- หากพูดถึงเรื่องเครื่องดื่มน้ำดำคงไม่มีใครไม่รู้จักโค้ก (Coke) ที่มีการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าไปวางขายทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทโคคา-โคล่า (Coca-Cola) ซึ่งเป็นเจ้าของ Coke ได้ส่งสินค้าเข้ามาขายในไทยอย่างแพร่หลาย
- Coca-Cola นอกจากจะมีแบรนด์ Coke ที่เป็นน้ำดำผสมโซดาแล้วยังมีแบรนด์ดังๆ อีกหลาย แบรนด์อย่างสไปรท์ (Sprite) และมินิท เมด (Minute Maid) อีกด้วย โดยบริษัท Coca-Cola จดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยชื่อ Ticker ว่า KO
- แต่เราก็ยังสามารถลงทุนใน KO ได้ทางอ้อมผ่านหุ้น HTC หรือ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสิทธิ์ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มหลายแบรนด์ของ KO ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย
- ส่วนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยนั้น บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย
- หุ้น HTC มีธุรกิจคือ ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแบรนด์ของ KO โดย KO จะไม่ได้มาขยายโรงงานผลิต บรรจุ และจัดจำหน่ายเองทั่วโลกเพราะอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูง ใช้เวลาในการสร้าง แถมยังไม่มีระบบขนส่ง (Logistic) ในการจัดจำหน่ายสินค้าของตัวเองไปยังร้านค้าต่างๆ เลยต้องให้ HTC เป็นคนดำเนินงานตรงส่วนนี้ให้
- ราคาหุ้นของ HTC มีการปรับตัวขึ้นสูงมาก ถ้าเราไปดูราคา Low ก่อนคือในวันที่ 9/1/2561 ราคาจะอยู่ที่ 17.30 บาท และมาทำ High 29.00 บาทในไม่กี่วันนี้ หรือปรับตัวขึ้นกว่า 60% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
- สาเหตุการขึ้นราคาหุ้นของ HTC นั้น มาจากปี 2559 ที่กำไรโตขึ้นมากช่วงไตรมาส 1 (Q1) ปี 2559 คิดเป็น 123% เทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) เพราะเริ่มดำเนินการผลิตขวด PET เป็นของตัวเอง ทำให้ลดต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ไปพอสมควร ซึ่งค่าบรรจุภัณฑ์เป็นต้นทุนที่เยอะที่สุด
- อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin หรือ GPM) ใน Q1 ปี 2558 อยู่ที่ 28.7% ส่วนใน Q1 ปี 2559 โตขึ้นเป็น 31.9% ซึ่ง GPM ที่โตขึ้นมาจากการผลิตขวด PET เองก็ส่งผลให้กำไรสูงขึ้น อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin หรือ NPM) จึงเพิ่มจาก 1.6% มาเป็น 5.8%
- เทรนด์นี้ยังคงมาต่อในปี 2560 ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (Selling, General and Admin Expense หรือ SGA) ก็น้อยลงไปอีกเพราะ HTC ให้ส่วนลดทางการค้าน้อยลงเวลาคนมาซื้อสินค้า
- โดยรายได้รวมและกำไรของ HTC มีดังนี้
ปี | รายได้ (ล้านบาท) | กำไร (ล้านบาท) |
2558 | 5,458.8 | 100.8 |
2559 | 5,732 | 241 |
2560 | 5,690.9 | 283 |
- HTC ยังได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการปรับค่าน้ำตาลโดยรัฐบาลอีกด้วย โดยนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ได้ให้ข้อมูลว่า ทุก 1 บาทที่ราคาน้ำตาลในไทยลดลง จะเพิ่มกำไรให้กับ HTC ถึง 60 ล้านบาท ซึ่งน้ำตาลเป็นต้นทุน 35% ของต้นทุนรวมนั่นเอง
- ทั้งหมดนี้เป็นกรณีศึกษาของการปรับตัวขึ้นของ HTC ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถรับประกันถึงผลตอบแทนในอนาคตได้ ผู้ลงทุนควรศึกษาปัจจัยอื่นๆ ประกอบไปด้วยเช่นกันครับ
———————
ค้นหาหุ้นและดูงบการเงินย้อนหลัง 10 ปี
พร้อมกราฟราคาได้ที่ FINNOMENA Stock Quote (Beta)
https://www.finnomena.com/stock/
—————————-
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=HTC&ssoPageId=5&language=th&country=TH
https://www.set.or.th/set/companynews.do?symbol=HTC&ssoPageId=8&language=th&country=TH
—————————-
Vithan Minaphinant
Securities Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด
ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้
แท็ก: