บทความที่แล้วเราได้เล่าไปว่า Starbucks มีกลยุทธ์ทำการตลาดอย่างไรถึงได้สามารถครองตลาดไปทั่วโลก ใครยังไม่ได้อ่าน คลิกที่นี่ได้เลยครับ
มาย้อนความกันหน่อย…
- Starbucks ทำธุรกิจคั่วเมล็ดกาแฟ ขายเครื่องดื่มรวมทั้งอาหารตามร้านของตัวเอง โดย Starbucks ไม่ได้ปลูกเมล็ดกาแฟเอง และมีการดำเนินธุรกิจแบบ B2C (Business to Customer)
- การเติบโตของ Starbucks เปรียบเสมือนของ CPALL คือโตจากการขยายสาขาและการเพิ่มรายได้ต่อสาขา (SSS Growth)โดยในปี 2017 Starbucks รายได้โตขึ้น 5% และกำไรโตขึ้น 2%
การขยายสาขาของ Starbucks
- การดำเนินธุรกิจร้าน Starbucks แบ่งเป็น 2 ประเภท 1) บริหารโดยบริษัทเอง (Company-operated) 2) ให้เช่าลิขสิทธิ์ (Licensed) โดยปัจจุบันรายได้จากการบริหารโดยบริษัทเองนั้นมีมากถึง 79% ของรายได้รวม และมียอดขายมาจากเครื่องดื่ม 73%
- จำนวนสาขาที่เป็นการบริหารโดยบริษัทเองนั้นมี 13,275 สาขา ส่วนที่เป็นลิขสิทธิ์มี 14,067 สาขา หมายความว่าร้านแบบการบริหารโดยบริษัทเองนั้นสร้างรายได้ต่อสาขามากถึง $1.32 ล้าน ในขณะที่แบบลิขสิทธิ์สร้างรายได้ต่อสาขา $0.16 ล้านต่อปี
การเติบโตของตลาด / การเติบโตของส่วนแบ่งตลาด ของ Starbucks
- รายได้ตามกลุ่มลูกค้า (Segment) ของ Starbucks แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม แต่กลุ่มที่โตที่สุดคือจีน/เอเชียแปซิฟิค ที่สร้างรายได้ 14.5% นอกจากนี้ Starbucks ถือเป็นแบรนด์ที่คนจีนชอบและยินดีจ่ายในราคาสูงอีกด้วย
- กลุ่มที่สร้างรายได้ให้ Starbucks มากที่สุดคือทวีปอเมริกา อย่างประเทศสหรัฐฯ แคนาดา และลาตินอเมริกา ที่สร้าง 69.9% ของรายได้รวม
อเมริกาใหญ่สุด
- ยอดขายในอเมริกามีการเติบโต 6% เนื่องจากการเพิ่มสาขาใหม่ 383 สาขาแบบที่เป็นการบริหารโดยบริษัทเอง และขนาดบิลใหญ่ขึ้น 4%
- แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) ของอเมริกาลดลงเพราะมีการเพิ่มจำนวนพนักงาน และได้ลงทุนในระบบดิจิตอลมากขึ้น
จีน/เอเชียแปซิฟิคโตเร็วสุด
- ยอดขายของจีน/เอเชียแปซิฟิคโต 10% เนื่องจากการเพิ่มสาขาใหม่ 392 สาขาแบบที่เป็นการบริหารโดยบริษัทเอง และมีการเพิ่มรายได้ต่อสาขา 3%
- อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) ของจีน/เอเชียแปซิฟิคเพิ่มขึ้นดีมาก หลักๆ มาจากการปรับภาษีในจีนที่ทำให้เสียภาษีน้อยลง
ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา (กลุ่ม EMEA) มีการเปลี่ยนแปลงเยอะสุด
- ยอดขายลดลง 10% เพราะมีการปรับลดจำนวนสาขาแบบที่เป็นการบริหารโดยบริษัทเองไปเป็น แบบให้เช่าลิขสิทธิ์แทน คาดว่า Starbucks กำลังลดโฟกัสตรงนี้ลงแล้วไปโฟกัสจีน/เอเชียแปซิฟิคแทนซึ่งมีการเติบโตที่ดีกว่า อีกอย่างคือ ยอดขายต่อสาขาแบบที่เป็นการบริหารโดยบริษัทเองใน EMEA สูงมากกว่า Starbucks ในจีน/เอเชียแปซิฟิคอีก แต่ยอดขายก็ปรับลดลงเยอะมาก
- อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) ปรับลดลงทุกปีเช่นกันเพราะมีการปรับลด ร้านที่บริหารโดยบริษัทเองไปเป็นแบบเช่าลิขสิทธิ์แทน ซึ่งสาขาแบบที่บริหารโดยบริษัทเองจะมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Margin) ที่ดีกว่าแบบเช่าลิขสิทธิ์
