Decentralization จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง! วงการการเงินกำลังจะถูกปฏิวัติ? แต่เหตุผลที่ว่าคืออะไร?
ในฐานะคนที่เชื่อว่านักลงทุนที่ดีต้องเข้าใจสิ่งที่ลงทุนอย่างถึงแก่น งานนี้ Mr. Serotonin จึงขออาสาเปิดสมอง เจาะลึก Terra และ LUNA แบบ Deep dive เจาะลึกให้ถึงแก่นในแบบฉบับแมวข้างบ้านก็เข้าใจได้ เพื่อนักลงทุนทุกคนรวมถึงตัวผมเอง!
ซึ่งต้องบอกเลยว่าค่อนข้างว้าวมาก ๆ เพราะหลังศึกษาเบื้องต้นจริง ๆ มันอาจหมายถึงโลกอนาคตที่ใครก็ตามที่มีมันสมองสุดว้าว สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจหรือประเทศของตนเองขึ้นมาได้เลยทีเดียว (และต้องบอกว่าไม่กาวแน่นอน! มีเหตุผลรองรับ!!!)
ใครพร้อมเปิดสมองไปพร้อม ๆ กับ ผมก็เข้ามาอ่านบทความนี้ได้เลย ผมพยายามสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ แต่เข้มข้นตามสไตล์ Mr. Serotonin แน่นอน!
LUNA (Terra) คืออะไร?
LUNA คือ เหรียญผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง UST (Terra USD) ซึ่งทำหน้าที่รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของ UST ให้เสถียรสมดุลดั่งใจหวังอยู่เสมอ โดยอธิบายเป็นกลไกง่าย ๆ ก็คือ ถ้า UST มีมูลค่าสูงกว่า 1 ระบบจะทำการซื้อคืน LUNA แลกกับ UST ที่จะเข้าไปอยู่ในระบบแทน (เป็นการเพิ่ม Supply UST และกดให้ระดับอตราแลกเปลี่ยนที่เฟ้อลดลง) ในทางกลับกันหาก UST มีมูลค่าน้อยกว่า 1 ระบบจะทำการพิมพ์ LUNA ออกมาเพื่อซื้อคืน UST ในระบบ (ลด Supply UST เพื่อดันระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้สูงขึ้น)
นอกจากนี้เหรียญ LUNA ยังมีความน่าสนใจอื่น ๆ อย่างระบบที่ออกแบบมาเพื่อสร้างผลตอบแทนอันต่อเนื่องกับผู้ขุดเหรียญอีกด้วย
Terra กับการเป็น Stablecoin และระบบเศรษฐกิจ
ความผันผวนทางด้านราคาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกของคริปโตเคอเรนซี่ และกลายเป็นอุปสรรคของการนำสกุลเงินมาปรับใช้
เพราะหากเราคิดภาพง่าย ๆ คงไม่มีใครอยากใช้เงินที่จู่ ๆ วันนึงราคาเพิ่มเป็นสองเท่า และวันดีคืนดีอาจลดลงมาอีก 2 เท่ากันเป็นแน่ เงินอะไรถือทีเดิมพันเหมือนเข้าคาซิโน
ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็จะยิ่งสร้างอุปสรรคให้กับธุรกรรมที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เช่น การผ่อนหรือแบ่งจ่ายที่ต้องจ่ายเป็นงวด ๆ หลายเดือนหรืออาจจำหลายปี การจำนองบ้าน รวมไปถึงสัญญาค่าจ้างต่าง ๆ เพราะ คงไม่มีใครอยู่ดี ๆ เป็นหนี้เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวใน 5 วัน หรือเจ้าหนี้ได้รับเงินน้อยลงกว่าตอนปล่อยกู้จากค่าเงินที่ผันผวนอย่างหนัก
Terra เป็นระบบที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ว่าในคริปโตเคอเรนซี ผ่านการควบคุม Demand Supply ของค่าเงิน ซึ่งการกระทำที่ว่าหากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คงคล้ายกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่หรือ Fixed rate ที่ไทยเราเองก็เคยใช้มาก่อนในการเข้ามาแก้ปัญหาความผันผวนของค่าเงิน
นอกจากนั้นอีกความคูลของระบบ Terra ที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ Terra จะมีการใช้เงินจากคลัง (Treasury) ในการสนับสนุนอัดฉีดแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ dApp หรือ Decentralized Application ที่มีคุณภาพ มีผลการดำเนินงานดีและได้การอนุมัติโดยผู้มีสิทธิโหวต
ซึ่งหากอธิบายง่าย ๆ ก็คล้าย ๆ กับการที่เปิดให้คนมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้การสนับสนุน ตัวอย่างพวกนี้เห็นได้ง่าย ๆ อย่างเช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มักจะได้ adder หรือราคาค่าไฟเพิ่มพิเศษจากรัฐในการพัฒนา
อ่านมาถึงตรงนี้พอจะคุ้น ๆ หรือเปล่าครับว่า Terra อาจจะมีทั้งระบบในแง่ของธนาคารกลางและมาตรการกระตุ้นของรัฐ ซึ่งเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งถ้ามันสำเร็จคือมาได้ก็อาจหมายถึงการสร้างประเทศโดยอาจไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากใคร!
