เจาะตำนาน Coca-Cola #1: เมื่อน้ำดำครองโลก

เครื่องดื่ม “โค้ก” (Coke) นับเป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องดื่มที่มีความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแบรนด์ลูกของโค้กอย่างสไปรท์ แฟนต้า มินิท เมด ฯลฯ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน

สินค้าในเครือของโค้กมีทั้งหมดประมาน 3,500 อย่าง ส่งออกไปจำหน่ายทุกประเทศทั่วโลก ยกเว้นคิวบาและเกาหลีเหนือ

โดยเจ้าของแบรนด์ระดับตำนานเหล่านี้คือบริษัท The Coca-Cola Company ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของตัวเอง มีชื่อ Ticker ว่า KO และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก

เรามาดูกันว่ากว่าจะเป็นวันนี้ที่มีสินค้ากระจายไปทั่วโลก โค้กมีกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างไรบ้าง

เบื้องหลังความสำเร็จของโค้ก

โลโก้ของโค้กมีฟ้อนท์ที่เหนือกาลเวลา เป็นฟ้อนท์ที่นักบัญชีสมัยก่อนใช้เพื่อให้ดูโดดเด่น ดูแล้วไม่ง่วง

โค้กครองใจผู้บริโภคด้วยราคาที่ถูกและไม่ขึ้นราคาเลย เป็นเวลา 70 ปีที่โค้กคงราคาขายที่ขวดละ 5 เซ็นต์ ซึ่งเทคนิคลดราคาก็กลยุทธ์ที่เป๊ปซี่ (Pepsi) ใช้เช่นกันตอน The Great Depression เพราะเกือบล้มละลาย เลยออกแพ็กเกจใหญ่กว่าเดิม 1 เท่าแต่ราคาเท่าเดิม ทำให้คนกลับมาซื้อและรอดมาได้

ปัญหาของโค้กในอดีตคือการไม่บรรจุขวด ทำให้สเกลการผลิตได้ยาก แต่หลังจากปี 1899 โค้กก็เป็นที่นิยมมากเพราะได้ถูกบรรจุลงขวดและขายได้สำเร็จ

การบรรจุลงขวดเป็นก้าวสำคัญของโค้กเลยเพราะสามารถเอาไปวางขายที่ไหนก็ได้

โค้กทำอย่างไรให้ตัวเองกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก?

การเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่เยอะมาก ทำให้โค้กเป็นที่รู้จักในทุกกลุ่มลูกค้าเพราะผู้บริโภคเห็นสินค้าแทบทุกที่และสามารถซื้อได้เลย

การที่จะทำให้สินค้าไปได้อย่างทั่วถึงและเร็วนั้น โค้กรู้ว่าถ้าลงทุนเองหมด ทั้งโรงบรรจุขวดและระบบขนส่งก็จะไม่ทันคู่แข่ง เลยยึดกลยุทธ์การหาพันธมิตรแทน ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้จะรู้เรื่องการขนส่งในท้องถิ่นดีกว่า นอกจากนี้ โค้กก็ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานบรรจุขวดเองทั้งหมด แต่มีพันธมิตรเป็นบริษัทผลิตกว่า 250 เจ้า

โค้กจะผลิตและขายหัวเชื้อให้กับบริษัทพันธมิตรด้านการผลิตที่จะนำโค้กบรรจุใส่ขวดและส่งไปตามร้านค้าต่างๆ

Coca-Cola Amatil (CCA) เป็นพันธมิตรรายใหญ่ของโค้กในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ที่เข้าถึงประชากร 265 ล้านคนในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอื่นๆ

HTC หรือบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หุ้นไทยก็ได้ลิขสิทธิ์บรรจุและเป็นผู้จัดจำหน่ายให้โค้กเหมือนกัน

โค้ก V.S. เป๊ปซี่

โค้กเน้นทำเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว เราจึงไม่เห็นขนมที่เขียนว่า “ผลิตโดย Coca-Cola” ส่วนใหญ่เราจะเห็นแต่ “ผลิตโดย PepsiCo” เพราะเป๊ปซี่ทำขนมเยอะมาก ซึ่งแบรนด์อาหารของเป๊ปซี่ที่ดังมากคือ เลย์ (Lays) มันฝรั่งทอดนั่นเอง

แต่เป๊ปซี่ก็มีแบรนด์เครื่องดื่มคือเกเตอเรด (Gatorade) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่และลิปตัน (Lipton) ซึ่งเป็นน้ำชาเช่นกัน ทว่าถ้าเราสังเกตเฉพาะในไทย แฟนต้าของโค้กก็ชนะมิรินด้าของเป๊ปซี่ สไปรท์ ก็ชนะเซเว่นอัพอีกด้วย

เราเลยสามารถเห็นการโฟกัสของโค้กที่เน้นทำแต่เครื่องดื่มอย่างเดียวซึ่งจะไม่เหมือนเป๊ปซี่ที่มีการกระจายความเสี่ยงไปทำอาหารด้วย ซึ่งก็พิสูจน์ได้ระดับหนึ่งว่าการโฟกัสของโค้กนั้นดีเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจเครื่องดื่มด้วยกัน แต่ถ้าในการกระจายความเสี่ยงอาจจะไม่ยืดหยุ่นเท่าเป๊ปซี่

จบเรื่องการบุกตลาดโลกของโค้กไปแล้ว ครั้งต่อไปเราจะมาพูดคุยกันถึงกลยุทธ์การตลาดของโค้กกันครับ

ข้อมูลอ้างอิง:

http://www.coca-colacompany.com/brands/billion-dollar-brands

http://www.coca-colacompany.com/brands/product-description

———————

ค้นหาหุ้นและดูงบการเงินย้อนหลัง 10 ปี

พร้อมกราฟราคาได้ที่ FINNOMENA Stock (Beta)

คลิกที่รูปข้างล่างเลย

TSF2024