การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4: เมื่อกฏหมายก้าวไม่ทันโลกที่หมุนไป

ขอต้อนรับเข้าสู่ ซีรีย์ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” จากบทความ “เรากำลังอยู่ในยุค ที่มีคนรู้ว่าเราคิดอะไรก่อนที่เราจะคิด”  ที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า เรากำลังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นของการปฏิวัติครั้งใหม่ หากนับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้คือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” การปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งนี้จะไม่เหมือนสิ่งใด ๆ ที่มนุษย์อย่างเราประสบพบเจอมาก่อน

การปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยโลกของเรานี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษช่วงปี ค.ศ. 1760 หรือ 258 ปีก่อน เป็นการปฏิวัติจากแรงงานคนและสัตว์มาเป็น “เครื่องจักรไอน้ำ” ทำให้งานที่ต้องใช้แรงงานซ้ำ ๆ ถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรไอน้ำและใช้ถ่านหินเป็นพลังงานทางการผลิต ในยุคนี้มีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ “เครื่องทอผ้า” การทอผ้าจากที่เคยเป็นเรื่องยากใช้เวลาในการทำและใช้แรงงานคนมากมาย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นการใช้เครื่องจักรไอน้ำทำให้เสื้อผ้ามีราคาที่ถูกลงผู้คนเข้าถึงสินค้าที่ดีในราคาที่ถูกได้ง่ายขึ้น ในทางกลับกันการปฏิวัติครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบต่ออาชีพแรงงาน เช่น แรงงานทอผ้ามากมายในประเทศอังกฤษค่อย ๆ หายไป

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งถัดมาเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 1870 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากพลังงานถ่านหินมาสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า ก๊าซและน้ำมัน ด้วยระบบไฟฟ้าและการใช้สายพานในขบวนการผลิต ส่งผลให้เกิดการผลิตจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นและต้นทุนการผลิตลดลง จึงเกิดเป็นยุคที่มีสินค้าเหมือนๆกันจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่า Mass Production ทำให้โรงงานที่มีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งได้เปรียบในการประหยัดต่อขนาด หรือ Economy of scale

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ได้พัฒนาจากครั้งที่ 2 การเกิดขึ้นของไฟฟ้านำมาสู่การพัฒนาระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ “คอมพิวเตอร์” คอมพิวเตอร์เครื่องแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1946 และนำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1970 ทำให้เกิดการผลิตแบบอัตโนมัติขึ้น ส่งผลให้ขบวนการผลิตมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ในปัจจุบันนี้แทบทุกโรงงานต่างมีระบบการผลิตแบบอัตโนมัติเข้าไปเป็นส่วนช่วยในการผลิต ทำให้ต้นทุนในการผลิตถูกลง สินค้ามีราคาที่ถูกยิ่งกว่าเดิม ส่งผลดีต่อผู้บริโภค

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่อย่างที่กล่าวได้ว่าโลกจะพลิกจากหลังมือไปหน้ามือ ทั้งในแง่ของขนาด ความเร็ว และขอบเขต การปฏิวัติครั้งนี้โลกจะก้าวเร็วขึ้นแบบทวีคูณ ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนี้ ?

– ความเร็ว – หากเราย้อนดูในอดีตการปฏิวัตที่ผ่านมา การปฏิวัติครั้งแรกห่างจากโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน 250 ปี การปฏิวัติครั้งที่สองห่างจากปัจจุบัน 150 ปี การปฏิวัติครั้งล่าสุดห่างจากจุดที่เราอยู่ ณ ตรงนี้ 50 ปี หากนับระยะเวลาของแต่ละช่วงแล้ว โลกกำลังหมุนเร็วขึ้นแบบทวีคูณ ไม่ใช่เป็นการเดินแบบเส้นตรงอย่างที่ผ่านมา

– ความกว้าง – การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อประชากรโลกเพียง 17% เท่านั้น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ก็เช่นกัน ประชากร 4,000 ล้านคนยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาระบบอินเตอร์เน็ตได้แทรกซึมไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก รายงานล่าสุดในปี 2017 ที่ผ่านมาพบว่าผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เนตแล้วกว่า 3,700 ล้านคน คิดเป็น 50% ของประชากรทั้งโลก สิ่งนี้ทำให้โลกเชื่อมถึงกันได้มากขึ้น

หนังสือ The Fourth Industrial RevolutionThe Fourth Industrial Revolution ได้กล่าวไว้ว่าสิ่งสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจจะไม่ใช่การลดต้นทุนอีกต่อไป แต่คือนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ดั่งเช่น

“อูเบอร์” บริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีรถในครอบครอง

“เฟซบุ๊ก” บริษัทสื่อที่มีมูลค่ามากกว่า GDP ประเทศไทย แต่ไม่ได้มีเนื้อหาของตัวเองเลย

“Airbnb” บริษัทจัดหาที่พักที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีห้องพักของตนเองสักห้องเดียว

หากเพื่อน ๆ ได้อ่านถึงตรงนี้ลองพิจารณาถึงทักษะของตนเองและงานที่ทำอยู่ว่าได้รับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ในรายงานการวิจัยของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้ว่า แรงงานกว่า 47% มีความเสี่ยงที่จะหายไปใน 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะแรงงานที่มีลักษณะทำซ้ำและมีรายได้ปานกลางจะหดหายไปอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตามนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการปฎิวัติอุตสาหกรรมแม้จะทำลายงานไปบางส่วน แต่ก็มักจะสร้างงานใหม่ ๆ ในกิจกรรมอื่น ๆ ทดแทนขึ้นมาเช่นกัน

แล้วเพื่อนๆ ว่างานลักษณะใดคือโอกาส และงานลักษณะใดที่จะได้รับผลกระทบในอนาคตอันใกล้บ้างครับ ?

บันทึกการลงทุน
ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/valuewaynjr/

TSF2024