นับวันเทรนด์คนรักสุขภาพก็มาแรงขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากงานอีเว้นท์วิ่งต่าง ๆ ในวันอาทิตย์ที่ต้องปิดถนนสักเลนหนึ่งเพื่อให้คนที่ชื่นชอบในการวิ่งได้วิ่งกันยาว ๆ
นอกจากหุ้นโรงพยาบาล หุ้นวิตามินและอาหารเสริม ยังมีหุ้นน้ำผลไม้ที่อยู่ในเทรนด์นี้เช่นกัน ถึงน้ำผลไม้จะมีน้ำตาลสูงมากแต่คนก็ยังคิดว่า อย่างไรเสียการดื่มน้ำผลไม้ย่อมดีกว่าดื่มน้ำอัดลมแน่นอน
วันนี้ผมจะมาขอแชร์เกี่ยวกับบริษัทไทยที่เราต้องรู้จักกันดีเมื่อนึกถึงน้ำผลไม้และผลไม้กระป๋อง นั่นก็คือ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อย่อว่า MALEE ในการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ธุรกิจของ MALEE คือการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้กระป๋องกับน้ำผลไม้ โดยใช้ยี่ห้อว่า MALEE ที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย
กลุ่มสินค้าของ MALEE (ที่มา: SET Opp Day)
โดยรายได้ของ MALEE ถูกแบ่งออกเป็น 4 ทาง
1) ยี่ห้อในประเทศ คือสินค้ายี่ห้อ MALEE ที่ถูกผลิตและขายในประเทศไทย
2) ยี่ห้อส่งออก คือสินค้ายี่ห้อ MALEE ที่ผลิตในประเทศแต่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
3) Contract Manufacturing Domestic คือสินค้า OEM ที่ MALEE รับจ้างผลิตให้คนอื่นซึ่งเป็นลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย
4) Contract Manufacturing Export คือสินค้า OEM ที่ MALEE รับจ้างผลิตให้ลูกค้าซึ่งส่งออกไปยังต่างประเทศ
รายได้ของ MALEE แบ่งเป็นสัดส่วน ในประเทศและส่งออก ดังนี้
ปี พ.ศ.2559 | ปี พ.ศ.2560 | |
ในประเทศ | 61% | 64% |
ส่งออก | 39% | 36% |
รายได้ของ MALEE แบ่งเป็นสัดส่วนยี่ห้อตัวเองและ OEM ดังนี้
ปี พ.ศ.2559 | ปี พ.ศ.2560 | |
ยี่ห้อตัวเอง | 45% | 46% |
OEM | 55% | 54% |
รายได้ของ MALEE สูงถึงห้าพันล้านเลยทีเดียว
ปี พ.ศ. | รายได้ (ล้านบาท) | กำไร (ล้านบาท) |
2558 | 5,512 | 331 |
2559 | 6,579 | 530 |
2560 | 5,988 | 286 |
หากดูรายได้รวม ก็ถือว่า MALEE โตมากในปี 2559 แต่รายได้ก็ลดลงมาในปี 2560 ที่ผ่านมา
ยิ่งถ้าดูกำไรของ MALEE แล้ว จะเห็นว่ากำไรรูดลงหนักจากปี 2559
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะในปี 2559 มีกระแสฮิตน้ำมะพร้าวกันทั่วโลก ถ้าเราสังเกตดูดี ๆ เมื่อปี 2559 ก็มีแต่น้ำมะพร้าวเข้ามาเล่นในตลาดน้ำผลไม้กันทั้งนั้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าความฮิตของน้ำมะพร้าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นกระแสไปทั่วโลก
ถ้าถามว่าน้ำมะพร้าวเป็นกระแสขนาดไหน?
ก็ขนาดที่ว่า The Coca-Cola Company ผู้ผลิตเครื่องดื่มโค้ก (Coke) ยังลงมาเล่นในตลาดนี้เลย อีกทั้งยังเป็นลูกค้าของ MALEE อีกด้วย โดยโค้กนั้นให้ MALEE ผลิตน้ำมะพร้าวให้โดยใช้ยี่ห้อว่า ZICO
เพราะกระแสนี้เองที่ทำให้ MALEE ได้รับอานิสงค์ครั้งนี้ไปด้วย เนื่องจาก MALEE เองก็รับจ้างผลิตให้กับลูกค้าเช่นกัน ไม่ได้ผลิตขายแต่ยี่ห้อตัวเอง ตอนที่เกิดกระแสฮิตของน้ำมะพร้าว ลูกค้าทั้งในและนอกประเทศพากันมาจ้าง MALEE ให้ผลิตน้ำมะพร้าวให้เพื่อที่จะได้นำไปขาย เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ MALEE มีรายได้และกำไรที่โตสูงมากในปี 2559 ที่ผ่านมา
ทว่า ‘กระแส’ ก็คือ ‘กระแส’
จริงอยู่ที่น้ำมะพร้าวเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ แต่การเติบโตที่สูงเกินไปไม่ได้หมายความว่าการเติบโตครั้งนั้นจะยืนยาวได้
ในปี 2560 ยอดขายส่งออกของ MALEE ที่เคยผลิต OEM ให้ลูกค้าต่างประเทศกลับลดลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
ถ้าเทียบเฉพาะไตรมาส 4 ปี 2559 การส่งออกของ MALEE มียอดขายที่ 796 ล้านบาท แต่มาไตรมาส 4 ปี 2560 ยอดส่งออกลดลงเหลือ 450 ล้านบาท
โดยสรุปแล้ว MALEE เป็นหุ้นในเทรนด์รักสุขภาพ
ในปี 2559 มีกระแสน้ำมะพร้าวเข้ามาทำให้ยอดขายโตดีมาก แต่ไม่ได้โตในระยะเวลาที่นานอย่างต่อเนื่อง
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า MALEE เป็นหุ้นที่ไม่ดี เพราะข้อมูลจาก Oppday ทางผู้บริหารมีการตั้งเป้าเติบโตค่อนข้างสูง รวมทั้งยังมีการทำข้อตกลงและร่วมบริษัทกับกลุ่มประเทศในอาเซียน จึงยังถือว่าเป็นหุ้นน่าติดตามอีกตัวหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนครับ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
https://www.finnomena.com/stock/MALEE
http://setlive.thailivestream.com/data-file/events/pdf/280218095552-Oppday-MALEE.pdf
https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=MALEE&ssoPageId=5&language=th&country=TH
—————————-
Vithan Minaphinant
Securities Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด
ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้