การลงทุนในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นที่นิยมอย่าง การลงทุนหุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้น แต่ผลตอบแทนสูง ในรูปแบบใหม่ ๆ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ “หุ้นกู้ Crowdfunding”

หุ้นกู้ Crowdfunding คืออะไร ?

รูปที่ 1 คำจำกัดความและสรุปสิ่งที่นักลงทุนต้องรู้เกี่ยวกับหุ้นกู้ Crowdfunding
ที่มา : FINNOMENA

อันดับแรกเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า Crowdfunding คือ การระดมทุนรูปแบบหนึ่งจากนักลงทุนหรือบุคคลทั่วไปในจำนวนเงินไม่มาก แต่หลาย ๆ คนรวมกันจนเป็นเงินก้อนใหญ่ ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (Funding Portal) เพื่อจุดประสงด์ใดจุดประสงค์หนึ่ง อย่างเช่น มอบให้โรงพยาบาลที่อยากช่วยเหลือ ไว้เป็นกระแสเงินสด เงินทุนหมุนเวียน ให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือต่อยอดธุรกิจ เป็นต้น

ส่วนหุ้นกู้ Crowdfunding คือ หนึ่งในรูปแบบการระดมทุนที่อยู่ในรูปแบบของหลักทรัพย์ (Investment Crowdfunding) จะเป็นการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ โดยนักลงทุนจะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ ได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยและเงินต้นเมื่อครบสัญญา คล้ายการระดมทุนแบบกู้ยืม (Peer to Peer Lending) แต่ต่างกันตรงที่การกู้ยืมนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดา แต่หุ้นกู้จะต้องเป็นนิติบุคคลที่เป็น SMEs หรือ Startup เพราะวงเงินและระยะเวลาในการชำระคืนเหมาะสมกับขนาดธุรกิจ ทำให้ความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้นั้นต่ำกว่าแบบกู้ยืม

และเนื่องจากการระดมทุนแบบ Investment Crowdfunding ที่ให้หุ้นหรือหุ้นกู้เป็นสิ่งตอบแทน  ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่ง จึงอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย

การลงทุนในธุรกิจ SMEs ด้วยหุ้นกู้ Crowdfunding

SMEs หรือ Startup ที่เพิ่งเริ่มต้นการทำธุรกิจ หลายครั้งต้องเจอปัญหาเงินทุนไม่เพียงพอ มีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในต่างประเทศจึงนิยมระดมทุนด้วยหุ้นกู้ Crowdfunding ที่จะนำธุรกิจของตนออกมาระดมทุนจากนักลงทุนในลักษณะการออกหุ้นกู้ผ่านตัวกลาง (Funding Portal) ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยนั้น มีการระดมทุนกันที่ระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 2 ปี โดยวงเงินที่นิยมจะอยู่ที่ตั้งแต่ 2 ล้านบาท ไปจนถึง 20 ล้านบาท

ในการระดมทุนด้วยหุ้นกู้ Crowdfunding จะเริ่มต้นจากการที่เจ้าของธุรกิจ SMEs และ Startup ยื่นขอระดมทุนผ่าน Funding Portal จากนั้นจะทำการคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง และจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แล้วตกลงเรื่องวงเงินและดอกเบี้ย จึงออกมาเป็นหุ้นกู้ หากนักลงทุนสนใจในธุรกิจไหน ก็สามารถเลือกลงทุนในหุ้นกู้ธุรกิจนั้น ๆ ได้ผ่านแพลตฟอร์มของ Funding Portal ซึ่งสามารถลงทุนได้หลายธุรกิจ เมื่อระดมทุนได้ตามวงเงินที่ตั้งไว้แล้ว Funding Portal จะมอบเงินที่ระดมทุนได้ให้แก่ธุรกิจนั้นไปใช้ตามแผนงาน และจัดการเรื่องดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นระหว่างนักลงทุนและธุรกิจให้ตามสัญญา

