RUNNING for Growth: กลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดขาลง (มีนาคม 2020)

ในห้วงต้นปี 2020 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโควิดไวรัส และนั่นทำให้ตลาดทุนทั่วโลก “เสียสมดุล” และแน่นอนที่สุดว่า เมื่อสมดุลเสียไป ก็ต้องมีการปรับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่

ในช่วงตลาดย่ำแย่ จะเต็มไปด้วยข่าวร้ายเป็นธรรมดา ซึ่งข่าวร้ายรายวันก็กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาพวกเรา จุดพีคที่สุดคงหนีไม่พ้นการที่ประเทศไทยเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีความกังวลว่าบ้านเราจะเข้าสู่เฟสสามของการระบาดหรือไม่ ? และภาพของการกักตุนข้าวสารอาหารแห้งก็เกิดขึ้นมาแล้ว !

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าวิกฤตจะอยู่กับเรานานแค่ไหน หรือเพิ่งเริ่มต้น และจะจบอย่างไร ? แต่สิ่งที่แน่นอนมาก ๆ ก็คือ ไม่มีวิกฤตการณ์ใด ๆ คงสภาพอยู่ไปตลอด มันย่อมมีวันคลี่คลายจางลงไป หรืออย่างน้อยที่สุดผู้คนก็ต้องเริ่มที่จะปรับตัวได้ และกลับมาดำเนินชีวิตในอย่างที่ควรจะเป็น

เรื่องราวของการลงทุนที่ต้องดำเนินต่อไป

สำหรับการลงทุน นักลงทุนที่เก่ง ๆ มักจะชื่นชอบที่จะลงทุนในภาวะวิกฤต แต่เราก็ไม่ควรรีบร้อนเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยงเร็วเกินไป ในขณะเดียวกันเราต้องไม่พลาดโอกาสสำคัญครั้งนี้ แล้วเราจะบริหารจัดการอย่างไรดี ?

แนวทางการบริหารจัดการ ผมขอแบ่งออกเป็นสองแบบ ได้แก่ 1) ทยอยซื้อสินทรัพย์แบบทีละน้อย 2) เก็บเงินสดและรอซื้อทีเดียว

แบบแรก … ทยอยซื้อสินทรัพย์ทีละน้อย

สำหรับการบริหารจัดการแบบนี้ เราอาจไม่ได้สินทรัพย์ที่ราคาต่ำสุด แต่เราจะได้ราคาสินทรัพย์แบบถัวเฉลี่ย ยกตัวอย่างเช่น เรามีเงิน 65,000 บาท หากเราเห็นว่าราคาสินทรัพย์ที่เราต้องการลงทุนลดลงมามาก เราอาจแบ่งเงินลงทุนเป็น 10 ไม้ ไม้แรก 20,000 บาท และไม้ต่อ ๆ มา ซื้อถัวเฉลี่ยไปไม้ละ 5,000 บาท ผมลองจำลองสถานการณ์ออกมาดังนี้

RUNNING for Growth: กลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดขาลง (มีนาคม 2020)

(ตารางแสดงกลยุทธ์การซื้อแบบถัวเฉลี่ย)

จากภาพจะเห็นว่า หากราคาสินทรัพย์ที่เราต้องการซื้อตั้งต้นที่ 100 บาทต่อหน่วย (ตัวเลขสมมติ) และลดลงเรื่อย ๆ จากสถานการณ์โควิดไวรัส จาก 100 / 90 / 80 / 70 / 60 / 50 บาทต่อหน่วย คือ ลดลงจาก 100 ลงไปสุดที่ 50 ต่อหน่วย หรือลดไปกว่า 50% แบบนี้ถ้าเราซื้อทีเดียวตอนเพิ่งลดลงใหม่ ๆ ก็จะเสียหายอย่างหนัก

แต่หากเราซื้อเฉลี่ยด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว และในเดือนที่ 7 ของการลงทุนสถานการณ์เริ่มพลิกกลับมาดีขึ้นได้ ผลการลงทุนจะเป็นไปตามตาราง ก็คือ จะติดลบในช่วงแรก และจะกลับมาพลิกฟื้นได้ในช่วงหลัง โดยเงินต้นที่เราใช้ไปทั้งหมดในสถานการณ์จำลองนี้คือ 65,000 บาท และสุดท้ายเราจะได้ผลตอบแทนราว 123,444 บาท (เป็นสถานการณ์จำลองนะครับ)

แบบที่สอง … ซื้อทีเดียว หรือเก็บเงินสดรอซื้อ

สำหรับวิธีแบบที่สอง เราคิดจะซื้อทีเดียวรอให้ทุกอย่างนิ่งแล้วค่อยซื้อ ซึ่งก็ทำได้ครับ แต่เราไม่มีทางรู้จริง ๆ เลยว่า สินทรัพย์ที่เราซื้อจะตกลงไปถึงก้นเหวเมื่อไหร่ เพราะหากเรารู้จริง ผมคิดว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดีมาก ๆ ถ้าเรามั่นใจว่าเรารู้ ก็ควรทำแบบที่สองครับ

แล้วพอร์ต RUNNING for Growth ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

RUNNING for Growth: กลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดขาลง (มีนาคม 2020)

ภาพแสดงสถานะพอร์ตในปัจจุบัน
คำนวณตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2019 – 12 มีนาคม 2020

ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

สถานะของพอร์ตแสดงให้เห็นตามภาพ โดยสัดส่วนการลงทุนยังคงเดิม คือ ยังคงลงทุนใน 4 กองทุน ได้แก่ BTP / TISCO Strategic / K ICT / LH MS Flexible ซึ่งผมเองได้ติดตามผลการดำเนินงานมาโดยตลอด และเข้าใจว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนในแต่ละกองยังอยู่ใน Theme ที่กำหนดไว้ คือ ค้าปลีก โรงไฟฟ้า รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สื่อสาร การเงินยุคใหม่ เป็นต้น ซึ่งผมเชื่อว่า กิจการที่มั่นคงเหล่านี้จะผ่านวิกฤตไปได้ และเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างแน่นอน

ข้อสรุป และข้อคิดก็คือ …

ในภาวะวิกฤตแบบนี้ กลยุทธ์การลงทุนถือเป็นเรื่องสำคัญ หากคิดว่า สภาวะแบบนี้เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นไม่บ่อย ก็ควรทบทวนแนวคิดของตัวเราเอง และเริ่มมองหาแนวทางการลงทุนที่เน้นระยะยาวที่ยังมีอนาคต มีการเติบโต ผมและทีมงาน จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ เราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันครับ

#นายแว่นลงทุน

ดูรายละเอียด RUNNING for Growth ได้ที่ https://www.finnomena.com/port/naiwaen/


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต