สรุปงานสัมมนา: FINNOMENA Unlock Day III ฉบับเต็ม!

วิกฤตในอดีตได้สอนอะไรเราไว้บ้าง?

การหาหุ้นเปลี่ยนชีวิต (หุ้น 10 เด้ง) ต้องมีสเป็กแบบไหน?

การทำธุรกิจแบบ E-Commerce ส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นขนาดไหน?

ในวันที่ 8 ก.ค. 2561 ผมได้มีโอกาสร่วมเข้าฟังสัมมนาที่จัดขึ้นโดย FINNOMENA มีชื่อว่า “Unlock Day III” ซึ่งจัดที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ Siam Square One โดยผมได้สรุปเนื้อหาสำคัญ ๆ มาแชร์ให้ท่านผู้อ่านด้วยครับ

ส่วนที่ 1: สิ่งที่นักลงทุนยุค 90 อยากบอกคุณ โดย คุณวรวรรณ ธาราภูมิ และคุณกรณ์ จาติกวณิช

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ: ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวงฯ

  • ในช่วงปี 1900 หรือก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ทุกคนอยู่ในอาการ ‘บ้าหุ้น’ คือพูดแต่เรื่องหุ้น พนักงานที่ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ไม่ค่อยได้ทำงานเลย เพราะคุยแต่เรื่องหุ้น และตลาดหุ้นก็ได้ทำจุดสูงสุดในอดีต
  • ในปัจจุบัน การที่วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้นั้น ยากกว่าสมัยก่อนแล้ว เพราะทุกคนระวังมากขึ้นในการก่อหนี้ ธนาคารเองก็ระมัดระวังเรื่องการให้กู้มากขึ้นด้วย
  • เศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน ยังไปได้ดี ยังไม่มีอะไรที่จะกระทบในแง่ลบแบบรุนแรงได้

คุณกรณ์ จาติกวณิช: ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย

  • ในช่วงปี 2530 ประเทศไทยก้าวข้ามจากเศรษฐกิจที่พึ่งพิงสินค้าเกษตร ไปยังเศรษฐกิจที่มีความเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น อุตสาหกรรมต้องใช้เงินทุน เพราะฉะนัน ธุรกิจเงินทุนควรจะโตตามการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปด้วย
  • NPL หรือ หนี้สูญของธนาคาร ถ้าถึง 15% เมื่อไรธนาคารจะไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และต้องปิดตัวลง แต่ในช่วงวิกฤตนั้น NPL พุ่งสูงขึ้นถึง 50% และคงที่ระดับนี้มานานหลายปีก่อนเกิดวิกฤตปี 2540
  • หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตนั้น เพราะเงินกู้ต่างประเทศมีราคาถูกมาก ทำให้เราลงทุนมากไป
  • ตอนจุดสูงสุด บริษัทหลักทรัพย์ไทยบางบริษัทอย่างเอกธรรมรงค์ มีมูลค่าตามราคาตลาดเท่ากับ Merrill Lynch ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่ยิ่งใหญ่มาก
  • การที่เราจะดูได้ว่าเกิด ‘ฟองสบู่’ ไหม? ให้ดูว่าทุกคนพูดถึงมันหรือเปล่า? อย่าง Bitcoin ตอนนี้แทบทุกคนรู้จักและพูดถึงมันแล้ว ก็อาจจะเป็น Mini Bubble ใน Bitcoin ก็เป็นได้

ส่วนที่ 2: ไขความลับเงินล้าน…กับกรณีศึกษาหุ้น 10 เด้งจากยุค 90 โดยคุณ มาร์ช เจ้าของเพจ Buffettcode

