ถ้าคิดถึง “ร้านขนมหวาน” เชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องอยู่ในใจของใครหลายคน ร้านที่ว่าก็คือ After You ร้านขนมหวานที่คนส่วนใหญ่ก็รู้จัก แต่คนส่วนน้อยที่ยังไม่เคยใช้บริการก็มี หรืออาจจะอยากกินแต่รู้สึกว่ามันแพง ??
สมมติเล่น ๆ ว่า เจ้าของกิจการ After You เข้ามาชวนคุณเป็นร่วมเจ้าของร้านขนมที่แสนจะโด่งดังเจ้านี้ คุณก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีว่า … เราควรจะร่วมเป็นเจ้าของกิจการกับเขาดีหรือเปล่า?
ใช่แล้วครับ การร่วมเป็นเจ้าของกิจการก็คือ เราเข้าไปถือหุ้นของกิจการนั้น ๆ นั่นเอง และเราสามารถซื้อหุ้น AU ได้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจการของเขา … แต่ก่อนที่เราจะซื้อหุ้น เรามาดูกันหน่อยดีกว่าว่ามันคุ้มหรือไม่คุ้มกันแน่ ให้ #นายแว่นลงทุน เล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
“สถานะปัจจุบันของเขาเป็นอย่างไร”
ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 32 สาขา (ตัวเลขเดือนธันวาคม 2561) มีขนาดกิจการ 7,000 ล้านบาท ถ้าเราซื้อหุ้น After You ตอนนี้เท่ากับเราใช้เงินซื้อสาขาของเขาที่ 7,000 / 32 = สาขาละ 218 ล้านบาท (โดยประมาณ)
ยอดขายในปัจจุบันทำได้ 880 ล้านบาทต่อปี เท่ากับทำได้สาขาละ 27.5 ล้านบาทต่อปี ส่วนกำไรในปัจจุบันทำได้ 147.43 ล้านบาท เท่ากับกำไรต่อสาขาที่ 4.6 ล้านบาทโดยการเติบโตของรายได้ ทำได้ 20% ต่อปี ถ้าโตแบบนี้ไปเรื่อย ๆ รายได้จะโตเป็นสองเท่าภายใน 3.5 ปี (ตามกฎ 72)
ส่วนของรายได้ในปัจจุบัน
รายละเอียดในส่วนของรายได้ในปัจจุบัน ปี 2561 ทำได้กว่า 880 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ทำได้ 735 ล้านบาท หรือโตขึ้นกว่า 19.77%
ถ้าเรามองลึกเข้าไปจะพบว่า … ส่วนที่โตขึ้นมากนั้นเป็นส่วนของรายได้จากการจัดงานนอกสถานที่ รับจ้างผลิต และการขายผ่านสำนักงานใหญ่ ที่โตขึ้นกว่า 67.06%
รายได้จากส่วนนี้โตขึ้นมากเนื่องจากบริษัทได้ขยายงานในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ชื่อการค้า “ขนมปังเนยโสด” และ “ขนมปังนมโสด” (ชื่อเก๋ไก๋ดีจัง) ซึ่งจำหน่ายผ่านทางสำนักงานใหญ่ตั้งแต่เริ่ม และต่อมาก็ได้มีการกระจายวางขายที่สาขาร้านต่าง ๆ เรียกว่ามีสินค้า “เรือธง” ตัวใหม่นั่นเอง
ส่วนของต้นทุนขาย และกำไรขั้นต้น
ในส่วนของกำไรขั้นต้นของกิจการในปี 2561 ทำได้ 582.12 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 66.83% ซึ่งต้องบอกว่าสูงขึ้นเล็กน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุที่กำไรขั้นต้นสูงขึ้นมาจากการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของวัตถุดิบที่บริหารจัดการได้เป็นอย่างดี
สำหรับค่าใช้จ่ายในการขาย จะประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายพนักงานประจำสาขา ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่าอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยค่าใช้จ่ายในการขายของปี 2561 อยู่ที่ 271.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 19.12% เพราะจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น ก็ต้องจ้างพนักงานเพิ่มเติม แต่ก็แลกมาด้วยยอดขายที่สูงขึ้นนั่นเองครับ
ข้อสรุป และข้อคิดก็คือ… ถ้าเราอยากลงทุนทำร้านขนมหวานแบบนี้ เราก็ต้องมานั่งคิดเล่น ๆ ว่า หากเราไปทำด้วยตัวเองจะติดตลาดได้อย่างที่เขาทำหรือไม่ ? แต่ถ้ามองดูตัวเลขแล้วยังรู้สึกว่ามันแพงเกินไป ก็ข้ามไปก่อนก็ได้ครับ หุ้นในตลาดยังมีอีกหลายร้อยตัวให้เราเลือกลงทุน จริงมั้ยล่ะครับ?
#นายแว่นลงทุน
หมายเหตุ: ดูข้อมูลหุ้น AU เพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/stock/au
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้