Terra มีค่าได้อย่างไร?
เบื้องต้นต้องเกริ่นก่อนว่าระบบ Terra จะนำตัวเองไปผูกหรือ Peg กับสกุลเงิน Fiat ต่าง ๆ (เงินดอลลาร์ เงินบาท) ที่เราใช้ในการทำธุรกรรมอยู่ทั่วไป ซึ่งการเอาไปผูกหรือ Peg กับค่าเงินใดค่าเงินนึงก็จะต้องผ่านการโหวตโดยผู้มีสิทธิก่อนและถ้าผู้มีสิทธิเห็นดีเห็นงามถึงจะเกิด TerraUSD TerraGBP ฯลฯ (นึกภาพตามง่าย ๆ ก็อารมณ์ EURUSD USDJPY)
อย่างไรก็ตาม TerraSDR จะเป็นสกุลเงินตัวหลักในการอ้างอิงของระบบเนื่องจากมีความผันผวนต่ำที่สุดจากการที่ SDR คือ ระบบที่มีการกระจายสัดส่วนในค่าเงินหลักของโลกหลายสกุลเงิน (แต่หลังจากนี้ขออนุญาตยกตัวอย่างเป็น TerraUST เพื่อความคุ้นเคยที่มากกว่า)
สกุลเงิน Terra ที่ผูกกับเงิน Fiat จะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้อย่างอิสระกับตัวอื่น ๆ และวันใดวันหนึ่งหากค่าเงิน Fiat ของประเทศต่าง ๆ ยินยอมมา Pair กับ Terra มากเพียงพอ ถึงวันนั้น Terra ก็จะสามารถใช้นานการแลกเปลี่ยนค้าขายได้อย่างอิสระ
อะไรคือระบบเบื้องลึกเบื้องหลัง ที่ช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนของ Terra มีความเสถียรอยู่เสมอ
Terra จะมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแท้จริงที่เหมาะสมโดยผู้ที่มีสิทธิโหวต (Validators) หรือผู้ยืนยันธุรกรรมที่ได้รับการคัดเลือก โดยการโหวตคนที่โหวตได้ใกล้เคียงกับค่ากลางและอยู่ภายในกรอบที่ไม่เบี่ยงเบนกับเรตที่โหวตกลาง (1 sd) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเรตที่ไม่ต่างกันมากกับเรตที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเหมาะสมจะได้รับรางวัลตอบแทน
ในขณะเดียวกันคนที่โหวตออกนอกกรอบดังกล่าวอาจได้รับการลงโทษผ่านการลดสิทธิ (เพื่อไม่ให้เกิดการปั่นเรตเผื่อเข้าผลประโยชน์ตนเอง) ซึ่งการโหวตจะถูกโหวตโดยทั้งผู้ใช้งานในระบบที่มีสัดส่วนหลักและนักขุดเพื่อสร้างสมดุลไม่ให้เกิดการโหวตที่เข้าผลประโยชน์ตนเองมากเกินไปหรือเข้าข่ายคอรัปชั่น
ขณะเดียวกันตามหลักเศรษฐศาสตร์ 101 การจะเพิ่มระดับราคาของค่าเงินก็ต้องใช้การดูด Supply เงินออก ซึ่งจะทำได้โดยการที่ระบบซื้อ Terra คืนออกจากระบบ (คล้ายการดูดเงินบาทผ่านการที่ธนาคารกลางเอาดอลลาร์ไปแลก) รวมถึงการเบิร์นหรือกำจัดเหรียญทิ้ง
แล้วเงินที่ใช้มาแลกเปลี่ยนเพื่อดูดเงินออกจากระบบมาจากไหน? ก็คงต้องบอกว่ามาจาก นักขุด (Miners) ที่ทำหน้าที่ผลิตเหรียญออกมา (คล้าย ๆ กับคนพิมพ์เงินแบบ Fed ที่ต้องแบกความเจ็บปวด) และเช่นกันเมื่อขุดออกมาเรื่อย ๆ Supply ล้น มูลค่าเหรียญที่ขุดก็ต้องลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน
ดังนั้นนักขุดจึงต้องรับบทพระเอกผู้ต้องรับชะตากรรมแบกรับความผันผวนของ Terra ไปโดยปริยาย
