เศรษฐกิจถดถอยคืออะไร? มันเป็นแบบไหน? ทำให้ตลาดหุ้นหรือพอร์ตการลงทุนเราเจ็บได้จริง ๆ หรือ?
ลองมาติดตามผ่านบทความนี้กันครับ
Recession คืออะไร? นิยามเป็นแบบไหน?
Recession คือ การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจที่แผ่ผลในวงกว้าง มีนัยยะสำคัญ และมีการตกต่ำของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรอบเวลาที่ค่อนข้างยืดเยื้อ (มีผลในช่วงเวลาหนึ่ง) โดยกฎเหล็กของ Recession ที่เรามักเอามายึดถือในโลกปัจจุบันก็คือการที่…
“GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส”
Recession จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภคและการจ้างงาน
รูปแบบของ Recession รู้ไว้ก่อน จะได้เข้าใจเกมภาพใหญ่โลกลงทุน
Boom and Bust Recession
ที่มา: netsuite.com
ตลาดหุ้นผันผวนอย่างไร การเติบโตเศรษฐกิจก็มีความผันผวนเช่นกัน ปกติเวลาที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงจะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางหรือรัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะ เงินเฟ้อในอัตราที่พอเหมาะพอดีอ่อน ๆ เช่น ประมาณ 2% จะช่วยให้คนอยากใช้จ่ายหน่อย ๆ กู้นิด ๆ ลงทุนเพิ่มและทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่างเสถียรด้วยอัตราที่พอเหมาะ
นั่นคือสิ่งที่ธนาคารกลางมักจะตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่โลกความเป็นจริงอาจไม่ได้มี perfect case เกิดขึ้นได้ขนาดนั้น เพราะเรื่องของเงินเฟ้อไม่สามารถคุมให้จบโดยใครคนใดคนหนึ่งได้ เช่น หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างสงคราม โรคระบาด หรือการดำเนินนโยบายที่เกินตัว เงินเฟ้อก็อาจเกินควบคุม
นั่นจึงนำไปสู่การขึ้น “ดอกเบี้ย” ซึ่งเปรียบเสมือนการทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น เช่น การกู้ยืมแพงขึ้น ดอกเบี้ยบ้านแพงขึ้น ส่งผลให้คนอาจจะใช้จ่ายน้อยลงและเมื่อการใช้จ่ายน้อยลง สินค้าขายไม่ค่อยออก ผู้ผลิตคงไม่อยากขึ้นราคาหรือลดราคาเพื่อขายสินค้า ทำให้เงินเฟ้อหรือราคาลดลง เป็นต้น
Balance Sheet Recession
ที่มา: netsuite.com
การถดถอยของเศรษฐกิจในรูปแบบนี้หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่ายที่สุดคือ “ญี่ปุ่น” ประเทศที่กำลังเผชิญกับ “ทศวรรษที่สูญหาย” หรือ “Lost Decades”
Balance sheet recession เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาระหนี้ที่สูงเกินตัว จนส่งผลให้คนไม่กล้าใช้จ่าย (ลำพังก็มีหนี้อยู่แล้ว) อีกทั้งยังทำให้คนให้ความสำคัญกับการจ่ายหนี้ หรือพูดง่ายก็คือการ เคลียร์งบดุลตนเอง (clean up their balance sheets)*
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงอาจส่งผลให้การกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น เงินอัดฉีด หรือ การลดอัตราภาษี ไม่ทำให้คนนำเงินไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการจนเศรษฐกิจเติบโต แต่กลับกันคนดันเอาเงินไปชำระหนี้ที่ตนเองมีก่อน คล้าย ๆ กับการที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหดตัวลงจนส่งผลให้การให้ความสำคัญในแต่ละเรื่องของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
*งบดุลประกอบไปด้วยสินทรัพย์และหนี้สิน
Depression
ที่มา: netsuite.com
Depression คือการถดถอยเวอร์ชั่นอัปเกรดของ Recession ที่มีความรุนแรงกว่ามาก โดย GDP อาจมีการติดลบได้ถึงกว่า 10% และอัตราการว่างงานอาจใกล้เคียงหรือสูงถึง 30% ตัวอย่างของ Depression ง่าย ๆ คือวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 1930s (Great Depression) ของสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกที่เศรษฐกิจกำลังรอการฟื้นฟู รวมไปถึงเคสสงครามอื่น ๆ ที่อาจยืดเยื้อจนเศรษฐกิจถดถอยยาวนาน
