กำหนดการ Tokyo Olympic 2020 จะเริ่มจัดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2563 หรือ เหลือเวลาอีกประมาณ 37 เดือน นับจากวันที่เขียนบทความ หากใครต้องการไปสัมผัสประสบการณ์การแข่งขันกีฬาระดับโลก ที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ ควรเตรียมตัวกันล่วงหน้า และเพื่อเป็นการเตรียมตัวไปสัมผัสบรรยากาศการแข่งขันกีฬาระดับโลก วันนี้เราจะมาลองวางแผนการเงินกัน ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลย
สำหรับขั้นตอนในการวางแผนการเงิน เริ่มต้นจากตอบคำถาม 3 ข้อ
ตารางเวลาตามแผนการเงิน
ทำการหาจำนวนเงินที่ต้องลงทุนเพื่อเป้าหมาย
สมมุติฐาน : เริ่มลงทุนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 มีเวลาลงทุนทั้งสิ้น 37 เดือน
จะได้จำนวนเงินที่ต้องเก็บออมในแต่ละเดือนดังนี้
ตรวจสอบสมมุติฐานและรายละเอียดในการวางแผน
จากคำถาม 3 ข้อ เตือนให้รู้ว่ากำลังวางแผนการเงินเพื่อที่จะพาครอบครัวทั้งหมด 4 คน เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น ในอีก 3 ปีข้างหน้า และต้องใช้เงินประมาณ 3 แสนบาท การจะรู้ได้ว่า เงิน 3 แสนบาทมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ต้องมาพิจารณารายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และเนื่องจากบางรายการเป็นสกุลเงินเยน จึงขอตั้งสมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนในการแปลงสกุลเงินที่ 100 เยน ต่อ 33.3333 บาท
ในการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องประมาณ 9 รายการ คือ
- ค่าเดินทางไป-กลับ ระหว่างที่พักและสนามบินในประเทศ
- ค่าตั๋วเครื่องบิน
- ค่าที่พักในต่างประเทศ
- ค่าประกันการเดินทาง
- ค่าใช้จ่ายการเดินทางในต่างประเทศ
- ค่ากินอยู่ในต่างประเทศ
- ค่าใช้จ่ายเสื้อผ้า
- ค่าเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ
- ค่าของฝาก+ซื้อของส่วนตัว
1. ค่าเดินทางไป-กลับ ระหว่างที่พัก และสนามบินในประเทศ
เนื่องจากเดินทางไปทั้งครอบครัว ดังนั้น การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวสะดวกที่สุด สอดคล้องกับสัมภาระที่มาก ดังนั้น ค่าใช้จ่ายหลักประมาณ 1,320 บาท แบ่งเป็น ค่าน้ำมันในการเดินทาง (500 บาท) ค่าทางด่วน (120 บาท) และ ค่าที่จอดรถ 5 วัน (700 บาท) หากใครเดินทางด้วยวิธีอื่นก็ลองเปลี่ยนตัวเลขกันดูได้
2. ค่าตั๋วเครื่องบิน
เนื่องจากช่วงที่จะเดินทางน่าจะเป็นช่วงที่คนแห่กันไปญี่ปุ่น ดังนั้น ขอประมาณค่าใช้จ่ายจากตั๋วการบินไทยช่วงกลางเดือนเมษายนปี 2018 (High Season) พบว่า หากเดินทางวันศุกร์ กลับวันอังคาร ตามแผนที่ตั้งใจไว้ค่าตั๋วเครื่องบินจะอยู่ที่ประมาณ 30,950 บาทต่อคน หรือทั้งหมด 123,800 บาท (30,950 x 4) แต่ถ้าเดินทางวันเสาร์ กลับวันพุธ ค่าตั๋วเครื่องบินอยู่ที่ 17,102 บาทต่อคน หรือทั้งหมด 68,410 บาท (17102 x 4)
จะเห็นได้ว่า ช่วงวันและเวลาในการเดินทางมีผลกับค่าใช้จ่าย ดังนั้นในการประมาณการขอใช้ค่าเฉลี่ย ประมาณ 25,000 บาท ต่อคน หรือ ประมาณ 100,000 บาท (25,000 x 4) ซึ่งคิดเป็น 33% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คาดไว้
3. ค่าที่พักในต่างประเทศ
ค่าที่พักในประเทศญี่ปุ่นกรณีพักรวม 4 คน พ่อ แม่ ลูก ขอใช้ค่าประมาณการ 3,000 เยนต่อคน หรือประมาณ 12,000 เยนต่อคืน ตามแผนพักทั้งหมด 4 คืน ค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักจะอยู่ที่ 48,000 เยน (12,000 x 4) หรือประมาณ 16,000 บาท
4. ค่าประกันภัยการเดินทาง
ในการเดินทางไปต่างประเทศทุกครั้งควรทำประกันภัยการเดินทาง โดยเน้นความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ หรือ เจ็บป่วย โดยเราสามารถสำรวจค่าเบี้ยประกันด้วยการค้นหาใน Google พิมพ์คำว่า Travel Insurance หรือ ประกันการเดินทาง ค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาเดินทางเท่าที่สำรวจ สำหรับความคุ้มครองประมาณ 500,000 – 1,000,000 บาท เบี้ยประกันไม่เกิน 300 บาทต่อคน สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 1,200 บาท
5. ค่าใช้จ่ายการเดินทางในต่างประเทศ
การเดินทางในประเทศญี่ปุ่น ในกรณีที่ต้องการเดินทางเฉพาะใน Tokyo ลองพิจารณา JR TOKYO Wide Pass เป็นตั๋วเหมา ผู้ใหญ่คนละ 10,000 เยน เด็ก(อายุ 6-11 ปี)คนละ 5,000 เยน โดย Pass นี้ใช้ได้ 3 วัน ในการวางแผนภาพรวม ขอใช้แบบเหมาค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 เยน หรือ ประมาณ 10,000 บาท