แล้วมีเหตุผลอะไรที่นักขุดเหรียญจะต้องขุดทั้งที่ตนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งยังเสียประโยชน์ด้วยซ้ำถือไปมีแต่ด้อยค่า ก็ต้องบอกว่าการเสียผลประโยชน์ในจุดนี้อาจเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ๆ เพราะในทางกลับกันแล้วในระยะยาว Terra มีการออกแบบให้ระบบคำนวณการเติบโตของนักขุดเพื่อสร้างผลตอบแทน ซึ่งผ่านการทดสอบในกรณีที่เลวร้ายมาก ๆ มาแล้วว่ายังสร้างผลตอบแทนได้ ส่วนจะเป็นอย่างไร ผมขอเก็บไว้อธิบายทีหลังเพื่อความไหลลื่นในการอ่าน
Terra ควบคุมค่าเงินไม่ให้ผันผวนได้อย่างไร?
จะเอา Terra ต้องทำยังไง? ต้องวาง Luna!
การจะขุด Terra ได้นั้น นักขุดจะต้องนำเหรียญอันโด่งดังในช่วงที่ผ่านมาอย่างเหรียญ LUNA มาวางไว้ (Stake) ก่อนถึงจะทำการขุดได้
โดยระบบจะมีการแต่งตั้งผู้ผลิตบล็อก (Block producer) หรือคนสร้างบล็อกเก็บข้อมูลที่เป็นตัวบันทึกหลักฐานการทำธุรกรรมใน Blockchain จากนักขุดส่วนหนึ่ง โดยคนที่มีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้ผลิตบล็อกจะต้องเป็นผู้เอา Luna มาวางในสัดส่วนน้ำหนักที่มาก หรือพูดง่าย ๆ คือผู้มีพระคุณที่มอบสภาพคล่อง (Supply) ซึ่งใช้การรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของ Terra ให้มีความเสถียรก็จะเป็นผู้ที่มีสิทธินั่นเอง ดังนั้น Luna จึงเปรียบเสมือนทุนสำรองไปโดยปริยาย
Luna จะถูกนำมาใช้เปรียบเสมือนเหรียญสำรองฉุกเฉินในการปกป้องความผันผวนทางด้านราคาของ Terra โดย Luna จะถูกนำมาใช้สำหรับแลกเปลี่ยนกับ Terra ยามที่อัตราแลกเปลี่ยนไม่ตรงกับเรตเป้าหมาย เพื่อสร้างสมดุลให้กับราคาของ Terra เช่น ถ้าราคา TerraUST ต่ำกว่า 1 ระบบจะดูดเอา TerraUST จากผู้ถือเหรียญและนักเก็งกำไร (ดูดเงินออกจากระบบเพื่อลด Supply) เพื่อดันราคาขึ้นให้กลับไปสู่สมดุล ผ่านการแลกเปลี่ยน TerraUST กับ LUNA
ตัวอย่าง
หากมีคนสนใจต้องการซื้อเงิน TerraUST 1 หน่วยระบบจะทำการขุด Luna เพิ่มเพื่อเอามาแลกเปลี่ยนกัน
หากมีคนสนใจจะขาย TerraUST 1 หน่วย (ไม่อยากถือแล้ว) ระบบก็จะเอา Luna ไปแลกกับคนที่ขาย
หรือเราอาจจะจินตนาการง่าย ๆ ได้ว่า Luna อาจจะคล้าย ๆ ดอลลาร์ซึ่งมีหน้าที่เป็นเหรียญ Reserve ที่ใช้ในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนก็ว่าได้ ซึ่งถ้าในกรณีที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยน TerraUST สูงกว่าระดับที่ตั้งใจไว้ก็จะเกิดกระบวนการคล้ายกันในทางตรงกันข้าม
ระบบข้างต้นจะช่วยเลี้ยงระดับอัตราแลกเปลี่ยนของ Terra ให้มีความใกล้เคียงกับอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมายที่กำหนดไว้
ดังนั้นสรุปง่าย ๆ Supply ของ Luna จะมีแต่งอกขึ้นเรื่อย ๆ จนมูลค่าอาจลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะต้องขุดออกมาเรื่อย ๆ เพื่อรักษา Terra
Luna จึงเปรียบเสมือนพระเอกที่เสียสละตนเองในการปกป้องระดับอัตราแลกเปลี่ยนของ Terra ให้มีความเสถียรอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจทำให้นักขุดที่เอาเหรียญ Luna มาวางไว้ได้รับผลกระทบได้
แบบนี้ Luna ที่ถูกขุดเรื่อย ๆ ก็มีแต่เสื่อมเอา ๆ สิ ใครจะมาอยากขุดให้ แต่ไม่ต้องกลัวคำตอบของคำถามที่ว่าอยู่ในส่วนถัดไป!