Supply-Side Shock
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับวิกฤตนี้คงเป็นช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ที่ฝั่งการผลิตตั้งตัวไม่ทันและผลิตสินค้าไม่ได้ตาม Demand ที่เกิดขึ้นหลังจากการเปิดเมือง รวมถึงเคสยอดฮิตอย่างในช่วงปี 70s ที่เกิดเงินเฟ้อร้อนแรงและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแบบมหาโหด ซึ่งวิกฤติเหล่านี้ถ้าอยากให้จบเร็วก็ต้องเร่งสร้างสมดุลระหว่าง Demand และ Supply ให้เร็วที่สุด มิเช่นนั้นเหตุการณ์เหล่านี้อาจคงอยู่อีกนานหลายปี
ผลกระทบของ Recession ต่อตลาดหุ้น และสินทรัพย์อื่น ๆ
ในวิกฤติมืด 8 ด้าน จริง ๆ แล้วหากมองอีกมุมนึงคือโอกาสชั้นยอดในการเข้าลงทุนตัวอย่างเหตุผลต่าง ๆ จะมีอะไรบ้างเราลองมาดูกัน
ในช่วงวิกฤต เป็นจังหวะสำหรับเข้าลงทุนในบางสินทรัพย์ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว
ที่มา: investingcaffeine.com
เรามักได้ยินมาว่ายามวิกฤตคือโอกาส
ภาพที่ว่าน่าจะสื่อความหมายเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เพราะอะไร? เพราะหากเราดูจากภาพสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล ในระยะยาวดูเหมือนจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะหุ้น) ในขณะที่ทองคำและเงินดอลลาร์ในระยะยาวดูจะสร้างผลตอบแทนไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับการฝากเงินเฉย ๆ
ดังนั้นเวลาเกิดวิกฤติเราอาจจะลองหยิบภาพนี้มาดูสักนิด เหมือนกระเถิบออกมาดูภาพกว้างว่าการขยึกขยักของสินทรัพย์บางประเภทถ้าเทียบกับภาพกว้างมาก ๆ แล้ว ถือว่าไม่ได้ผันผวนเท่ากับตอนที่เรายืนอยู่ในจุดหนึ่ง ๆ ของช่วงเวลา
อีกทั้งถ้าเราเข้าลงทุนในจังหวะที่สินทรัพย์นั้น ๆ ย่อตัวลง อาจทำให้เราได้จุดเข้าซื้อที่ดีกว่า (สร้างผลตอบแทนได้มากกว่า) อีกด้วย
วิกฤตก่อให้เกิดจังหวะในการเข้าลงทุนในหุ้นบางประเภทที่มีช่วงเวลาเฉิดฉายต่างกันตามช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจ
ที่มา: investing.com
บางคนอาจจะอยากได้หุ้นที่วิ่งแรงสุด ๆ กอบโกยให้มาก ๆ จากในช่วงขาขึ้น ภาพนี้น่าจะช่วยทุกคนได้ โดยในแต่ละช่วงเวลาของตลาดจะมีหุ้นบางกลุ่มทำผลงานได้ดีอยู่เสมอ เช่น หลังฟื้นตัวกลุ่มขนส่ง (ตัวอย่างเช่น หุ้นเรือ) ทำผลงานได้ดี และมาต่อที่หุ้นเทคโนโลยีและอื่น ๆ ในช่วงถัด ๆ ไป
ดังนั้นหากใครพอจะรู้ว่าเรายืนอยู่ ณ จุดไหนของวัฏจักร เราอาจจะลงทุนดักไว้ล่วงหน้าก็ได้
หลัง Recession จบตลาดหุ้นมักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในปีถัด ๆ ไป
ที่มา: forbes.com
จากภาพเราจะเห็นได้ว่าในช่วง 6 เดือน 12 เดือน และ 2 ปี หลังจากเกิดภาวะถดถอยตลาดหุ้นอเมริกาทำผลตอบแทนหลังจากนั้นได้ดีในปีถัด ๆ ไป โดยในช่วง 6 เดือนหลังจากการถดถอยตลาดหุ้นทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 7% ช่วง 12 เดือน ทำผลตอบแทนเฉลี่ย 16% และในช่วง 2 ปีหลังจากการถดถอยทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 20%
แต่หากกรณีที่เกิดการปรับตัวลงแบบโหด ๆ อย่างเช่นในช่วง Great Depression เราจะสังเกตได้ว่าผลตอบแทนหลังจากนั้นจะสูงลิบตาเลยทีเดียว โดย 2 ปี ให้หลังจาก Great Depression จบ S&P 500 ทำผลตอบแทนได้ถึง 55%
นี่คือเหตุผลในบางส่วนว่าทำไมวิกฤตถึงเป็นโอกาสในการลงทุนชั้นยอด
หวังว่าข้อมูลที่ผมนำมาเสนอในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
Mr. Serotonin
References
https://investingcaffeine.com/2014/05/24/searching-for-the-market-boogeyman/
https://www.netsuite.com/portal/resource/articles/business-strategy/types-of-recessions.shtml