EBITDA เจ๋งจริงหรือ? ดีจริงไหม? บทความนี้จะพาทุกคนมาสำรวจกัน
EBITDA คืออะไร?
EBITDA คือ การนำ กำไรก่อนดอกเบี้ย (earning before interest หรือ EBIT หรือ operating income หรือ net income + interest + tax) ภาษี (tax) ค่าเสื่อมราคา (depreciation) และค่าตัดจำหน่าย (amortization) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการเอาตัวอักษรขึ้นต้นของคำศัพท์ภาษาอังกฤษต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางบัญชี ธุรกิจและคำเชื่อมภาษาอังกฤษมารวมกันนั่นเอง
E (earning) B (before) I (interest) T (tax) D (depreciation) A (amortization)
อธิบายเพิ่มเติม
ค่าเสื่อมราคา คือ ค่าใช้จ่ายเป็นงวด ๆ ของสินทรัพย์ที่มีตัวตน จับต้องได้ เช่น เครื่องจักร เป็นต้น หรืออธิบายง่าย ๆ คือการทยอยหักอายุใช้งานคงเหลือไปเรื่อย ๆ
ค่าตัดจำหน่าย คือ ค่าใช้จ่ายเป็นงวด ๆ ของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ เช่น ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ภาพแสดงสูตรคำนวณ EBITDA ที่มา: adisonc.com
EBITDA มีประโยชน์อย่างไรต่อนักลงทุน
- EBITDA สามารถใช้วัดความสามารถของผู้บริหารได้แบบหมัดต่อหมัด เพราะ EBITDA คือกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี บวกด้วยค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย ซึ่งการบวกกลับค่าเหล่านี้เข้าไปจึงหมายถึงว่าวัดกันที่กำไรเน้น ๆ จากการบริหารโดยไม่รวมพวกดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจจะไม่ได้สะท้อนการดำเนินงานจริง ๆ เช่น บางบริษัทได้นโยบายสนับสนุนจากรัฐ 5 ปี ทำให้จ่ายภาษีน้อยกว่าเพื่อนตามกรอบเวลาที่กำหนด เป็นต้น
- ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายถือว่าไม่เป็นค่าใช้จ่ายที่มีเงินสดออกไป อีกทั้งนโยบายการคิดค่าเสื่อมของแต่ละบริษัทอาจต่างกันอีกด้วย
- อย่าลืมเอา EBITDA มาใช้เทียบในธุรกิจประเภทเดียวกันนะ เช่น ค้าปลีกกับค้าปลีก ไม่ใช่ค้าปลีกกับเหล็ก (เป็นวัฏจักร) หรือโรงไฟฟ้า (มีค่าเสื่อมสูง จินตนาการง่าย ๆ สร้างโรงไฟฟ้ากับร้านค้าเล็ก ๆ ต้นทุนย่อมต่างกันแน่แท้) เป็นต้น)
EBITDA ใช้อย่างไร
ภาพแสดงสูตรการคำนวณ EBITDA Margin ที่มา: knowledge.bualuang.co.th
- ใช้เทียบศักยภาพการทำกำไรของธุรกิจประเภทเดียวกัน (อุตสาหกรรมเดียวกัน) ผ่านการใช้ EBITDA Margin เพื่อดูศักยภาพการทำกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย โดยหลังเทียบกันแล้วบริษัทไหนมีค่านี้ที่สูงกว่าออกบอกเป็นนัย ๆ ว่าบริษัทนั้นเจ๋งกว่า แต่อย่าลืมไปเจาะลึกสาเหตุด้วยล่ะ ว่าเพราะอะไร เช่น ค่านี้สูงเพราะกำไรโตเอา ๆ หรือค่าเสื่อมโตเอา ๆ แต่กำไรไม่โต
- เอามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจที่มีค่าเสื่อมสูง ๆ โหด ๆ เพราะลงทุนในการสร้างสินทรัพย์เยอะได้ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า โรงแรม เป็นต้น
EBITDA vs Operating Income (กำไรจากการดำเนินงาน) ต่างกันอย่างไร?
มาถึงจุดนึงนักลงทุนหลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าแล้วไรใช้ Operating income (กำไรจากการดำเนินงาน) แทน EBITDA ไม่ได้หรอ อันนี้ก็วัดฝีมือเหมือนกันหนิ เอากำไรจากการดำเนินงานล้วน ๆ ซึ่งข้อแตกต่างของทั้ง 2 ตัวนี้ก็คือ…
EBITDA มีการบวกกลับค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายเข้าไปด้วย ในขณะที่ Operating income จะเป็นแค่ในส่วนของ EBIT หรือกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการบวกกลับค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายเข้าไปเพิ่มนั่นเอง
EBITDA = Bull S*** Earning? (EBITDA ห่วยแตกจริงหรือ)
หนึ่งในนักลงทุนที่วิจารณ์การใช้ EBITDA ได้อย่างถึงพริกถึงขิงคงหนีไม่พ้นคู่หูของนักลงทุนระดับตำนานอย่าง ชาลี มังเกอร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า “EBITDA นั้นห่วยแตก”
เรื่องนี้พอจะบอกอะไรเราได้บ้าง? ประเด็นก็คือมุมหนึ่ง EBITDA คือการพยายามตัดพวกสิ่งที่ไม่สะท้อนการดำเนินงานออกไป ค่าเสื่อม ดอกเบี้ย บลา ๆ
แต่อีกมุมหนึ่งหากลองคิดกลับกัน ถ้าผู้บริหารบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ลงทุนซื้อของมั่วซั่ว จนบริษัทค่าเสื่อมล้น จนทำให้ EBITDA ที่มีการบวกกลับค่าเสื่อมเข้าไปออกมาสูงมาก ๆ ล่ะ?
ถึงจุดนี้หลายคนน่าจะพอนึกภาพตามกันออก ดังนั้น ในความเห็นของผมสิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราต้องไป dig deep ขุดลึกว่าบริษัทนั้น ๆ เนี่ยมีสตอรี่เรื่องราวประวัติเป็นอย่างไรกันบ้างจะได้ทราบถึงสาเหตุและจะได้รู้ว่าบริษัทนั้น ๆ ดีจริงหรือไม่จริง
อีกทั้งบางบริษัทอาจจะเลือกนำเสนอเฉพาะ EBITDA เพราะ EBIT หรือกำไรบรรทัดสุดท้ายไม่โตก็มี ฉะนั้นดูหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ มุมดีกว่าครับ
สรุปส่งท้าย
ใด ๆ ก็แล้วแต่เครื่องมือหรือตัวช่วยตีมูลค่าต่าง ๆ จะไม่มีความหมายใด ๆ กับเราเลย หากเราไม่ได้ไปลงลึกรายละเอียด สืบประวัติย้อนหลังดูอดีตยาว ๆ เพราะรายละเอียดเหตุผลเบื้องลึกน่าจะเป็นตัวเฉือนการลงทุนที่ดีหรือไม่ดีกับเราได้ดีกว่า
เครื่องมือต่าง ๆ ช่วยเราสกรีนกรองบริษัทได้ แต่อย่าลืมดูย้อนหลาย ๆ ปี และสืบเหตุผลให้ลึกซึ้งครับ จะได้ไม่โดนหลอกกัน
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
Mr. Serotonin
References
https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/ebitda-margin/
https://www.longtunman.com/37455
หนังสือกุญแจอ่านงบการเงิน โดย Mr.LikeStock