กองทุนหุ้นเกาหลี

ตลอดช่วง 10 มานี้ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ไม่ได้ดูหวือหวานัก คือขึ้นเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ แต่ขาดจุดพีคแรง ๆ ก่อนจะลงไปลึกสุดตอนวิกฤติโควิดปี 2020 แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหุ้นเกาหลีใต้

เพราะหลังจากฟื้นตัวกลับมาได้ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ก็ดีวันดีคืน ดัชนี KOSPI ทำจุดสูงสุด All Time High ในช่วงกลางปี 2021 ที่ระดับ 3,300 จุด ถือว่าวิ่งเร็วและวิ่งแรงกว่าหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ New Economy เช่น เทคโนโลยี, เซมิคอนดักเตอร์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, การเงิน และสุขภาพ

แม้ว่าในปี 2022 ที่ผ่านมา จะย่อตัวปรับฐานจน Underperform อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2023 นี้ คลื่นโมเมนตัมของนักลงทุนได้พัดเข้าคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง ด้วยอานิสงส์ของ Generative AI ที่หนุนให้หุ้นเกาหลีใต้ปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น

ดังนั้น ใครกำลังสนใจกองทุนหุ้นเกาหลีใต้ แต่อาจจะยังไม่คุ้นเคยมากนัก เราได้สรุปสิ่งที่ควรรู้มาให้แล้ว เพื่อเป็นคู่มือเริ่มต้นสำหรับการลงทุน

Highlight (คลิกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลย)


กองทุนหุ้นเกาหลี

ความน่าสนใจของตลาดหุ้นเกาหลีใต้

  1. เป็นผู้นำหุ้นเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

ภาพที่ชัดเจนของเกาหลีใต้ในปัจจุบัน คือเป็นประเทศที่เปรียบเสมือนตัวแทนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของเอเชีย เพราะเต็มไปด้วยบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ และสตาร์ตอัปยูนิคอร์นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980s 

ดูได้จากสัดส่วนการลงทุนที่แบ่งตามอุตสาหกรรมของ iShare MSCI South Korea ETF พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีถึง 36.78% ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม, สินค้าฟุ่มเฟือย, วัสดุ, การเงิน, บริการสื่อสาร และสุขภาพ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

พูดง่าย ๆ ว่าซื้อหุ้นเกาหลีใต้ตอนนี้ เหมือนได้ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีฝั่งเอเชียที่ราคายังไม่ได้แพงเวอร์จนเกินไป

  1. ได้ประโยชน์จากการเติบโตของ AI 

การมาของ Generative AI ส่งผลบวกโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนา AI ซึ่งเกาหลีใต้ถือเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไต้หวันเท่านั้น โดยบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ คือ Samsung Electronics และ SK hynix ซึ่งทั้งคู่ได้ป้อนชิปให้แก่บิ๊กเทค อาทิ Apple, Microsoft, Asus, Dell, MSI, HP และ Deutsche Telekom เป็นต้น

กองทุนหุ้นเกาหลี

Source: statista as of 17/08/2021

  1. โมเมนตัมของตลาดล้อไปตามเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจเกาหลีใต้จัดว่าพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งนึงของ GDP ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน, สหรัฐฯ และยุโรป

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจึงส่งผลอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ซึ่งการที่ทิศทางครึ่งปีหลังดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้แย่แบบที่คิด และอาจจะยังไม่เข้าสู่ Recession ในปีนี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นโมเมนตัมเชิงบวกที่หนุนให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปรับตัวขึ้น

สำรวจบริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้

คราวนี้ลองมาเจาะลึกเข้าไปอีกหน่อยว่าในตลาดหุ้นเกาหลีใต้นั้นมีบริษัทอะไรที่น่าสนใจบ้าง ทำธุรกิจอะไร และมีศักยภาพเติบโตอย่างไร โดยเราคัด 5 หุ้นที่ iShare MSCI South Korea ETF ให้น้ำหนักการลงทุนมากที่สุด ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2023

