ในปัจจุบัน การเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่ผู้คนส่วนมากกลับมีเงินไม่พอสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ด้วยปัญหาหลักๆ 4 ข้อ ที่ทำให้เงินเกษียณไม่เพียงพอ ได้แก่…
1.) เริ่มเก็บเงินเพื่อการเกษียณช้าเกินไป
คนส่วนใหญ่เริ่มเก็บเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ เมื่อมีอายุประมาณ 40 ปี ทำให้เหลือระยะเวลาในการออมและลงทุนเพื่อใช้จ่ายวัยเกษียณเพียง 20 ปี เท่ากับระยะเวลาใช้จ่ายหลังเกษียณ (บนสมมุติฐานอายุเกษียณ 60 ปี และ อายุขัยเฉลี่ยที่ 80 ปี) ทำให้ต้องลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนสูงขึ้น เพื่อเร่งอัตราผลตอบแทน หรือเพิ่มเงินออมเพื่อวัยเกษียณซึ่งจะกระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อนเกษียณ
2.) ประเมินค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณต่ำเกินไป
ค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ สามารถประเมินเบื้องต้นได้ประมาณ 60-70% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนในปีก่อนเกษียณ หรือประมาณ 50-70% ของเงินเดือนก่อนเกษียณ หรือในบางกรณีเราอาจประเมินจากความต้องการในการใช้ชีวิตหลังเกษียณตาม life style แต่สิ่งที่เรามักจะหลงลืมไม่ได้ประเมินค่าใช้จ่ายหรือ ประเมินไว้น้อยเกินไป เช่น ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และกิจกรรมต่าง ๆ จากเวลาว่างที่มากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้เงินที่เตรียมไว้หมดก่อนสิ้นอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในบั้นปลาย
3.) ออมเงินเพื่อวัยเกษียณน้อยเกินไป
จากการประเมินค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณน้อยเกินไปหรือ จากการประเมินความสามารถในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวมากเกินไป หรือประเมินอายุขัยต่ำเกินไป สำหรับจำนวนเงินที่เหมาะสมในการเก็บออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ควรอยู่ที่ประมาณ 15-20% ของรายได้ในปัจจุบัน
4.) ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการลงทุน
บางคนกลัวความผันผวนจากการลงทุน กลัวขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น จึงหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นแล้วหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (จากการขาดทุน) โดยไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนที่ได้รับซึ่งน้อยกว่าเงินเฟ้อ เราสามารถใช้ระยะเวลาในการลงทุนและการจัดสัดส่วนการลงทุน (asset allocation) ช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนในระยะสั้น และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทางเลือกหนึ่งสำหรับการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนชั้นนำ ทางบริษัทจะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งในปัจจุบัน ลูกจ้างสามารถเลือกสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มากถึง 15% ของเงินเดือน ทำให้ปัญหาในเรื่องของการออมที่น้อยเกินไปลดลง นอกจากนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบางบริษัทยังสามารถให้ลูกจ้าง สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้เอง (Employee Choice) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้กับเงินที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกทางหนึ่ง
ปัญหาที่เกิดตามมาจากการที่มี Employee Choice คือ ลูกจ้างโดยส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์การลงทุน ทำให้เลือกเปลี่ยนนโยบายเข้าออก ผิดเวลา ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก Employee Choice ได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความคิดเรื่องการจัดแผนการลงทุนตามช่วงอายุ (Life Path) ซึ่งจะเป็นการจัดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามช่วงอายุที่เหลือก่อนเกษียณ ทำให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ต้องคอยกังวลกับการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนอีกต่อไป ในส่วนของแผนการลงทุนแบบ Life Path นั้นสามารถปรึกษากับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทท่าน ในการจัดสัดส่วนการลงทุนได้เองตามแผนการลงทุนที่มีอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ที่มาบทความ : https://brandinside.asia/provident-fund-management/