เป็นเวลากว่า 2,500 ปีที่ซีอิ๊วถูกใช้ปรุงอาหารในทวีปเอเชีย โดยคนญี่ปุ่นนั้นถือเป็นเจ้าของต้นตำหรับการทำซีอิ๊ว คนญี่ปุ่นบริโภคซีอิ๊ว 7.5 ลิตรต่อคนต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกนั้นมีการผลิตซีอิ๊ว 9,800 ล้านลิตรต่อปี

วันนี้ On One Way จะมาเล่าประวัติความสำเร็จของบริษัททำซีอิ๊วที่ชื่อ Kikkoman กันครับ

ประวัติ สุดยอดซีอิ๊ว Kikkoman

Kikkoman ถูกคิดค้นขึ้นโดยตระกูล Mogi เกือบ 300 ปีก่อนในญี่ปุ่น โดยผู้บริหารคนปัจจุบันเป็นทายาทรุ่นที่ 15 ของตระกูล

Kikkoman เริ่มไปทำตลาดในสหรัฐฯ ด้วยความคิดที่ว่า ซอส Kikkoman สามารถเพิ่มรสชาติอาหารชาติอื่นนอกจากอาหารญี่ปุ่นได้ด้วย

หลังจากที่ได้รับความนิยมมากในอเมริกาเหนือ Kikkoman ก็ได้ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานบรรจุขวดขึ้นใน สหรัฐฯ เลย ถือเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเจ้าแรกที่ไปตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ทำให้ตอนนี้ Kikkoman มียอดขาย จากต่างประเทศสูงกว่าในประเทศแล้ว

การเจาะตลาดสหรัฐฯ ของ Kikkoman

Kikkoman เข้าตลาดสหรัฐฯ ด้วยการปรับสินค้าตัวเองให้เข้ากับอาหารของฝรั่ง นั่นก็คือการเข้าไปโปรโมต พ่อครัวในสหรัฐฯ ให้ลองใช้ซอสของ Kikkoman ในการทำอาหารฝรั่ง หลังจากนั้นก็นำสูตรอาหารเหล่านั้นลงหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของแม่บ้านชาวอเมริกันอย่างมาก

Kikkoman เป็นบริษัทที่มีสมาชิกครอบครัวดูแลอยู่ตลอดเวลา โดยมีครอบครัวผู้ก่อตั้งรวมทั้งหมด 8 ครอบครัว และได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า คนที่พร้อมทำธุรกิจที่สุดคนเดียวจาก  1 ครอบครัวเท่านั้นที่ที่จะสามารถเข้ามาบริหารใน Kikkoman ได้

โดยรวมแล้ว ทั้ง 8 คนนี้จะเป็นกำลังหลักให้กับ Kikkoman ซึ่งเป็นบริษัทที่บรรพบุรุษพวกเขาได้สร้างและส่งต่อลงมา แต่หลังจากที่มีการขยายไปทั่ว Kikkoman ก็เริ่มจ้างผู้บริหารที่ไม่ได้มาจากครอบครัว เพื่อจะได้ดูแลบริษัทอย่างทั่วถึง

จุดแข็งของ Kikkoman

นับเป็นความได้เปรียบของ Kikkoman มาก เพราะบริษัทถูกก่อตั้งในเมือง Noda ที่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบหลักในการทำซอสถั่วเหลือง นั่นก็คือถั่วเหลืองและข้าวสาลี ไม่แปลกใจที่ยี่ห้ออื่นอย่าง Higeta และ Yamasa ก็ก่อตั้งในบริเวณนี้

แต่ในปัจจุบันนั้น Kikkoman มีการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงมาก เลยตัดสินใจซื้อวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เพราะเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

Kikkoman กับคุณภาพที่เป็นเลิศ

การควบคุมคุณภาพของ Kikkoman คือ ซอสจะถูกผลิตภายใต้บริษัท Kikkoman ทั้งหมด ไม่มีการจ้าง Outsource ให้คนอื่นทำ

