กองทุนจีนvsกองทุนเวียดนาม

จีนและเวียดนามเป็น 2 ประเทศยอดฮิตที่นักลงทุนไทยจับตามองมาโดยตลอด เพราะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของคนที่ต้องการกระจายเงินลงทุนไปยังตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่มีโอกาสเติบโตสูง ด้วยช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจีนและเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกประเมินว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะขยายตัวต่อเนื่องไปอีกหลายปีข้างหน้า

ทำให้ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีหลากหลาย บลจ. ในไทย พาเหรดเปิดตัว “กองทุนหุ้นจีน” และ “กองทุนหุ้นเวียดนาม” ออกมาให้นักลงทุนเลือกสรรและศึกษาลงทุนกันเป็นจำนวนมาก 

คำถามที่น่าสนใจก็คือ นี่ยังใช่เวลาที่ดีในการทยอยสะสมหุ้นจีนและหุ้นเวียดนามเข้าพอร์ตหรือไม่? 

แล้วถ้ามีเงื่อนไขสามารถเลือกลงทุนได้แค่กองเดียว ควรเลือกประเทศไหนดีที่เหมาะสมกับเราที่สุด บทความนี้จะเปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ ทีละข้อ

Highlight (คลิกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลย)


วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจีนและเวียดนาม

เริ่มยกแรกโดยการพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ ปัจจัยเชิงมหภาคที่บ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจ (Macro) ควบคู่กับวิเคราะห์แนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียน (Earnings) เพื่อหาโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุด

กองทุนจีนvsกองทุนเวียดนาม

ปัจจัยพื้นฐานของจีน: ในช่วงครึ่งปีแรก 2023 ภาพรวมเศรษฐกิจจีนถือว่าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะภาคการผลิต และความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศที่ยังไม่กลับมาเต็มร้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด 

สาเหตุหลักมาจากท่าทีของรัฐบาลจีนที่ยังไม่ได้ลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลังนัก ซึ่งเน้นใช้นโยบายทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน (Open Market Operations) แต่ยังขาดแรงหนุนอย่างนโยบายทางการคลัง ทำให้ตลาดโตไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร 

อย่างไรก็ดี จีนมีศักยภาพการเติบโตที่น่าสนใจ จากสภาพคล่องจำนวนมากที่อัดฉีดเข้าระบบไปแล้ว ประกอบกับความสามารถในการใช้นโยบายทางการคลังในอนาคต ขณะเดียวกัน Bloomberg Consensus ชี้ว่า GDP จีนจะยังคงเติบโตเหนือค่าเฉลี่ยทั่วโลก คาดปี 2023 เพิ่มขึ้น 5.5% และชะลอตัวเป็น 4.8% ในปี 2024

ล่าสุดในการประชุมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo) ได้ส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ท่าทีดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบวกต่อทั้งเศรษฐกิจจีน ประมาณกำไรบริษัทจดทะเบียน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ปัจจัยพื้นฐานของเวียดนาม: ความแตกต่างที่ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกเวียดนามกลับมาเติบโตได้ชัดเจน นั่นคือแรงหนุนจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้งภายในครึ่งปี พร้อมทั้งยังปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 8% ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงสิ้นปี 2023 

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความจริงจังของรัฐบาลเวียดนามต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ และสนับสนุนการบริโภค เพื่อสู้กับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเวียดนามตั้งเป้าหมาย GDP จะเติบโตที่ระดับ 5-6% ในปี 2023

ทว่าจุดที่น่ากังวลของเวียดนาม คงเป็นเรื่องการส่งออกซึ่งชะลอตัวลงไป ตามเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอและยังไม่คลี่คลาย ดังนั้น ประมาณการกําไรของบริษัทจดทะเบียนจึงยังไม่ปรับสูงขึ้น แต่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสแรก

วิเคราะห์ Valuation ตลาดหุ้นจีนและเวียดนาม

Valuation หรือ การวิเคราะห์ของมูลค่าสินทรัพย์เพื่อเข้าลงทุนในระดับราคาที่เหมาะสมนั้นช่วยลดความเสี่ยงในการขาดทุนได้ 

กองทุนจีนvsกองทุนเวียดนาม

เมื่อพิจารณา Valuation ด้วย Relative PE ของตลาดหุ้นจีนในดัชนี MSCI China และ CSI 300 เทียบกับดัชนีหุ้นโลก (MSCI ACWI) พบว่าปรับตัวลงมาใกล้เคียง -1.5 S.D ถือเป็นจุดที่น่าสนใจและมีความปลอดภัยต่อการลงทุน อีกทั้งยังมี Upside จากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

ส่วน Valuation ของตลาดหุ้นเวียดนาม แม้จะปรับตัวแพงขึ้นจากช่วงต้นปี เพราะแรงจูงใจจากนักลงทุนรายย่อยในเวียดนามที่เริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม Relative PE ของดัชนี VN30 ยังอยู่ในระดับ -1.5 S.D. เมื่อเทียบกับหุ้นโลก ถือเป็นโซนที่ถูกมาก นอกจากนี้ PE ก็อยู่ที่ 10.2 เท่า ถูกกว่าตัวเองในอดีตอีกด้วย

สรุปคือทั้งตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นเวียดนาม ยังคงเป็นตลาดที่มูลค่าถูกเมื่อเทียบกับหุ้นโลก รวมถึงถูกกว่าตลาดหุ้นยอดนิยมอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นต้น

ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี หุ้นจีนกับหุ้นเวียดนาม อะไรดีกว่ากัน?