  1. Samsung Electronics บริษัทเรือธงของ Samsung Group ซึ่งเป็น Holding Company ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเกาหลีใต้ โดยรายได้ของทั้งกลุ่ม Samsung คิดเป็นกว่า 20% ของ GDP เกาหลีใต้ สำหรับ Samsung Electronics จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกอีกด้วย
  2. SK Hynix ผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่มุ่งเน้นในตลาดชิปหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, กล่องรับสัญญาณ รวมอุปกรณ์เครือข่ายต่าง ๆ โดยมีการจำหน่ายให้ทั้งกับลูกค้าในประเทศและส่งออกให้กับแบรนด์ดังในต่างประเทศ
  3. Samsung SDI เป็นอีกหนึ่งบริษัทลูกของ Samsung Group ที่ประกอบธุรกิจแบตเตอรี่เพื่อใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างเช่นสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อป้อนให้ทั้ง Samsung และลูกค้ารายอื่น ๆ ทั่วโลก
  4. POSCO เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เหล็กครบวงจร ทั้งเหล็กรีดเย็น, เหล็กรีดร้อน, เหล็กกล้า, เหล็กแผ่น, เหล็กกล้า โดยมีโรงงานกระจายอยู่ทั่วโลก
  5. LG Chem หนึ่งในบริษัทเครือ LG Group ซึ่งเน้นในธุรกิจปิโตรเคมี ตลอดจนเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่อีกด้วย

กองทุนหุ้นเกาหลี

รู้จักดัชนีหุ้นเกาหลีใต้

ดัชนีหุ้นเกาหลีใต้มีความคล้ายคลึงกับบ้านเราทีเดียว โดยมีดัชนีที่นิยมใช้กันหลัก ๆ ได้แก่

  • KOSPI ดัชนีที่สะท้อนภาพรวมของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (คล้ายกับ SET Index)
  • KOSPI 50 ดัชนีที่สะท้อนหุ้น 50 แรกที่มีมูลค่าสูงสุดของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (คล้ายกับ SET50 Index)
  • KOSDAQ ดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นขนาดกลาง-ขนาดเล็กในเกาหลีใต้ (คล้ายกับ mai index)
  • MSCI Korea 25/50 Index ดัชนีที่ MSCI ออกแบบเพื่อวัดประสิทธิภาพหุ้นขนาดใหญ่-ขนาดกลางของเกาหลีใต้ โดยกำหนดว่าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 25% และหุ้นที่มีสัดส่วนมากกว่า 5% ทุกตัวรวมกันต้องไม่เกิน 50% เพื่อช่วยให้กระจายการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ไม่กระจุกอยู่แค่หุ้นบางตัว

กองทุนไทยที่มีนโยบายลงทุนในเกาหลีใต้

ปัจจุบันกองทุนไทยที่มีนโยบายการลงทุนในเกาหลีใต้ จะมีด้วยกันดังนี้

SCBKEQTG กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี

กองทุนหุ้นเกาหลี

Source: FINNOMENA FUNDS as of 24/07/2023

PRINCIPAL KEQ กองทุนเปิดพรินซิเพิล เกาหลี อิควิตี้

กองทุนหุ้นเกาหลี

Source: FINNOMENA FUNDS as of 24/07/2023

PRINCIPAL KOS กองทุนเปิดพรินซิเพิล หุ้นเกาหลี

กองทุนหุ้นเกาหลี

Source: FINNOMENA FUNDS as of 24/07/2023

ทั้งนี้ ทุกกองทุนล้วนมีนโยบายการลงทุนใน iShare MSCI South Korea ETF (EWY) เป็นกองทุนหลัก ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ซึ่งบริหารงานโดย BlackRock Fund ที่มุ่งเน้นกลยุทธ์แบบ Passive เคลื่อนไหวล้อตามดัชนี MSCI Korea 25/50 