ข้อดีของการลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding

  1. มี Funding Portal คัดกรองบริษัท ประเมินความเสี่ยง และจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้
    ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดกรองบริษัทคือ Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงการลงทุนในด้านต่าง ๆ ของธุรกิจที่จะเข้ามาออกหุ้นกู้ เช่น ประเภทธุรกิจ งบการเงิน ประวัติทางการค้า มีโครงการหรือแผนธุรกิจที่จะใช้เงินระดมทุนนี้ที่ชัดเจน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล รวมถึงคิดคำนวณออกมาเป็น Credit Rating ด้วย Credit Scoring Engine ของแพลตฟอร์มนั้น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน
  2. ผลตอบแทนแน่นอน ไม่ผันผวน
    ด้วยความที่การลงทุนหุ้นกู้ นักลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ จึงได้ผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดรายเดือนพร้อมดอกเบี้ยคงที่ ที่มีความแน่นอน ไม่มีความเสี่ยงจากการที่ราคาหรือผลตอบแทนปรับตัวขึ้นลง (market risk) แต่ยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูง ระดับอัตราผลตอบแทนอาจอยู่ในระดับ 4%-15% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามหลัก High risk High return
  3. เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี
    การลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding สามารถกระจายการลงทุนเป็นหน่วยย่อย ๆ ในหลาย ๆ ธุรกิจได้ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ช่วยกระจายความเสี่ยง (Diversification) ได้ดีกว่าการลงทุนในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในครั้งเดียว
  4. มีระยะเวลาการถือครองสั้น
    หุ้นกู้ Crowdfunding ในประเทศไทยมีระยะเวลาการระดมทุนระยะสั้นโดยส่วนมากจะถือครอง 30-120 วัน หรือ 6 เดือน – 1 ปี ทำให้มีสภาพคล่องสูงแม้ไม่มีการซื้อขายในตลาดรอง

สิ่งที่ควรศึกษาก่อนลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding

  1. แผนธุรกิจที่ผู้ออกนำเสนอไว้บน Funding Portal
    สิ่งแรกที่ควรศึกษาก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน คือ ควรศึกษาและอ่านรายละเอียดของแผนธุรกิจที่ผู้ออกนำเสนอไว้บน Funding Portal ซึ่งเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างบริษัทและผู้ลงทุนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้ทราบเหตุผลของการขอระดมทุนว่าสอดคล้องกับทิศทางและแผนธุรกิจของบริษัทหรือไม่ และบริษัทจะสามารถมีกระแสเงินสดกลับมาเพื่อชำระคืนหุ้นกู้เมื่อครบกำหนดได้หรือไม่
  2. ความน่าเชื่อถือและความสามารถในการชำระหนี้
    ถึงแม้ว่าการลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding จะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของ market risk แต่ก็มีความเสี่ยงสูงจากการที่บริษัทผู้กู้หาแหล่งเงินทุนทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากธนาคาร หรือการออกหุ้นกู้แบบจัดอันดับเครดิต นักลงทุนควรตระหนักและศึกษาให้ดีว่าบริษัทนั้น ๆ มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะชำระหนี้คืนเป็นอย่างไรบ้าง โดยสามารถพิจารณาจากการประเมิน Credit Score โดย Funding Portal เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทผู้ระดมทุนได้
  3. ผลการดำเนินงานและประเภทของกลุ่มธุรกิจ
    เนื่องจากผู้ระดมทุนส่วนใหญ่เป็น SMEs หรือ Startup ที่เพิ่งทำธุรกิจได้ไม่นาน หากต้องการความมั่นใจในตัวธุรกิจ นักลงทุนก็ควรที่จะดูผลการดำเนินงานของธุรกิจนั้น ๆ ร่วมด้วย โดยจะต้องเข้าไปดูตั้งแต่งบการเงิน ความสามารถในเชิงการแข่งขัน แนวโน้มการเติบโต รวมถึงที่มาของรายได้ และค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถประเมินความสามารถในการชำระคืนหุ้นกู้ในอนาคตได้

Crowdfunding รูปแบบอื่น ๆ

และนอกจากหุ้นกู้ Crowdfunding ก็ยังมี Crowdfunding ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน โดยจะแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