  • การที่หุ้นจะกลายเป็นหุ้น ’10 เด้ง’ ในตำนานได้นั้น หุ้นต้องมีคุณสมบัติของมัน โดยคุณมาร์ชได้ยกตัวอย่างหุ้น 2 ตัวนั่นก็คือ HMPRO และ CPALL หุ้นขวัญใจนักลงทุนหลายคนเลยทีเดียว
  • คุณสมบัติที่ 1: เติบโตในทุกมิติ ทั้ง HMPRO และ CPALL มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลาและกำไรก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะที่ราคาหุ้นมีลงมาซึ่งสวนทางกันเลย อย่างจำนวนสาขาของ HMPRO เมื่อก่อนมีไม่ถึง 10 สาขาแต่วันนี้มีนับร้อย ส่วน CPALL มีสาขา 2,000-3,000 สาขา แต่วันนี้มีเป็นหลักหมื่นแล้ว
  • คุณสมบัติที่ 2: Business Model ที่ดี Business Model ของบริษัทต้องสามารถทำให้บริษัทสร้างรายได้และกำไรของบริษัทในระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่น สามารถสร้าง Repeat Customer หรือลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ

  • คุณสมบัติที่ 3: มีจุดเด่น ทั้ง HMPRO และ CPALL มีจุดเด่นของตัวเองที่เหนือกว่าคนอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่าง HMPRO มีบรรยากาศที่ดี สาขาเยอะและผ่อนได้ ส่วน CPALL มีสินค้าที่ใหม่เสมอ เปิด 24 ช.ม. และมีอยู่ทุกที่
  • คุณสมบัติที่ 4: มีอำนาจการต่อรองของทั้งลูกค้าและ Supplier ที่จะคอยช่วยสร้างความเติบโตของบริษัทได้อีก เช่น Supplier ให้เครดิตสูง และลูกค้าก็ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าของ CPALL เพราะความสะดวกสบาย
  • บทเรียนที่คุณมาร์ชฝากไว้คือ ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ และจงกล้าอย่างมีเหตุผลในเวลาที่คนอื่นกลัว

ส่วนที่ 3: การลงทุนใน ยุค Big Data โดยคุณอั้น (BottomLiner) Head of Data Scientist จาก FINNOMENA

Background

  • ในปัจจุบัน คนจีนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียว ทำให้ลูกคนเดียวได้รับการเลี้ยงดูจากทั้งคนในครอบครัวเป็นอย่างดี คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายสูง ทำให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลายอุตสาหกรรม อย่างเช่นกลุ่ม E-Commerce
  • โลกเราได้เข้าสู่ยุคของ Millennial หรือยุคคนยุคใหม่มา 5 ปีแล้ว คนกลุ่มนี้เองมี Brand Loyalty (ความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์) ต่ำมาก การที่บริษัทใช้ข้อมูลมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ Millennial ยังเป็น Tech Savvy อีกด้วย แปลง่ายๆ คือพวกเขารักการใช้เทคโนโลยี
  • ยกตัวอย่างบริษัทเทคโนโลยีของโลก อย่าง Amazon ซึ่งขาดทุนจากธุรกิจขายของที่ใหญ่มาก แต่กลับทำกำไรมหาศาลจากธุรกิจ Cloud Service ที่ผู้ขายของออนไลน์ต้องใช้ เพราะเป็น Platform ที่ให้ความสะดวกสบายในการบริหารข้อมูลมาก

จาก Commerce สู่ E-Commerce

  • ผลตอบแทนหุ้น Walmart และ Amazon นั้นห่างกันราวฟ้ากับดิน อย่าง Walmart ซึ่งเป็นเจ้าพ่อ Commerce ที่ใหญ่ที่สุด กลับให้ผลตอบแทนติดลบ 13.3% ในขณะเดียวกัน Amazon ผู้นำ E-Commerce ได้ให้ผลตอบแทนมากถึง 45.3%
  • หุ้น ‘Sure Thing’ ที่ถือว่ามีความแน่นอนสูงมาก มีอายุการดำเนินงานอย่างยาวนาน และมีแบรนด์ที่เแข็งแกร่งมาก ก็ยังให้ผลตอบแทนไม่ดี อย่างหุ้น Coke Nestle P&G ให้ผลตอบแทนติดลบทั้งหมด
  • ขนาด Warren Buffet เจ้าพ่อนักลงทุนของโลกเองก็ยังขายหุ้น Sure Thing บางตัวออกไป อย่างเช่น ขาย P&G และ Walmart ไปซื้อ Apple แทน
  • สามารถอ่านสรุปเนื้อหาในส่วน Big Data ได้แบบเต็มๆ ที่ https://www.finnomena.com/mkzk/big-data-unlock-day-3/

ส่วนที่ 4: จากยุค 90 สู่อนาคต กับกรณีศึกษา U.S. Tech vs China Tech กองทุนรวมกลุ่มเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก โดยคุณเจท (FundTalk) คุณแบงค์ (Mr.Messenger) และคุณมาร์ช (BuffettCode)

ทำไมต้อง US Tech?