กลยุทธ์ Starbucks: สินค้าใหม่, เพิ่ม Margin, เพิ่ม Turnover, เพิ่มขนาดบิล
- สัดส่วนระหว่าง เครื่องดื่ม อาหาร (ทั้งแบบบรรจุภัณฑ์และแบบเสิร์ฟ) ใน 3 ปีที่ผ่านมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่ายังไม่มีสินค้าในกลุ่มไหนปังเลย เพราะสินค้าในแต่ละที่ไมได้เหมือนกันหมด บางทีปังในบางประเทศแต่ไม่ปังในอีกประเทศ
- Starbucks สามารถเพิ่มอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Margin) ได้ด้วยการเปิดสาขาแบบ ที่บริหารโดยบริษัทเอง ซึ่งจะมี Gross Margin ดีกว่าในรูปแบบให้เช่าลิขสิทธิ์
สหรัฐอเมริกา
- ในสหรัฐฯ รายได้ 50% เกิดขึ้นระหว่างร้านเปิดจนถึง 11 โมงซึ่งถือเป็นช่วงพีคของ Starbucks แต่รายได้ในตอนกลางวันถือว่าอ่อนตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากยอดขายที่ลดลงของแฟรปปูชิโน่ (เครื่องดื่มปั่นที่ขายได้ในหน้าร้อนตอนนี้สร้างรายได้น้อยกว่า 15%)
- ยังไม่มีเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ที่จะมาทดแทนได้ แต่คาดว่าเบียร์ไนโตรเจน (Nitro Beer) อาจเข้ามาแทนได้ถ้า Starbucks สามารถทำให้เป็นเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ (Mass) มากขึ้น
- ช่วงที่ไม่ใช่เทศกาล ลูกค้าเข้าน้อยลง รวมถึงลูกค้าประจำก็ซื้อ Starbucks เพียงแก้วเดียวไม่ใช่ 2 แก้ว เพราะคนอเมริกันมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คนอเมริกันชอบแบบซื้อกลับไปทาน (Take-Away) และตอนนี้คนอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ออกมาข้างนอกน้อยลงทำให้โอกาสในการเห็นร้าน Starbucks ลดลงตามไปด้วย (ในไทยคนไทยชอบไปนั่งทำงานไม่ได้เน้น Take Away เป็นหลัก ร้าน Starbucks ในไทยเลยแน่น)
- Starbucks บางสาขามีปัญหาคือคนเยอะ และมีลูกค้าที่ไม่ซื้อ Starbucks เพราะไม่อยากรอคิว Starbucks มีการจัดการในร้านให้เร็วขึ้นเล็กน้อยบวกกับใช้ระบบสั่งซื้อและจ่ายผ่านมือถือ สามารถสั่งออนไลน์แล้วเดินไปรับที่ร้านใกล้ๆ ได้เลย ตรงนี้เราคิดว่าสามารถเพิ่มรายได้ต่อสาขาและอัตราหมุนเวียน (Turnover) ได้
- คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Starbucks Rewards ก็สามารถใช้แอพนี้ได้ เพราะ 60% ของการใช้จ่ายเกิดขึ้นจากคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่คนที่เป็นสมาชิกจะมีขนาดค่าใช้จ่ายต่อบิลมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกถึง 3 เท่า
จีน/เอเชียแปซิฟิค
- ช่วงบ่ายถึงเย็นเป็นช่วงพีคของประเทศเหล่านี้ ไม่เหมือนตอนเช้าเหมือนสหรัฐฯ และลูกค้าชอบนั่งกินที่ร้าน ไม่ใช่ Take Away
- ลูกค้าเข้ามาที่ร้าน 8-9 ครั้งต่อเดือน ขณะที่ในสหรัฐฯ นั้นมากถึง 15-16 ครั้ง
- ราคาไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับตลาดนี้
- ยังไม่มีระบบจ่ายเงินออนไลน์ แต่จะมีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะทำให้อัตราหมุนเวียน (Turnover) สูงขึ้นอีก
ต้นทุนหลักของ Starbucks
- วัตถุดิบ มีเมล็ดกาแฟ น้ำนม ชา อาหาร พลาสติกและกระดาษที่ใช้เยอะ