Luna กับการสร้างผลตอบแทนให้นักขุดที่ยอมทนเจ็บแบบพระเอกในระยะสั้นเพื่อความมั่งคั่งในระยะยาว
อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าคนขุดเหรียญจะต้องทำหน้าที่ผู้เสียสละยอมเสียผลประโยชน์ทนถือ Luna ที่มีแต่ล้นเอ่อขึ้นทุกวันเพื่อช่วยให้ ระบบของ Terra ก้าวต่อไปได้ ดังนั้น ผลตอบแทนของนักขุดจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักขุดขุดต่อไปเรื่อย ๆ และสร้างสภาพคล่องให้กับระบบ Terra ระบบจึงได้มีการออกแบบการสร้างผลตอบแทนให้ผู้ขุดได้ประโยชน์ในระยะยาว ดังนี้
- นักขุดจะได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมในกรณีที่สกุลเงิน Terra ถูกนำไปใช้ซื้อขายหรือจับจ่ายใช้สอยในอัตราที่ 0.1%-1.00% ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ทำธุรกรรมและนักขุดเพราะ คนทำธุรกรรมก็ได้ทำธุรกรรมในอัตราค่าธรรมเนียมที่ถูกมาก ๆ ในขณะที่นักขุดก็ได้ผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียม
- Seigniorage (Luna burn) หรือการเบิร์น Luna สิ่งนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ Demand ของ Terra เพิ่มขึ้นจนส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนขยับตามและสูงกว่าเรตที่ตั้งใจไว้ ระบบจะทำการขุด Terra เพื่อเอามาแลกกับ Luna (คล้าย ๆ กับเวลาที่ Fed พิมพ์ดอลลาร์มาซื้อพันธบัตรแต่เป็นการขุด Terra มาซื้อ Luna แทน) ซึ่งถ้าต้นทุนในการพิมพ์แบงค์ดอลต่ำกว่าราคาพันธบัตร Fed ก็จะได้กำไรแล้วเอากำไรดังกล่าวไปเก็บเข้าเป็นเงินคลังสำหรับใช้จ่ายต่อไป จากนั้นระบบก็จะทำการเบิร์นเหรียญ Luna บางส่วนทิ้งเพื่อรักษามูลค่าของ Luna ด้วยเช่นกัน
ภาพแสดงสมการผลตอบแทนของผู้ขุดเหรียญ ที่มา: เปเปอร์ Terra and Money: Stability and Adoption ข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2019
แต่ปัญหาก็คือหากฝั่งต้นทุนในการขุดเกิดสูงกว่าแรงจูงใจในการขุดเหรียญก็อาจจะหายไป เพราะขุดแล้วขาดทุน ซึ่ง P(t) หรือผลตอบแทนจากการขุดมีแนวโน้มจะเกิดความไม่แน่นอนจากปัจจัย 2 ส่วนนี้
- ความไม่แน่นอนด้านค่าธรรมเนียมที่อาจลดหลั่นลงไปในช่วงเศรษฐกิจขาลงจากการที่คนไม่ทำธุรกรรมหรือทำธุรกรรมลดลงใน DaPP จึงอาจส่งผลให้ผลตอบแทนนักขุดลดลงไปด้วย
- ความไม่แน่นอนด้าน Supply ของ Luna ที่คนขุดอาจจะไม่ขุดในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี จนอาจส่งผลให้อัตราการเบิร์น Luna ลดลงตามไปด้วย อีกทั้งคนอาจจะขอเอา Terra ไปแลกคืนเป็นเงิน Fiat ทั่ว ๆ ไปแทน
ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่าผลตอบแทนจากการขุด (Mining rewards) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และอาจส่งผลต่อความตึงตัวทางด้านสภาพคล่องของระบบเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเพราะระบบ Protocal ของ Terra ออกแบบมาเพื่อพยายามรักษาผลตอบแทนให้คงที่ผ่านการกระทำดังนี้
