คำถามที่นักลงทุนหลายคนอยากรู้มากที่สุดก็คือ “จุดที่น่าลงทุนที่สุดคือจุดไหน” … คำถามนี้เป็นเรื่องของการกำหนดจังหวะการลงทุน หรือ กรอบระยะเวลาลงทุนนั่นเอง …
มีนักลงทุนระดับโลกที่เป็นตำนานท่านหนึ่ง ชื่อว่า วิลเลียม โอนิล (William O’Neil) กล่าวไว้ว่า … “บางครั้งการซื้อหุ้นดีราคาถูก ยังไม่สำคัญเท่ากับการซื้อหุ้นที่กำลังจะขึ้น” หมายความง่ายๆ ก็คือ หากเรามีจังหวะการซื้อหุ้นที่ถูกต้อง เราจะทำกำไรได้เร็วกว่าการซื้อหุ้นดีราคาถูก แต่ติดอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานเกินไป นั่นก็เพราะ “เวลา” คือต้นทุนอย่างหนึ่งของนักลงทุนนั่นเอง … แล้วถ้าจะซื้อหุ้นโตเร็ว ซื้อตอนไหนดีที่สุดมาติดตามกัน
จังหวะแรก “ซื้อตอนเติบโตด้วยหนี้สิน”
ใครที่คิดจะลงทุนหุ้นโตเร็ว แล้วสนใจลงทุนตั้งแต่เริ่มต้น จังหวะการซื้อตอนที่หุ้นประเภทนี้ยังเติบโตด้วยหนี้สิน ก็เป็นจังหวะซื้อที่ไม่เลวนัก เนื่องจากเราจะได้ต้นทุนที่ต่ำ และหากเรารอคอยได้ไม่รีบก็ไม่ต้องสนใจว่าราคาจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างไร แต่ถ้าลงเมื่อไรก็สอยเข้าพอร์ตก็เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี ในช่วงการเติบโตที่เงินทุนยังน้อย ยังไม่สามารถขยับขยายกิจการด้วยกระแสเงินสด หลายบริษัทที่เครดิตไม่ดีนัก อาจเลือกหนทาง “เพิ่มทุน” กับผู้ถือหุ้นแทนการกู้เงินจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือแม้แต่การออกหุ้นกู้ก็ยังมีต้นทุนที่สูง ทำให้การเพิ่มทุนเป็นสิ่งที่นักลงทุนพึงระมัดระวังหากคิดจะลงทุนตั้งแต่เฟสแรกๆ ของการเติบโต และสิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องแน่ใจว่ากิจการเติบโตได้จริงอย่างที่ตั้งความหวังเอาไว้นะครับ
จังหวะที่สอง “ซื้อเมื่อใกล้ถึงจุดคุ้มทุน”
จังหวะต่อมาสำหรับผมคิดว่า เป็นจังหวะที่ดีกว่าในการลงทุนหุ้นโตเร็ว เนื่องจากความเสี่ยงด้านการเงินลดลงไปพอสมควรแล้ว และเริ่มที่จะคุ้มทุน หรือ Break Even Point
การคุ้มทุนหมายถึง กิจการเริ่มที่จะทำกำไรแล้ว เริ่มพ้นน้ำ … ตัวอย่างของการคุ้มทุนก็มีมากมาย หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น กิจการเดินรถไฟฟ้าที่เมื่อผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้วกระแสเงินสดเริ่มขยับปรับบวก และกำไรจะเริ่มไหลเข้าสู่กิจการ อย่างรถไฟฟ้า BTS ที่พอผ่านจุดคุ้มทุนไปได้ก็มีกำไรหลักหลายพันล้านบาท จนสามารถนำรายได้ไปออกเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนหุ้นรถไฟฟ้าอีกตัวก็คือ BEM ใกล้จะคุ้มทุนเร็วๆ นี้ หากตัวเลขเที่ยวโดยสารขยับปรับขึ้นเลย 3-3.2 แสนเที่ยวต่อวันก็มีลุ้นที่จะคุ้มทุน และทำกำไร
จังหวะที่สาม “ซื้อเมื่อกิจการเริ่มขยายตัวด้วยกระแสเงินสด”
หากเราซื้อหุ้นตอนผ่านจุดคุ้มทุนใหม่ๆ กำไรอาจจะยังมาไม่มากนัก ยิ่งเป็นกิจการที่ต้องลงทุนต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารที่ต้องขยายสาขาไปเรื่อยๆ เพื่อการเติบโต ช่วงเวลานี้อาจยังไม่เหมาะ ขอให้รอไปอีกหน่อย จนกว่ากิจการจะเริ่มมีกระแสเงินสดที่มากพอมาขยับขยาย โดยไม่ต้องกู้เงิน หรือออกหุ้นกู้
ตัวอย่างของกิจการที่เริ่มขยายตัวด้วยกระแสเงินสด ได้แก่ CPALL ที่การขยายสาขาใช้กระแสเงินสดมาขยาย ไม่ได้ใช้เงินกู้มาขยาย กิจการจะโตเร็วมาก ในขณะที่ฐานะทางการเงินก็แข็งแกร่ง แต่หนี้สินที่เราเห็นในหุ้นตัวนี้กลับมาจากการซื้อกิจการ MARKO ไม่ใช่หนี้สินจากการขยายสาขานะครับ
การซื้อหุ้นในเฟสของการเติบโตด้วยกระแสเงินสดมีข้อเสียก็คือ เราอาจต้องจ่ายแพงหน่อย แต่จ่ายค่าเติบโต ส่วนใหญ่แล้วพีอีของหุ้นในเฟสนี้จะสูงมาก แถมเงินปันผลยังน้อยอีกด้วย
จังหวะสุดท้าย “ซื้อตอนจ่ายปันผลสูงๆ”
สำหรับคนที่ไม่ชอบเสี่ยงอะไรมากมาย และอยากเห็นผลตอบแทนแบบ “เน้นๆ” การซื้อหุ้นเติบโตในเฟสที่จ่ายเงินปันผลงามๆ ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ … อันที่จริงเมื่อหุ้นเติบโตเข้าสู่เฟสนี้มันจะกลายเป็น “หุ้นปันผล” เนื่องจากเริ่มโตช้าลง แต่ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ และด้วยความที่การลงทุนต่างๆ เริ่มลดน้อยถอยลงไป ทำให้มีเงินสดเหลือมาก และจ่ายปันผลออกมามากเช่นกัน
สำหรับจังหวะต่างๆ ของการซื้อหุ้นโตเร็วนั้น ผมขอไม่ฟันธงว่าจุดไหนเหมาะสมที่สุด แต่อยากให้นักลงทุนพิจารณาเอาจากตัวเองว่าเป็นคนรับความเสี่ยงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหน หากเรารับความเสี่ยงได้มากหน่อย ซื้อหุ้นตั้งแต่เริ่มแรกก็จะได้หุ้นราคาถูก แต่ต้องรอนาน หรือหากรับความเสี่ยงได้น้อย ซื้อหุ้นในช่วงหลังๆ ก็อาจตอบโจทย์ได้ดีกว่าก็เป็นไปได้ครับ
#นายแว่นลงทุน