ปล.การตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแผนการเดินทางอย่างละเอียดในการวางแผนเที่ยว ซึ่งถ้าวางแผนเดินทางเปลี่ยนสถานที่ไม่มาก และไม่มีการเปลี่ยนเมือง แนะนำให้ไปซื้อตั๋วที่สถานีเป็นคราวๆไปจะประหยัดกว่า
6. ค่ากินอยู่ในต่างประเทศ
เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง เรื่องอาหารการกิน ถือเป็นประเด็นสำคัญของการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพราะถ้าเรากังวลกับค่าใช้จ่ายในการกินแล้วพลาดโอกาสการลิ้มรสอาหารจะเสียดายภายหลัง ราคาค่าอาหารในแต่ละมื้อไม่เกิน 2,000 เยนต่อคนต่อมื้อ (บางมื้อกินหรู บางมือกินอาหารในร้านสะดวกซื้อ กินขนมขนม ดื่มกาแฟ และอื่น ๆ เหมาๆรวมกันได้) จำนวนเงินค่าอาหารทั้งหมดประมาณ 2,000 เยน x 3 มื้อ x 5 วัน x 4 คน = 120,000 เยน หรือประมาณ 40,000 บาท
ปล. สำหรับอาหารในญี่ปุ่นแต่ละมื้อปริมาณอาหารจะมากกว่าไทยประมาณ 2-3 เท่าตัว และดังนั้นสำหรับคนทานน้อยจะทานไม่หมดและน่าเสียดายมาก ในสถานการณ์จริงสามารถสั่งมาทานร่วมกันได้ก็จะประหยัดได้อีก
7. ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาวะอากาศ
จากการตรวจสอบสภาพอากาศในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม พบว่า อุณหภูมิอยู่ในช่วง 22-36 องศาเซลเซียส ซึ่งถือได้ว่าคล้าย ฤดูร้อนในประเทศไทย ดังนั้น เสื้อผ้าที่มีอยู่สามารถนำไปใช้ได้ ไม่ต้องซื้อใหม่เป็นการเฉพาะ จึงไม่ต้องเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้
8. ค่าเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ
เป้าหมายในการเดินทางในกรณีพาเด็ก ๆ ไปอาจไม่ใช่ Tokyo Olympic แต่เป็น Tokyo Disneyland ดังนั้น ผู้ปกครองที่จะพาเด็กไปควรเตรียมค่าใช้จ่ายค่าเข้าไว้ด้วย สำหรับราคาบัตร 1-Day pass ผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) 7,400 เยนต่อคน* เด็ก (อายุ 12-17 ปี) 6,400 เยนต่อคน* เด็ก (อายุ 4-11 ปี) 4,800 เยนต่อคน* ดังนั้นประเมินค่าเข้าชมไว้ 25,000 เยน หรือประมาณ 8,500 บาท *อ้างอิงราคาจาก H.I.S. Travel นอกจากจะเที่ยว Disneyland แล้ว ยังควรไปชมสถานที่ต่าง ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สถาบันวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เงินที่ต้องเตรียมจะอยู่ที่ประมาณ 17,000 บาท
ปล. ท่านใดอยากสัมผัสบรรยากาศในสนามแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ก็สามารถตรวจสอบตารางการแข่งขันได้ที่
https://en.wikipedia.org/wiki/2020_Summer_Olympics ในส่วนค่าตั๋วเข้าชมกีฬาลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะครับ
9. ของฝาก+ซื้อของส่วนตัว
เรื่องสุดท้ายที่ควรคำนึงถึง คือ จะซื้อสินค้าอะไรบ้าง สำหรับคุณผู้หญิงที่มีเป้าหมายเฉพาะในเรื่องเครื่องสำอาง เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และคุณผู้ชายที่มีเป้าหมายเป็นอุปกรณ์ไอที กล้อง และอุปกรณ์ราคาแพง ควรประเมินราคาไว้ล่วงหน้า ขอประเมินไว้ไม่เกิน 50,000 บาท
สรุปประมาณการค่าใช้จ่าย
วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
เมื่อประมาณการค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ตามรายการข้างต้นพบว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมทั้งหมด 235,520 บาท โดยมีค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ากินอยู่ และค่าของฝาก เป็นค่าใช้จ่ายหลักประมาณ 80% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้นหากต้องการลดค่าใช้จ่ายในสถานการณ์จริงควรเน้นที่ 3 รายการข้างต้นโดยเฉพาะตั๋วเครื่องบิน
สรุปแผนการเงิน ในการเตรียมเงินไป Tokyo Olympic 2020
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดที่ประเมินได้ ไม่เกิน 250,000 บาท หากทำการลงทุน เดือนละ 6,500 บาท คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนปีละ 3% ก็จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการพาทั้งครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่นได้แล้ว และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต้องการก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ทำให้การลงทุนต้องรับความเสี่ยงมากนัก ส่วนใครที่ต้องการไปเที่ยวมากกว่า 5 วัน 4 คืน สามารถปรับปรุงตัวเลขในสมมุติฐานต่าง ๆ แล้วเทียบเคียงจำนวนเงินลงทุนในแต่ละเดือนได้จากตารางนะครับ
ขั้นตอนถัดจากนี้ไป เราจะมาพิสูจน์สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผ่านพอร์ตการลงทุนจริงโดยผมจะมา update สถานการณ์การลงทุนกันในทุกไตรมาส แล้วพบกัน***