nat-insurance-investment

ในปัจจุบันมีผู้สนใจซื้อแบบประกันควบการลงทุน ด้วยจุดขายเรื่องของความคุ้มครองและลงทุนในเวลาเดียวกัน บางคนสนใจเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นการลงทุนที่ได้ความคุ้มครองเป็นของแถม แต่ไม่ว่าจะเลือกซื้อด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราจะได้ 2 สิ่งจากประกันควบการลงทุน คือ ประกันคุ้มครองชีวิต และ การลงทุนผ่านกองทุนรวม แล้วสามารถทำประกันแบบอื่น พร้อมลงทุนเอง ดีกว่าหรือไม่ ควรพิจารณาจากอะไร มาดูกัน

สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจก่อนทำประกัน

1. วงเงินคุ้มครองที่จำเป็น หรือ ต้องการ

ทุกครั้งที่ทำประกัน ต้องแยกให้ได้ก่อนว่า การทำประกันครั้งนี้สนองตอบความจำเป็น (Need) หรือ ตอบสนองความต้องการ (Want) เช่น เศรษฐีมีธุรกิจมั่นคงมีความมั่งคั่งสุทธิ (สินทรัพย์ – หนี้สิน) 100 ล้านบาท อาจไม่มีความจำเป็นจะต้องทำประกันเพื่อคุ้มครองชีวิต เนื่องจากหากเสียชีวิตไป ธุรกิจและทรัพย์สินที่มีอยู่สามารถหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย แต่ต้องการทำประกัน (Want) ชอบความแน่นอนในการสร้างหลักประกันมูลค่าสูงด้วยเงินเล็กน้อย หรือในบางกรณี ชายหนุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นเสาหลักหารายได้ให้กับครอบครัว ต้องดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยเกษียณอายุจากการทำงาน ไม่มีรายได้ เมื่อคำนวณดูแล้ว เงินที่ควรเตรียมพร้อมให้กับพ่อแม่ได้ใช้จ่ายหากชายหนุ่มคนนี้จากไปอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท แบบนี้เรียกว่าเป็นวงเงินคุ้มครองที่จำเป็นต้องมี (Need) ดังนั้นควรพิจารณาวงเงินคุ้มครองที่จำเป็นหรือ ต้องการเป็นอันดับแรก

2. เบี้ยประกันที่สามารถจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง

เบี้ยประกัน คือ เงินที่เราต้องจ่ายให้บริษัทประกันเพื่อรับความคุ้มครองตามข้อที่ 1 โดยหลักทั่วไป เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายในแต่ละปี ไม่เกิน 15% ของรายได้ เพื่อให้มีเงินส่วนหนึ่งนำไปออมและลงทุนได้ ซึ่งสัดส่วนเงินออมและลงทุนโดยทั่วไปแนะนำที่ไม่ต่ำกว่า 15-20% ของรายได้ ดังนั้นแต่ในกรณีเบี้ยประกันของประกันชีวิตควบการลงทุน อาจพิจารณาเบี้ยประกันทั้งหมด ไม่เกิน 30%-35% ของรายได้ (15% เบี้ยประกันปกติ + 15-20% เงินออมเงินลงทุน) อย่างไรก็ตาม ก่อนพิจารณาโดยใช้อัตราส่วนนี้ ควรสำรวจรายรับ รายจ่ายของตนเองก่อน หากยังมีรายการผ่อนชำระบัตรเครดิตและอื่น ๆ อัตราส่วนที่เหมาะสมในการทำประกันอาจลดหรือเพิ่มได้

3. พิจารณาแบบประกันอื่น ๆ ร่วมด้วย

แบบประกันในปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 5 แบบ คือ ชั่วระยะเวลา, ตลอดชีพ, สะสมทรัพย์, บำนาญ, ควบการลงทุน ในการเลือกแบบประกันเบี้องต้นควรเลือกให้เหมาะกับเวลา เช่น เหลือระยะเวลาทำงานหารายได้อีก 10 ปี ก็ควรเลือกแบบประกันที่มีภาระการจ่ายเบี้ยประกันไม่เกิน 10 ปี หรือในกรณีที่ต้องการความคุ้มครองเพียง 20 ปี ก็ควรเลือกแบบประกันที่ให้ระยะเวลาความคุ้มครองใกล้เคียง หรือในกรณีต้องการซื้ออนุสัญญาประกันสุขภาพ โรคร้ายแรงต่าง ๆ ก็อาจต้องเลือกประกันหลักที่ให้ความคุ้มครองตลอดการซื้ออนุสัญญา เป็นต้น

หลังจากที่เราพิจารณาเบื้องต้นถึงทุนประกัน เบี้ยประกัน และระยะเวลาคุ้มครองที่เหมาะสมแล้ว มาลองดูกันว่า ถ้าหากจะเปรียบเทียบระหว่าง ประกันควบการลงทุน กัน ประกันปกติ แล้วเอาเงินส่วนที่เหลือไปลงทุน แบบไหนให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไรบ้าง
ตัวอย่าง 1 : หญิง อายุ 30 ปี ต้องการซื้อประกันชีวิตและลงทุน ทุนความคุ้มครอง 6 ล้านบาท ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี

