สำหรับปัญหาหลักของนักลงทุนรายย่อยก็คือ “เวลาหุ้นตก อยากช้อน แต่เงินดันหมด” … ผมคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาคลาสสิกที่นักลงทุนหุ้นต้องประสบพบเจอกันบ่อยมาก แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ยังไงดี ?
ว่าที่จริงตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบกับปัญหาดังกล่าว เวลาที่หุ้นขึ้น เราก็มักจะซื้อหุ้นเต็มมือ และปล่อยให้มันขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่พอหุ้นตก เราก็ยังคงมีหุ้นเต็มมือ “ไม่มีเงินสด !!” ทำให้เสียโอกาสเก็บหุ้นราคาถูกไปอย่างน่าเสียดาย !
แล้วเราจะแก้ปัญหา เวลาหุ้นตกแต่เงินหมดอย่างไร ? ลองมาดูวิธีแก้กันครับ
จากภาพตัวอย่าง สมมติว่าเรามีเงินเริ่มต้นลงทุน 100,000 บาทถ้วน และเราเล็งหาหุ้นลงทุน จนเจอหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 10 บาทต่อหุ้น
เราทำการประเมินมูลค่าหุ้นแล้วพบว่า … อีก 8 เดือนข้างหน้าราคาหุ้นจะขึ้นไปกว่า 25 บาทต่อหุ้น ! (เป็นตัวอย่างสมมตินะครับเพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ) เราจะทำอย่างไรดี ? เมื่อตอนนี้เรามีเงินอยู่ในมือ 100,000 บาท ในขณะที่ราคาหุ้น 10 บาท
เรามาดูวิธีบริหารจัดพอร์ต และเงินสดแบบ Step by Step ในกรณีแบบนี้กันครับ
- เดือนแรก … เราซื้อหุ้นด้วยเงินหนึ่งแสนบาททั้งหมดได้หุ้นมา 10,000 หุ้น ใช้เงินไป 1 แสนบาท
- เดือนที่สอง … ราคาหุ้นขึ้นมาเป็น 15 บาทต่อหุ้น เราขายหุ้นออกไป 10% คือ 1,000 หุ้น ได้เงินสด 15,000 บาท เหลือหุ้นในมือ 9,000 หุ้น
- เดือนที่สาม … ราคาหุ้นตกลงไปเหลือ 10 บาทต่อหุ้น เรานำเงิน 15,000 บาท เข้าไปช้อนซื้อ ได้หุ้นมา 1,500 หุ้น รวมกับหุ้นเดิมที่เรามี 9,000 หุ้น ทำให้เราได้จำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 10,500 หุ้น
- เดือนที่สี่ … ราคาหุ้นขึ้นไปเป็น 15 บาทต่อหุ้น เราขายอีกครั้งที่ 10% ของจำนวนหุ้นที่เรามี ทำให้หุ้นในมือเหลือ 9,450 หุ้น และเรามีเงินสดในมือ 15,750 บาท รอช้อนซื้อหุ้นตอนราคาตก
- เดือนที่ห้า … ราคาหุ้นตกลงมาเหลือ 10 บาทต่อหุ้น เรารีบช้อนซื้อ ได้หุ้นมา 1,575 หุ้น ทำให้หุ้นในมือเราเพิ่มเป็น 12,075 หุ้น ในขณะที่เงินเราลงไปตอนแรกแค่ 100,000 บาท ได้ 1 หมื่นหุ้น เราไม่ได้เพิ่มเงินใหม่เข้าไปเลย แต่ได้หุ้นเพิ่มมาอีก 2,075 หุ้น
- ว้าป … มาเดือนที่แปดเลยครับ … ราคาหุ้นขึ้นเป็น 25 บาทต่อหุ้นตามที่คำนวณมูลค่าพื้นฐานเอาไว้ แต่เรามีหุ้นอยู่ในมือ 12,075 หุ้น ทำให้มูลค่าพอร์ตสุทธิที่ 301,875 บาท เติบโตขึ้นจากขนาดพอร์ต 1 แสนบาทสามเท่า … ในขณะที่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย พอร์ตเราจะโตขึ้นเป็น 250,000 บาท หมายความว่า การที่เราแบ่งขายหุ้นออกมาบ้าง 10% ยามหุ้นขึ้น ทำให้เรามีขนาดพอร์ตโตขึ้นได้เหมือนกัน
ข้อสรุป และข้อคิดก็คือ …
วิธีการแบบนี้ดูเหมือนง่าย แต่ทำจริงยากมาก เพราะราคาหุ้นมักจะผันผวนตลอดเวลา แต่สิ่งที่ผมอยากสื่อก็คือ เวลาหุ้นขึ้น เราควรแบ่งขายออกมาบ้างราว 5-10% ของขนาดพอร์ตในตอนนั้น ไม่ได้ให้ขายทั้งหมด เพื่อเวลาหุ้นตก จะได้มีเงินช้อนซื้อ แต่สำหรับคนที่มีกระแสเงินสดประจำ ก็ไม่จำเป็นต้องจับจังหวะแบบนี้ หรือคนที่พอร์ตใหญ่มาก ๆ เช่น ดร.นิเวศน์ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำ เพราะลำพังเงินปันผล ก็มากมายมหาศาล เป็นกระแสเงินสดที่มากพอที่จะมาช้อนซื้อหุ้นราคาถูกยามวิกฤตินั่นเองครับ
#นายแว่นลงทุน
**สนใจลงทุนในพอร์ต RUNNING for Growth พอร์ตกองทุนรวมหุ้นซึ่งจัดโดยนายแว่นลงทุน คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเลย https://www.finnomena.com/port/naiwaen