภค เนื่องจากราคาสินค้าและบริการจากต่างประเทศสูงขึ้น
– กลุ่มผู้ลงทุน เนื่องจากนำเข้าสินค้าทุนแพงขึ้น เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ
– กลุ่มผู้มีหนี้กับต่างประเทศ เนื่องจากภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระหนี้ต่างประเทศ

ผลกระทบของเงินบาทอ่อนค่าต่อตลาดทุน

สำหรับตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST ระบุว่า การอ่อนค่าของเงินบาท ต้องระวังหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติซื้อไว้มาก เช่น น้ำมัน-ธนาคาร ส่วนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาทมีน้อย เพราะมี ความเสี่ยงในเรื่องปริมาณขาย(ส่งออก)ที่อาจลดลง หลังจากตลาดโลกและตลาดไทย ให้น้ำหนักกับภาวะถดถอยของสหรัฐฯ เห็นได้จาก หุ้นส่งออก ธนาคาร และ สินค้าโภคภัณฑ์ อยู่ในสภาพไม่ดีนัก

แม้ว่าสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีให้แก่บางกลุ่ม แต่ระดับค่าเงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่น่ากังวล ซึ่งไม่ใช่ระดับค่าเงินบาทที่ควรจะเป็น ในประเทศไทยทั้งธปท.และกระทรวงการคลัง มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมหารือหาทางออกในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกต่อไป

ที่มา: https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256301TheKnowledge_Bath.aspx

https://www.bangkokbiznews.com/business/1010120

TSF2024