แบบประกันควบการลงทุน

ทุนประกัน 6 ล้านบาท เบี้ยประกันต่ำสุดอยู่ที่ 50,000 บาท ทดลองคำนวณโดยใช้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 6% ต่อปี เมื่อสิ้นปีที่ 20 หากตัดสินใจปิดกรมธรรม์รับมูลค่าเงินลงทุนจะได้ประมาณ 1,286,141.75 บาท (ขึ้นอยู่กับแบบประกันในแต่ละบริษัทประกัน โปรดให้ตัวแทนประกันแสดงผลการทดลองคำนวณทุกครั้ง)

แบบประกันชั่วระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี ทุนประกัน 6 ล้านบาท เบี้ยประกันอยู่ที่ 19,020 บาทต่อปี

ในส่วนของแบบประกันชั่วระยะเวลา ข้อเสียคือ เมื่อสิ้นสุดปีที่ 20 จะไม่เหลือความคุ้มครองและไม่มีเงินคืน เราจึงนำเงินส่วนต่างเบี้ยประกัน 30,980 บาท (50,000 – 19,020) ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 6% ต่อปี ด้วยระยะเวลาการลงทุน 20 ปี จะได้เงินทั้งสิ้น 1,207,994.67 บาท ซึ่งน้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนจากแบบประกันควบการลงทุน

ในตัวอย่าง 1 : เมื่อคำนวณอัตราผลตอบแทนเปรียบเทียบกันแล้ว อาจพิจารณาเลือกประกันควบการลงทุนในการให้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาที่ต้องการ

ตัวอย่าง 2 : หญิง อายุ 30 ปี ต้องการซื้อประกันชีวิตและลงทุน ทุนความคุ้มครอง 6 ล้านบาท ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี

แบบประกันควบการลงทุน
ทุนประกัน 6 ล้านบาท เบี้ยประกันต่ำสุดอยู่ที่ 50,000 บาท ทดลองคำนวณโดยใช้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 6% ต่อปี เมื่อสิ้นปีที่ 10 หากตัดสินใจปิดกรมธรรม์รับมูลค่าเงินลงทุนจะได้ประมาณ 440,602.23 บาท (ขึ้นอยู่กับแบบประกันในแต่ละบริษัทประกัน โปรดให้ตัวแทนประกันแสดงผลการทดลองคำนวณทุกครั้ง)

แบบประกันชั่วระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี ทุนประกัน 6 ล้านบาท เบี้ยประกันอยู่ที่ 16,800 บาทต่อปี
ในส่วนของแบบประกันชั่วระยะเวลา ข้อเสียคือ เมื่อสิ้นสุดปีที่ 10 จะไม่เหลือความคุ้มครองและไม่มีเงินคืน เราจึงนำเงินส่วนต่างเบี้ยประกัน 33,200 บาท (50,000 – 16,800) ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 6% ต่อปี ด้วยระยะเวลาการลงทุน 10 ปี จะได้เงินทั้งสิ้น 463,858.54 บาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าเงินลงทุนจากแบบประกันควบการลงทุน

ในตัวอย่าง 2 เมื่อคำนวณอัตราผลตอบแทนเปรียบเทียบกันแล้ว อาจพิจารณาเลือกประกันชั่วระยะเวลา แล้วไปลงทุนในกองทุนรวมควบคู่กันไป จะได้ผลตอบแทนมากกว่าประกันควบการลงทุน

จากทั้ง 2 ตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ระยะเวลาความคุ้มครองที่ต่างกัน ให้ผลการเลือกประกันต่างกัน ดังนั้น ก่อนทำประกันควรให้ตัวแทนเปรียบเทียบในเรื่องของอัตราผลตอบแทนก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

นอกจากจะเปรียบเทียบในเรื่องของผลตอบแทนแล้ว เราควรพิจารณาปัจจัยด้านอื่นร่วมด้วย เช่น

  • สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี แบบประกันควบการลงทุน เราสามารถนำเฉพาะเบี้ยประกันส่วนที่ใช้ในการคุ้มครองชีวิตมาลดหย่อนได้เท่านั้น ในส่วนของแบบประกันชั่วระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปสามารถนำมาลดหย่อนได้ตามปกติ
  • ความหลากหลายของกองทุนที่สามารถเลือกลงทุน แบบประกันควบการลงทุน เราจะเลือกได้เฉพาะกองทุนที่บริษัทประกันอนุญาตเท่านั้น ไม่สามารถเลือกกองทุนอื่นที่มีขายอยู่ทั่วไปได้
  • ความสะดวกในการทำธุรกรรม สำหรับท่านที่ต้องการความสะดวกสบายไม่ต้องเปิดใช้บริการกับ บลจ. อื่น ไม่ต้องคอยบังคับให้ตนเองลงทุน แบบประกันควบการลงทุนสามารถตอบโจทย์ได้ แต่สำหรับท่านที่ต้องการเลือกลงทุนได้อย่างอิสระซื้อได้ทุก บลจ. และยังเป็นการฝึกวินัยในการลงทุน ก็คงต้องเลือกลงทุนด้วยตนเองแล้วซื้อประกันเท่าที่จำเป็นจะเหมาะสมกว่า

หวังว่าคงเป็นประโยชน์ในการใช้พิจารณานะครับ และบทความนี้เป็นเพียงการแสดงตัวอย่างการพิจารณาเพื่อเปรียบเทียบในมุมมองต่าง ๆเท่านั้น ในชีวิตจริงหากจะทำให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมในแต่ละบุคคลต้องอาศัยการวางแผนการเงินเข้ามาช่วยพิจารณาอย่างรอบด้านยิ่งขึ้น

TSF2024