กองทุนจีนvsกองทุนเวียดนาม

กราฟเปรียบเทียบ Net Return ระหว่างดัชนี MSCI China All Share vs MSCI Vietnam ตั้งแต่ปี 2013 ถึงครึ่งปีแรก 2023 โดยรวมแล้วการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นจีนกับตลาดหุ้นเวียดนาม จะวิ่งล้อไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกเหมือน ๆ กัน 

แต่หากลงลึกไปที่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤตโควิด เมื่อปลายปี 2020 ไล่มาจนถึงปี 2022 จะเห็นว่าหุ้นจีนดิ่งลงลึกชัดเจน จากนโยบายคุมเข้ม Zero Covid ประกอบกับรัฐบาลจีนเริ่มเข้ามาจัดระเบียบในหลายธุรกิจ เช่น โรงเรียนกวดวิชา เกม อีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มออนไลน์ และภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนหุ้นจีนพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่ม Offshore

ตรงกันข้ามกับเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ตลาดหุ้นยังเป็นบวกได้ท่ามกลางวิกฤตโควิด ปัจจัยหลักเกิดจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ตลอดจนการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ทำได้ดี โดยเลือกจะ Lockdown แค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

แต่ถึงอย่างนั้นตลาดหุ้นเวียดนามถูกถล่มหนักในปี 2022 เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เนื่องจากปัญหาทุจริตและปั่นหุ้นของกลุ่มผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในธุรกิจอสังหาฯ และธนาคารพาณิชย์ ทำให้เกิดแรงขายออกมาเป็นจำนวนมาก และสามารถพลิกฟื้นกลับมาสดใสอีกครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2023

รู้จักหุ้นผู้นำของจีนและเวียดนาม

กองทุนจีนvsกองทุนเวียดนาม

หุ้นจีนที่มีน้ำหนักมากที่สุดของดัชนี MSCI China All Share ได้แก่ TENCENT, ALIBABA, KWEICHOW MOUTAI, MEITUAN และ CHINA CONSTRUCTION BANK ถือว่ากระจายตัวอยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยี การสื่อสาร การเงิน และสินค้าฟุ่มเฟือย ผสมผสานทั้งกลุ่ม Old Economy และ New Economy

หุ้นเวียดนามที่มีสัดส่วนน้ำหนักมากที่สุดของดัชนี MSCI Vietnam ได้แก่ HOA PHAT GROUP, VINGROUP, VINHOMES, VIETNAM DAIRY PRODUCT และ VIETCOMBANK ชัดเจนว่ายังคงเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยภาคธุรกิจดั้งเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอสังหาฯ การเงิน และอุตสาหกรรมหนัก

กองทุนหุ้นจีนแนะนำ 

สำหรับใครที่สนใจลงทุนหุ้นจีน เชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจอันแข็งแกร่ง และมองว่าถึงเวลาแล้วที่มังกรหลับจะกลับมาผงาดอีกครั้ง เราได้รวบรวมรายชื่อกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ซึ่งคัดสรรมาอย่างดีโดย FINNOMENA FUNDS Investment Team 

  • K-CHINA-A(A) กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน-A ชนิดสะสมมูลค่า

กองทุนตามคำแนะนำ MEVT Call เพื่อเป้าหมายลงทุนในระยะกลาง-ยาว ราว 6 – 12 เดือน และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในระยะสั้น 

  • K-CHINA-SSF กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน ชนิดเพื่อการออม

กองทุนตามคำแนะนำ FINNOMENA FUNDS Pick สำหรับลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม SSF

  • KCHINARMF กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ

กองทุนตามคำแนะนำ FINNOMENA FUNDS Pick สำหรับลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF

ศึกษารายละเอียดของกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/fund/

กองทุนหุ้นเวียดนามแนะนำ

สำหรับใครที่สนใจลงทุนหุ้นเวียดนาม เชื่อมั่นในเศรษฐกิจดาวรุ่ง และมองเห็นอนาคตข้างหน้าของเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย เราได้รวบรวมรายชื่อกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งคัดสรรมาอย่างดีโดย FINNOMENA FUNDS Investment Team 

  • PRINCIPAL VNEQ-A กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า

กองทุนตามคำแนะนำ MEVT Call เพื่อเป้าหมายลงทุนในระยะกลาง-ยาว ราว 6 – 12 เดือน และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในระยะสั้น 

  • SCBVIET(SSFA) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นเวียดนาม (ชนิดเพื่อการออมแบบสะสมมูลค่า) 

กองทุนตามคำแนะนำ FINNOMENA FUNDS Pick สำหรับลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม SSF

  • KVIETNAMRMF กองทุนเปิดเค เวียดนาม หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ

กองทุนตามคำแนะนำ FINNOMENA FUNDS Pick สำหรับลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF

ศึกษารายละเอียดของกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/fund/

กองทุนจีนvsกองทุนเวียดนาม

สรุปแล้วนี่เป็น 2 ตลาดหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลและคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายของตัวเองได้เลย ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงการลงทุนในจีนและเวียดนามได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก และมีตัวเลือกมากมาย


แหล่งข้อมูล

คำเตือน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวม SSF และ RMF กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขกองทุน | การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน |  ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนมีการลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT” | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299