ในตลาดหุ้นไทยมีหุ้นหลายตัวมากที่ทำธุรกิจเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็น BEAUTY KAMART DDD ซึ่งเป็นหุ้นที่นักลงทุนไทยต้องเคยได้ยินแน่นอน เพราะบางตัวให้ผลตอบแทนหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือแม้กระทั่งพันเปอร์เซ็นต์ภายในเวลาไม่กี่ปี

มีอีกหลายธุรกิจที่เพิ่งหันมาทำธุรกิจเครื่องสำอาง อย่างเช่น RS ที่เคยทำทีวีฯ มาก่อนแต่ตอนนี้กลับสามารถสร้างรายได้จากการขายเครื่องสำอางโดยใช้แพลตฟอร์มทีวีฯ ของตัวเองในการทำโฆษณาและขาย

แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงบริษัทอินเตอร์ฯ อย่าง L’Oréal กัน โดยบริษัทมีชื่อ Ticker ในตลาดหุ้นว่า OR

ปัจจุบัน L’Oréal มีมูลค่าตลาดประมาน 101 พันล้านยูโร หรือประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า BEAUTY 61 เท่าตัวที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 62,000 ล้านบาท ทำให้เจ้าของ L’Oréal คนปัจจุบันเป็นบุคคลที่ร่ำรวยอันดับ 19 ของโลกชื่อ Françoise Bettencourt Meyers โดยรายได้ของ L’Oréal นั้นสูงกว่า Unilever, Procter & Gamble, Estee Lauder, Shiseido เสียอีก

จุดกำเนิด L’Oréal

Eugene Schueller เป็นผู้ก่อตั้ง L’Oréal ในปี 1909 โดย Eugene เป็นนักเคมีหนุ่มในตอนนั้น

สินค้าตัวแรกของ L’Oréal คือยาย้อมผม ต่อจากนั้นถึงค่อยเข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอางต่างๆ นานา ซึ่ง L’Oréal เป็นแบรนด์เครื่องสำอางไม่กี่แบรนด์ที่นำของไปวางขายในร้านทำผมด้วย

หลังจากนั้นการเติบโตของ L’Oréal ก็ค่อยเป็นค่อยมาเรื่อยๆ เริ่มมีการทำซื้อกิจการของหลากหลายแบรนด์

แบรนด์ที่ L’Oréal เป็นเจ้าของอีกได้แก่ Garnier, Lancome, Maybelline New York, NYX, Giorgio Armani, Diesel, Kiehl’s และอีกมากมาย

การซื้อกิจการของ L’Oréal เป็นทางลัดให้บริษัทไม่ต้องมานั่งสร้างแบรนด์เองซึ่งต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายทางตลาดสูง แถมยังไม่รู้ว่าแบรนด์ที่ปั้นขึ้นมาเองจะไปรอดไหมอีกด้วย L’Oréal เลยซื้อกิจการเยอะมากจนเป็นศูนย์กลางของแบรนด์กลุ่มความงามไปแล้ว

บุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คงหนีไม่พ้นสตรีเก่งนาม Lilliane Bettencourt ซึ่งเริ่มทำงานให้กับ L’Oréal ตั้งแต่อายุ 15 ปีและเสียชีวิตแล้วในปี 2017 ที่ผ่านมา โดยลูกสาวกลายเป็นผู้รับมรดกและเป็นคนที่รวยอันดับ 19 ของโลกนั่นเอง

กลยุทธ์ของ L’Oréal

L’Oréal ใช้กลยุทธ์ ‘Balanced Business Model 345’ คือกระจายอยู่ใน 3 โซนพื้นที่, 4 อุตสาหกรรมการบริโภค และ 5 ประเภทสินค้าความงาม ทำให้ L’Oréal มีธุรกิจอยู่ทั่วโลก และมีเกือบทุกกลุ่มสินค้าความงาม ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัว ความเหวี่ยงของรายได้แรงๆ จึงเกิดขึ้นได้ยากสำหรับ L’Oréal เพราะมีตลาดที่กระจายมาก

L’Oréal มีรายได้จากทวีปต่างๆ ดังนี้

เอเซียแปซิฟิค  36.9%
อเมริกาเหนือ  24.8%
ยุโรปตอนเหนือ  19.3%
ลาตินอเมริกา  10.2%

L’Oréal มีรายได้แบ่งตามกลุ่มสินค้าดังนี้

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว  36.3%
ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม  22.9%
เครื่องสำอาง  18.2%
น้ำหอม  12%
ผลิตภัณฑ์สุขอนามัย  10.5%

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ L’Oréal ใช้คือ ‘Universalisation’

นั่นคือการบุกตลาดโลก แต่ L’Oréal ตระหนักดีว่าลูกค้าไม่ได้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม ภูมิอากาศ ผิวไม่เหมือนกัน ผมคนละแบบ และกิจวัตรการแต่งหน้าก็ยังไม่เหมือนกันอีกด้วย L’Oréal จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความชอบของผู้บริโภค ทั้งบริการ บรรจุภัณฑ์ และพรีเซ็นเตอร์ เช่น ใช้ดาราของประเทศนั้นๆ เป็นหลัก เพราะการที่ดาราคนนั้นได้รับความนิยมมากก็เพราะวัฒนธรรมของประเทศนั้น และ L’Oréal ก็รู้ดีว่าคนในชาตินั้นก็อยากสวยเหมือนดาราของประเทศเขานั่นเอง

L’Oréal เน้นเรื่องการการเก็บข้อมูลของลูกค้ามาก และต้องการที่จะสร้างสินค้าที่คนใช้แล้วชอบ L’Oréal เลยมีศูนย์ข้อมูลผู้บริโภคใน 6 ประเทศ นั่นก็คือ อินเดีย จีน สหรัฐฯ บราซิล ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ถ้าเราเห็นชื่อประเทศที่ L’Oréal ไปตั้งศูนย์อยู่เราจะรู้เลยว่าประเทศเหล่านี้ ‘ประชากรยิ่งกว่ามหาศาล’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ L’Oréal ต้องการเพราะเจาะตลาดได้ทีหนึ่งก็กินตลาดได้อีกนานครับ

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.youtube.com/watch?v=svwFqWlmGog

https://www.youtube.com/watch?v=knSiSlJBAW0

https://www.youtube.com/watch?v=jAKthPlfYSQ

http://www.loreal-finance.com/en/annual-report-2016/cosmetics-market

SaveSave