กองทุนหุ้นเกาหลี

Source: iShares MSCI South Korea ETF as of 21/07/2023

ศึกษารายละเอียดของกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ www.finnomena.com/fund

เปรียบเทียบผลตอบแทนกองทุน SCBKEQTG vs PRINCIPAL KEQ vs PRINCIPAL KOS 

กองทุนหุ้นเกาหลีใต้ มีดีที่โมเมนตัม

กราฟแสดงผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ข้อมูล ณ 24/07/2023  | Source: www.finnomena.com/fund/compare/

** ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต **

มุมมอง FINNOMENA FUNDS ต่อกองทุนหุ้นเกาหลีใต้

การลงทุนแบบเก็งกำไรในระยะสั้น 1-3 เดือน FINNOMENA Investment Team มีคำแนะนำ Tactical Call ในกองทุน SCBKEQTG ซึ่งสะท้อนการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เนื่องจากมองว่าหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการเปิดตัว Generative AI อย่าง Chat GPT และ Bard ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับตัวเลข GDP การส่งออก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ดีกว่าคาด

โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2023 สัญญาณทาง technical บ่งชี้ว่าดัชนี KOSPI เข้าสู่ช่วงของกรอบ Sideway Up เดิมอีกครั้ง หลังปรับตัวขึ้นยืนเหนือเส้น MA 20 ได้อีกครั้ง พร้อมด้วยระดับ RSI ที่มากกว่า 50 จุด

ขณะที่มุมมองการลงทุนในระยะกลาง 6-12 เดือน โดยพิจารณาปัจจัยรอบด้านตาม MEVT Call ได้แก่ ปัจจัยเชิงมหภาค, วิเคราะห์การเติบโตของกำไร, การวิเคราะห์มูลค่าของสินทรัพย์ และวิเคราะห์ทางเทคนิค FINNOMENA Investment Team แนะนำให้ทยอยสะสมกองทุน SCBKEQTG ด้วยความน่าสนใจ ดังนี้

  • Macro: เกาหลีใต้มีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก อาทิ แผงวงจร, เซมิคอนดักเตอร์, โทรศัพท์, แบตเตอรี่, ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์เคมี ส่งผลให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ต่อเศรษฐกิจโลกในระดับที่สูง ซึ่งจากศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าคาด ประกอบกับฝั่งจีนที่รัฐบาลพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสหนุนให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
  • Earnings: กำไรของบริษัทในเกาหลีใต้มีลักษณะเป็นวัฏจักร เพราะพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซมิคอนดักเตอร์ แม้ว่าเซมิคอนดักเตอร์จะได้รับผลบวกไปมากแล้ว จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากกระแส work from home ในช่วง COVID-19 และความกังวลต่อปัญหา supply chain ที่เกิดขึ้นในช่วง 2020-2022 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาวะการระบายสินค้า (destocking) แต่นักวิเคราะห์คาดว่าการ destocking ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้วในครึ่งปีแรก 2023 โดยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง และมีโอกาสกลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงปี 2024 เป็นต้นไป
  • Valuation: เมื่อพิจารณา PE Ratio พบว่า KOSPI Index มี FWD PE 24 Months ที่ 8.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ประมาณ 9 เท่า และยังคงต่ำกว่าหุ้นทั่วโลกอย่าง MSCI ACWI ที่ 16.4 เท่า
  • Technical: ในเชิงกราฟเทคนิครายสัปดาห์ KOSPI Index ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นนับตั้งแต่กันยายน 2022 แต่เข้าสู่รอบย่อในระยะสั้นจาก RSI ที่ส่งสัญญาณ divergence จึงเป็นจังหวะดีที่เหมาะแก่การทยอยสะสมเพื่อลงทุนในกรอบ 6-12 เดือนข้างหน้า

แหล่งข้อมูล

คำเตือน

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนมีการลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม และประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT” | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299