ถ้าพูดถึงร้านอาหารอย่าง Greyhound Cafe, Another Hound Cafe, Dunkin’ Donuts, Au Bon Pain และ Baskin-Robbins คาดว่าทุกคนคงรู้จักกันดี
ร้านเหล่านี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ร้านอาหารเหล่านี้ในประเทศไทยถูกดำเนินงานโดย บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) หรือ MM นั่นเอง
MM เป็นบริษัทประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยธุรกิจที่ประกอบหลักๆ คือร้านอาหารและเครื่องดื่ม แบ่งเป็น 3 ธุรกิจ
รายได้รายธุรกิจของ MM ปี 2560 มีดังนี้
ธุรกิจ | ดำเนินการโดย | รายได้ (ล้านบาท) | สัดส่วน ร้อยละ |
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้สิทธิ์แฟรนไชส์ |
GDT, ABP, GS | 1,886 | 63.5% |
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง |
MM, GHC, SLVH | 936 | 31.5% |
ธุรกิจไลฟ์สไตล์ | GHF | 148 | 5% |
โดยบริษัทของ MM มีรายละเอียดการทำธุรกิจดังนี้
บริษัท | |
GDT | ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ (Master Franchise Agreement) จาก Dunkin’ Donuts Franchised Restaurants LLC |
ABP | ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ (Master Franchise Agreement) จาก ABP Corporation (ประเทศสหรัฐอเมริกา) หรือร้าน Au Bon Pain นั่นเอง |
GS | ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ (Master Franchise Agreement) จาก Baskin Robbins Franchising LLC (ประเทศสหรัฐอเมริกา) |
GHC | เจ้าของร้าน Greyhound Café / Another-Hound Cafe และยังมีร้านอาหาร M-Kitchen, Le Grand Vefour |
GHF | ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่น สำเร็จรูป ทั้งสุภาพบุรษและสุภาพสตรี |
จุดเด่นและจุดอ่อนของ MM
จุดเด่นของ MM คือ การเป็นเจ้าของร้านอาหารที่มีชื่อเสียงหลายร้าน ซึ่ง MM ไม่ได้เสียเวลาสร้างแบรนด์ใหม่ เพราะไปขอซื้อแฟรนไชส์จากบริษัทต่างชาติเหล่านี้มา ทำให้ MM สามารถมีแบรนด์ที่ดีภายในเวลาไม่นาน
แต่จุดอ่อนของ MM ก็คือ การที่รายได้สัดส่วนเกิน 60% มาจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้สิทธิ์แฟรนไชส์ ถ้าบริษัทต่างชาติเปลี่ยนการดำเนินงานลงมาบุกตลาดไทยเอง และทำการยกเลิกสัญญาแฟรนไชส์กับ MM ก็จะส่งผลกระทบในแง่ลบ
ประวัติการดำเนินงานของ MM (ที่มา: SET Opp Day 1Q2560)
MM มีการขอสิทธิ์แฟรนไชส์จากบริษัทต่างประเทศมาโดยตลอด และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560
รายได้และจำนวนร้านของ MM (ที่มา: SET Opp Day 1Q2560)
รายได้ของ MM มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี ตามการเปิดตัวของสาขาใหม่ที่มีมากขึ้น
โดยธรรมชาติของธุรกิจร้านอาหารจะมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin หรือ GPM) ค่อนข้างสูง MM เองก็มี GPM% สูงเกือบ 60% เช่นกัน แต่ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารและขายที่สูง คือ ค่าเช่าพื้นที่ร้าน ค่าพนักงานประจำร้าน จึงยังทำให้ MM มีผลขาดทุนอยู่ในปี 2560 นั่นเอง
เมื่อเปรียบเทียบอัตรากำไรขั้นต้นของ MM กับคู่แข่ง
อัตรากำไรขั้นต้น % ปี พ.ศ. 2560 | |
MM | 56.5% |
M (ร้านอาหาร MK สุกี้) | 66.2% |
MINT (ร้านอาหาร Sizzler, Swensens ฯลฯ) | 55.1% |
CENTEL (ร้านอาหาร Ootoya, Pepper Lunch ฯลฯ) | 40.7% |
AU (ร้านขนมหวาน After U) | 65.2% |
โดยสรุปแล้ว MM เป็นบริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแนวตะวันตก ซึ่งทำให้คนไทยได้ลิ้มลองอาหารตะวันตกคุณภาพดีได้ในประเทศไทย ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า MM จะสามารถพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรศึกษาปัจจัยรอบด้านประกอบกันไปก่อนตัดสินใจลงทุนครับ
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.finnomena.com/stock/MM
http://www.dcs-digital.com/setweb/downloads/2560q1/20170609_mm.pdf
https://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=MM&ssoPageId=3&language=th&country=TH
https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=MM&ssoPageId=5&language=th&country=TH
—————————-
Vithan Minaphinant
Securities Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด
ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้