วัตถุดิบหลักคือถั่วเหลืองและข้าวสาลี โดยสูตรปกติจะใช้ถั่วเหลืองและข้าวสาลี 1 ต่อ 1 โดยต้องต้มแล้วนำไปหมักเพื่อให้รสชาติของซีอิ๊วออกมา วิธีการหมักคือต้องเติมน้ำเค็มและแบคทีเรียชนิดพิเศษ หมักต่อเป็นเวลา 4 เดือน ก่อนที่จะนำมากรองเพื่อให้ได้ซีอิ๊วที่เราต้องการ นั่นคือ “ซีอิ๊วดิบ” แล้วจึงนำไปปรุงแต่งรสชาติต่อเป็นซีอิ๊วหลากหลายสูตร

นี่คือสาเหตุที่ Kikkoman ผลิตซีอิ๊วเอง เพราะกระบวนการผลิตมีความละเอียดอ่อนมาก

ระบบขนส่งของ Kikkoman ที่มีคุณภาพ

Kikkoman คิดค้น ‘Kikkoman Order Less System’ เป็นการบริหารสินค้าคงเหลือของ Kikkoman โดยระบบนี้จะใช้ข้อมูล (Data) ในการตัดสินใจส่งของ ซึ่งเมื่อก่อนจะสั่งด้วยคน ทำให้สินค้าเหลือและหมดบ้าง แต่ด้วยระบบนี้ Kikkoman บอกว่า ลูกค้าจะไม่มีทางเห็นซอสของ Kikkoman หมดแน่นอน

ค่าขนส่งของ Kikkoman ลดลง เพราะมีระบบที่ช่วยบอกว่าให้ไปส่งสินค้าที่ไหนในจำนวนเท่าไร ซึ่งลดจำนวนการวิ่งของรถขนส่งไปเยอะทีเดียว รวมถึงมีสินค้าคงเหลือลดลง

รายละเอียดของ Kikkoman อยู่ในทุกที่

Kikkoman ใส่ใจในรายละเอียดมาก ขวดซีอิ๊วของ Kikkoman ถูกออกแบบให้เป็นรูปหยดน้ำ ที่เป็นการผสมกันระหว่างความโบราณและความสมัยใหม่ การออกแบบของขวดซอสนั้นใช้เวลาถึง 3 ปีเต็มเพื่อที่จะให้ขวดออกมาแข็งแรง ใช้แล้วซอสไม่หยดเลอะบนโต๊ะ

Kikkoman ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน Kikkoman จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าตามราคาตลาดที่ 270,000 ล้านบาท มีรายได้ปัจจุบัน 118,000 ล้านบาทและกำไร 7 พันล้านบาท

หากลงทุนหุ้นตัวนี้ตั้งแต่ปี 2010 จะได้ผลตอบแทน 4 เด้ง หรือ 400%

แต่ถ้ามาลงทุนในปี 2014 ก็จะได้เป็นเด้งเช่นเดียวกัน หรือ 100%

ถ้าดูที่รายได้ ก็ถือว่าโตทุกๆ ปี และถ้านับจากปี 2014 จนถึงปัจจุบันถือว่ากำไรเกือบเด้งแล้ว

หนึ่งสาเหตุก็คือค่าใช้จ่ายในการขายที่ลดลงเรื่อยๆ อีกสาเหตุคือ Kikkoman มียอดการส่งออกที่โตเร็วกว่าการขายภายในประเทศ

ล่าสุด รายได้จากการดำเนินงาน (Operating Income) ที่ขายในประเทศอยู่ที่ 7.58% แต่ถ้าขายในต่างประเทศจะอยู่ที่ 10.3% พอรวมกันออกมาแล้วทำให้กำไรออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่น่าติดตามมากเช่นกันครับ

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.youtube.com/watch?v=txWbdnd8xL8

http://www.abc.net.au/news/2017-03-18/more-than-a-bottle-kikkoman-soy-sauce-japanese-design/8356574

https://www.economist.com/node/13443693