- ถึงเมล็ดกาแฟจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นลงเยอะมาก แต่ Starbucks จะซื้อกาแฟในราคาที่แพงกว่า Coffee C ซึ่งเป็นราคาตลาด คิดว่าเวลา Coffee C ราคาขึ้น Starbucks อาจขึ้นราคาน้อยกว่าเพราะด้วยความเป็นรายใหญ่ และที่ผ่านมาอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ก็แกว่งไม่แรงเลย
สรุป
- ตลาดที่ใหญ่มากๆ ต่อไปคือจีน ซึ่งตอนนี้มีร้านแบบที่บริหารโดยบริษัทเอง 1,540 สาขา เทียบกับ สหรัฐฯ ที่มี 8,222 สาขา
- เมืองจีนยังโตได้อีกเยอะมาก + อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) ใน จีน/แปซิฟิคสูงกว่า Starbucks ในทวีปอเมริกาไปแล้วทำให้มีนัยยะต่อกำไรมากขึ้นอีก ถึงแม้คนอเมริกันจะเข้า Starbucks มากกว่าเอเชียแปซิฟิคถึงสองเท่า แต่ประชากรจีนรายได้ดีมีกว่าหลายร้อยล้านคน คาดว่าสัดส่วนยอดขายของ Starbucks จะเปลี่ยนอย่างแน่นอน
- การพัฒนาช่องทางการขาย (Channel Development) คือ เมล็ดกาแฟ Starbucks และพวกเครื่องดื่มพร้อมดื่ม (Ready-to-Drink) มีนัยยะต่อกำไรมากๆ เพราะอัตรากำไร (Margin) สูง 44.5%
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของ Starbucks
- เมื่อก่อน ช่วงไฮ-ซีซั่นจะเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล คือไตรมาสที่ 1 เพราะมีลูกค้าซื้อการ์ดไปแจกเยอะ (อาจได้โบนัสสิ้นปีมาเยอะด้วย)
- แต่หลังจากเปลี่ยนการบันทึกกำไรจากบันทึกตอนเติมเงินเข้าบัตรเป็นบันทึกตอนเงินในบัตรถูกใช้แทนทำให้ลดความเป็น Seasonal ลง
- ปี 2013 ที่กำไรเหลือน้อยนิดเพราะมีการทำ Arbitration กับบริษัท Kraft Foods Global, Inc. ทำให้โดนค่าปรับเยอะมาก (Kraft เป็นผู้ผลิตซอส Heinz)
- Starbucks ดูแลพนักงานเป็นอย่างดี มีประกันสุขภาพให้ทั้งพนักงานประจำและพาร์ทไทม์ เพราะตอนเด็กๆ พ่อของ Howard Schultz ประสบอุบัติเหตุขาหักแต่ไม่มีเงินรักษาพยาบาลเลย
- เรียกพนักงานว่าพาร์ทเนอร์ (Partners) ไม่ใช่แค่ลูกจ้าง (Employees)
หมายเหตุ: งบการเงินเป็นรอบสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2017 ยอดจำนวนร้านก็เช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง:
https://investor.starbucks.com/financial-data/quarterly-results/default.aspx
https://s22.q4cdn.com/869488222/files/doc_financials/annual/2017/01/FY17-Starbucks-Form-10-K.pdf
https://www.youtube.com/watch?v=T9JbcpOR2lw
https://www.youtube.com/watch?v=LnA7n9qSB7E
https://martinroll.com/resources/articles/strategy/secret-starbucks-brand-success/
https://www.linkedin.com/pulse/how-starbucks-became-successful-without-advertising-gabriela-borja/
https://www.referralcandy.com/blog/starbucks-marketing-strategy/
https://s22.q4cdn.com/869488222/files/doc_financials/annual/2016/FY16-Annual-Report-on-Form-10-K.pdf
http://www.businessinsider.com/why-starbucks-doesnt-franchise-2016-9
https://www.ukessays.com/essays/marketing/starbucks-international-entry-methods-marketing-essay.php
J.P. Morgan