รูปที่ 2 รูปแบบของ Crowdfunding
ที่มา : FINNOMENA

  1. ระดมทุนเพื่อการบริจาค (Donation Based Crowdfunding)
    เป็นการระดมทุนแบบให้เปล่า โดยที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ แต่ได้ใจไปล้วน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรการกุศล มูลนิธิต่าง ๆ หรือโครงการที่ทำเพื่อสังคม เช่น โครงการหนึ่งคนว่ายหลายคนให้ของโตโน่ ภาคิน ว่ายน้ำข้าม 2 ฝั่งโขง (ไทย-ลาว) เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลทั้งสองฝั่งโขง เป็นต้น
  2. ระดมทุนแลกกับสิ่งของ (Reward Based Crowdfunding)
    เป็นการระดมทุนอีกรูปแบบที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินเป็นสิ่งตอบแทน แต่จะได้รับเป็นสินค้าหรือของที่ระลึก คล้ายกับการจ่ายเงินเพื่อพรีออเดอร์สินค้าที่ยังไม่มีการผลิต มีเพียงต้นแบบและไอเดียเท่านั้น โดยผู้ที่สนใจสินค้านั้น ๆ ก็จะลงเงินเพื่อระดมทุนให้เจ้าของไอเดียผลิตสินค้าออกสู่ตลาด และได้รับสินค้านั้นเป็นสิ่งตอบแทน
  3. ระดมทุนแบบกู้ยืม (Peer to Peer Lending)
    เป็นการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงิน โดยเป็นการจับคู่ระหว่างนักลงทุน (คนให้ยืม) กับผู้ประกอบการหรือบุคคลธรรมดา (ผู้กู้ยืม) โดยมีแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลาง รวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนตามจำนวนที่ผู้กู้ยืมต้องการ โดยที่ผู้กู้ยืมต้องชำระเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุนตามข้อตกลง
  4. ระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment Crowdfunding)
    การระดมทุนรูปแบบนี้ นอกจากประเภทหุ้นกู้ (Debt Crowdfunding) ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก็ยังมีประเภทหุ้น (Equity Crowdfunding) อีกด้วย ซึ่งก็คือการระดมทุนด้วยการออกหุ้นให้แก่ผู้ลงทุน เมื่อผู้ลงทุนทำการซื้อหุ้นจะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของบริษัทตามสัดส่วนเงินที่ลงทุน ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือการนำหุ้นไปขายต่อได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท

สรุป

การลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงทุนในการเพิ่มพอร์ตการลงทุนและกระจายความเสี่ยงไปยัง SMEs ที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมากในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผลดีและช่วยสนับสนุน SMEs ไทยที่มีไอเดียในการทำธุรกิจให้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อต่อยอดพัฒนาธุรกิจและเติบโตต่อไปได้อีกด้วย

 อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด หากนักลงทุนท่านใดสนใจการลงทุนใน หุ้นกู้ Crowdfunding สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://finno.me/svdwsatc

และสามารถ Add LINE เพื่อติดตามข่าวสารได้ที่ @siamvalidusdefinit หรือคลิก https://lin.ee/ud9dk51

อ้างอิง


คำเตือน

การลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนที่มีความรู้และเข้าใจในด้านความเสี่ยง และมีความสามารถในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ซึ่งเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนของตนเอง โดยการลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงผู้ลงทุนควรพิจารณาเป็นการลงทุนจนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้และไม่มีสภาพคล่อง รวมทั้ง หุ้นกู้คราวด์ฟันดิงเป็นการลงทุนที่ไม่ได้รับประกันความเสี่ยงจากบุคคลที่สาม และไม่ได้รับความคุ้มครองจากหน่วยงานใดๆ ของรัฐ ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะสูญเสียเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องทำความเข้าใจลักษณะของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ศึกษารายละเอียดในหนังสือชี้ชวน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และสามารถรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ก่อนตัดสินใจลงทุน

TSF2024