  • ถ้าให้พูดถึงหุ้นเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ นั้น เราจะรู้จักหลายบริษัทมาก ไม่ว่าจะเป็น Intel, Apple, Amazon, Microsoft, Facebook และอีกมากมาย และต้องบอกว่ามีบริษัทเด่น ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่างเช่น Microchips ที่ผลิตโดย Intel, Hardware ที่ผลิตโดย Microsoft และ Application ที่ผลิตโดย Facebook
  • แต่หากพูดถึงเทคโนโลยีจากจีนนั้น จะพบว่าไม่ได้มีอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ แบรนด์ก็ยังไม่ดีเท่าแบรนด์อื่นในเวทีโลก ตัวอย่างเทคโนโลยีจากจีนก็เช่น Baidu, Alibaba และ Tencent
  • บริษัทจากสหรัฐฯ อย่าง Apple นั้นสามารถตั้งราคาขายในระดับพรีเมียมมาก ๆ เฉลี่ยคือ $688 ต่อไอโฟน 1 เครื่อง สิ่งนี้แสดงถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่เหนือกว่าจีนมาก ตัวอย่างคือ Xiao Mi ที่ขาย Mi Phone ได้ในราคาเฉลี่ยเพียง $138 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่ามาก
  • ถ้าดูแค่ความดัง อาจจะไม่พอ เรามาดูรายได้กันบ้าง ซึ่งแอปฯ ที่สร้างรายได้สูงสุดระดับท็อปๆ นั้นมาจาก สหรัฐฯ ทั้งสิ้น อย่าง Tender, Netflix และ Google Drive

ทำไมต้อง China Tech?

  • Environment ของจีนนั้นเอื้อต่อการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีจีนอย่างมาก เพราะบริษัทจีนจะเน้นเติบโตในประเทศที่มีประชากรสูงมาก ถ้าดูตัวเลข จีนมีคนใช้อินเตอร์เน็ต (Active Internet User) ที่ 751 ล้านคน ซึ่งเป็นเพียง 53% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และยังโตได้อีก ในขณะที่สหรัฐฯ นั้นมีคนใช้อินเตอร์เน็ตที่ 286 ล้านคน คิดเป็น 88% ของจำนวนประชากรแล้ว
  • Environment ของจีนนั้นยังมีสัดส่วนการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านมือถือถึง 86% เลยทีเดียว พูดง่าย ๆ ว่าหากซื้อขาย 100 ครั้ง ก็จะมี 86 ครั้งที่เกิดขึ้นบนมือถือ ซึ่งมากกว่าของสหรัฐฯ ที่มีเพียง 44%
  • จีนนั้นก็มีแอปฯ ไว้สำหรับดูวิดีโอ นั่นก็คือ Tencent Video, iQi และ Youku Tudou ซึ่งแต่ละอันมีผู้ใช้มากถึง 300-400 ล้านคนเลยทีเดียว โอกาสที่ผู้ใช้เหล่านี้จะหันมาจ่ายตังค์ก็มีความเป็นไปได้

สรุปงานสัมมนา: FINNOMENA Unlock Day III ฉบับเต็ม!

สรุปงานสัมมนา: FINNOMENA Unlock Day III ฉบับเต็ม!

สรุปงานสัมมนา: FINNOMENA Unlock Day III ฉบับเต็ม!

สรุปงานสัมมนา: FINNOMENA Unlock Day III ฉบับเต็ม!

ขอบคุณข้อมูลจาก:

งานสัมมนา “Unlock Day III” โดย FINNOMENA ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ Siam Square One วันที่  8 ก.ค. 2561