ควบคุมค่า Fee และลดการเบิร์น Luna ซึ่งเปรียบเสมือปัจจัยด้านผลตอบแทนของนักขุดดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้า หาก Reward สูงเกินไปเพื่อสร้างสมดุล
เพิ่มค่า Fee และการเบิร์น Luna ซึ่งเปรียบเสมือนปัจจัยด้านผลตอบแทนของนักขุดดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้า หาก Reward ลดลง ซึ่งการทำสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในทุก ๆ สัปดาห์
เท่านั้นยังไม่พอนอกจากการปรับสมดุลผลตอบแทนของนักขุดให้คงที่และเสถียร ระบบ Terra ยังใส่ปัจจัยการเติบโต (Growth) ให้กับนักขุดในระยะยาวด้วย ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการปิดประตูความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว แต่มีการใส่อัตราการเติบโต (g) เข้าไปตอบแทนนักขุดในระยะยาวด้วย ซึ่งอัตราของการเติบโต (g) ก็จะขึ้นอยู่กับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โดย Terra จะมีพวก Application ในโครงข่ายที่เข้ามาช่วยสร้างการเติบโตให้กับระบบต่อไป
กระบวนการดังกล่าวข้างต้นจะทุกทำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีการปรับสมดุลทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อให้ในระยะยาวนั้นนักขุดซึ่งเป็นหัวใจของสภาพคล่องในระบบมีแรงจูงใจ Incentive ในการตั้งหน้าตั้งตาขุดต่อไป!
ดังนั้นเราอาจจะสรุปได้ว่านักขุดเหรียญ Terra จะได้ทั้ง Growth หย่อม ๆ และได้ผลตอบแทนที่คงที่ผ่านการปิดประตูความเสี่ยงไปด้วย
ภาพแสดงสมการผลตอบแทนของผู้ขุดเหรียญ ที่มา: เปเปอร์ Terra and Money: Stability and Adoption ข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2019
ดังนั้นจากสมการข้างต้นจะเท่ากับถ้า reward ลดลงครึ่งนึง (Rt) ระบบจะทำการปรับค่าธรรมเนียม (ft) เป็น 2 เท่าเพื่อสร้างสมดุลอัตโนมัติ รวมถึงใส่การเติบโต (g) เข้ามาเพื่อให้เกิดผลตอบแทนในระยะยาวด้วย
*ft+1 = ค่าธรรมเนียม ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง
bt = อัตราการเบิร์นเหรียญของ Luna
g = อัตราการเติบโต
Rt = ผลตอบแทนจากการขุด
ระบบให้ผลตอบแทนนักขุดของ Terra ขายฝันจริงหรือ?
คำถามในหัวสำหรับบางคนต่อไปก็อาจจะเป็น แบบนี้จะไว้ใจได้ยังไงว่าระบบที่เค้านำเสนอจะจัดการได้จริงเวลาเกิดวิกฤตจริง ๆ ก็พังหรือเปล่า มีโช่งโหว่ด้านการ coding หรือเปล่า
ซึ่งสารภาพจากใจจริงผมก็ไม่ได้รู้เรื่อง Coding…. แต่ ๆๆ ผลของการทำ stress test ย้อนหลัง 10 ปี แบบเคสโคตร Extreme ก็แสดงผลที่ได้แบบน่าประทับใจดังนี้!!!
ภาพแสดงการลดลงของการทำธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจ Terra ในช่วงเกิดภาวะถดถอย ที่มา: เปเปอร์ Terra and Money: Stability and Adoption ข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2019
ภาพแสดงการปรับสมดุลอัตราแลกเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจ Terra ผ่านการเบิร์นเหรียญ Luna และการปรับลดค่าธรรมเนียมในช่วงเกิดภาวะถดถอย ที่มา: เปเปอร์ Terra and Money: Stability and Adoption ข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2019
ภาพแสดงผลตอบแทนของนักขุดเหรียญ Terra ในช่วงเกิดภาวะถดถอย ที่มา: เปเปอร์ Terra and Money: Stability and Adoption ข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2019
ความคูลก็คือเค้าได้มีการกำ stress test ระบบดังกล่าว ซึ่งผลที่ได้จากการทดสอบย้อนหลัง 10 ปี ก็คือ ผลตอบแทนนักขุดเติบโตเติบโตได้ค่อนข้างเสถียรเลยทีเดียว
นอกจากนั้นการทำ Stress test ดังกล่าวถือว่าค่อนข้างโหด extreme เพราะ assume ว่าการเติบโตเกิดการถดถอยถึง 93% มายังจุดต่ำสุดในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น (จินตนาการเป็นเคสแบบเจอสงคราม GDP การเติบดตหดฮวบ) ซึ่งระบบก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้และสร้างผลตอบแทนให้กับนักขุดต่อไป
Terra อาจหมายถึงการปฏิวัติด้านการสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่
จากที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่า Terra มีการเบิร์น Luna เพื่อรักษาสมดุลของผลตอบแทนผู้ขุด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวหากเกิดส่วนต่างระหว่างต้นทุนและราคา เงินที่ได้จะถูกเก็บเข้าไปสำรองในคลังซึ่งเงินสำรองในคลังจะถูกนำมาบริหารเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า Decentralized application (dApp) หรือแอปพลิเคชั่นด้านการเงินต่าง ๆ ที่จะถูกนำมาเข้าระบบ Terra และทำให้ระบบมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกแอปพลิเคชันที่ต้องการเข้ามาอยู่ในระบบ Terra จะต้องสร้างผ่านรากฐานของระบบตัวนี้
dApp ที่สามารถเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจของ Terra นั้นจะต้องถูกอนุมัติโดยผู้อนุมัติโดยผู้มีพระคุณต่อระบบอย่างผู้ถือครอง LUNA (LUNA Validators) หรือว่าง่าย ๆ ก็คือนักขุด Terra โดยผลการโหวตจะต้องมากกว่า 1 ใน 3 เสียง จากเสียงทั้งหมด ธุรกิจหรือแอปฯ ดังกล่าวถึงได้รับเงินสนับสนุนรวมถึงสามารถเข้ามาอยู่ในระบบของ Terra ได้
ซึ่งสิ่งนี้หากเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คงจะคล้าย ๆ กับการกระตุ้นทางการคลังที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างให้ระบบเศรษฐกิจของ Terra เติบโต ซึ่ง dApps ที่มีเข้าตากรรมการหรือมีผลการดำเนินการ (Track record) แข็งแกร่งต่อเนื่องก็จะได้เงินสนับสนุนในส่วนนี้มากขึ้นไปอีกคล้าย ๆ Incentive สำหรับผู้ขับเคลื่อนการเติบโตหลัก (อารมณ์คัดบริษัท IPO เข้าประเทศ)
Dencentralized app (dApps) ที่ได้รับการอนุมัติจะต้องทำการเปิดบัญชีกับทางการคลังและต้องผ่านการโหวตโดยผู้มีสิทธิโหวต (ผู้มีพระคุณที่กล่าวไว้ก่อนหน้า) โดยผู้มีสิทธิโหวตนอกจากจะเป็นผู้กำหนดนอกจากจะเป็นคนกำหนดผู้ถูกเลือกแล้วก็ยังมีสิทธิกำหนดสัดส่วนเงินที่สนับสนุนแต่ละแอปด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีสิทธิโหวตเลือก daPP ที่ไม่ได้คุณภาพเข้าแบลคลิสต์ด้วยเช่นกัน โดย dApp ที่ติดแบล็คลิสต์จะเข้าไปยังบัญชีที่เปิดกับการคลังไม่ได้อีกต่อไป
โดยไอเดียดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อการมอบเงินกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของแอปในเศรษฐกิจ Terra โดยตรง (นึกภาพง่าย ๆ เป็นมาตรการกระตุ้นด้านโครงสร้างพื้นฐานอะไรประมาณนั้น) ซึ่งแอปพลิเคชั่นที่ทำผลงานได้โดดเด่นมี track record ดีจะได้รับเงินสนับสนุนดังกล่าวเพิ่มเติมในการพัฒนาอีกด้วยในฐานะคนใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า (คล้าย ๆ กับการให้ Super stock ลงทุนหนึ่งหน่วยได้ผลตอบแทนหลายหน่วย หรือ ROI ดี)
โดยสูตรการคำนวณของ Protocal ที่ใช้ในการมอบเงินสนับสนุนก็จะมีหน้าตาประมาณนี้
ภาพแสดงสูตรการคำนวณเงินสนับสนุนทางการคลังที่แต่ละแอปพลิเคชันจะได้รับ ที่มา: เปเปอร์ Terra and Money: Stability and Adoption ข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2019
ตัว TVt จะเป็นยอดการทำธุรกิจกรรมของแอปนั้น ๆ (Transaction volume) ที่ใช้สำหรับวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งตีความง่าย ๆ ก็เหมือนเวลาเราดูพวกธุรกิจประเภท Credit card ที่เอายอดการทำธุรกรรมมาวัดการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งถ้ายอดนี้เติบโตต่อเนื่องก็อาจหมายถึงจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้น และรายได้ที่มากขึ้นของแอปตามยอดธุรกรรมตามไปด้วยนั่นเอง
ในขณะที่ Ft จะเป็นตัวแทนถึงจำนวนเงินจากคลังที่ได้รับ ซึ่งหลังเข้าสูตรคำนวณทั้งหมดค่าที่ได้ก็จะออกมาเป็น wt หรือสัดส่วนน้ำหนักเงินจากคลังที่แอปนั้น ๆ ควรจะได้รับ
*แสดงถึงค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของตัวแปรนั้น ๆ เช่น TVt* หมายถึง ยอดการทำธุรกรรมเฉลี่ยเพื่อเทียบกับยอดก่อนหน้าเพื่อที่จะได้รู้ว่ามันเติบโตขึ้นจริง ๆ อีกทั้งยังมีการเสริมคมด้วยการนำ F หรือเงินคลังมาเทียบค่าเฉลี่ยย้อนหลังด้วย เพื่อที่สุดท้ายตอนคำนวณออกมาเรียบร้อยดีแล้วจะได้รู้ว่าเงินทุก ๆ บาทหรือทุกดอลลาร์ที่ลงทุน ได้ผลตอบแทนเป็นเท่าไร (ออกแนวคล้าย ๆ ROI) ซึ่งถ้าสัดส่วนตอนสุดท้ายออกมาแล้วสูงแสดงว่าแอปนั้น ๆ เนี่ย เอาเงินที่ได้ไปลงทุนอย่างคุ้มค่าแล้วเกิดเป็นผลตอบแทนให้กับระบบเศรษฐกิจของ Terra อย่างยิ่งยวด
ส่วนตัว l เปนตัวที่ใช้วัดว่าแอปนั้น ๆ มีความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ Terra อย่างไร (อาจจะคล้าย ๆ พวกหุ้นใหญ่ ๆ ในตลาดที่เปรียบเสมือนตัวขับเคลื่อน GDP หลักของประเทศ)
ซึ่งการกระทำผ่านสูตรคำนวณที่ว่าก็มีข้อดี เพราะ เราไม่ต้องให้คน ผู้มีอำนาจ บางคนที่อาจจะเป็นคนไม่ดีไม่โปร่งใสไม่มีอำนาจมาตัดสินใจ ปฏิวัติวงการการเมืองกันไปเลย ใช้สูตรคำนวณระบบอัตโนมัติไม่มี อคติ คดโกงแน่นอน!!!!
ดังนั้นใครเป็นสาย activist อย่าลืมแชร์ไปให้เพื่อน ๆ คุณอ่าน เพราะนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างโลกใบใหม่ที่ดียิ่งขึ้นและเป็นการคานอำนาจผู้เป็นใหญ่บางคนที่อาจเป็นคนไม่ดี!
สรุปโดยรวม
ระบบ Terra ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการปฏิวัติวงการระบบ Central Bank ดั้งเดิมให้มีเสถียรภาพมากขึ้นและโปร่งใสมากขึ้น อีกทั้ง Terra ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการยกมาตรการทางการเงินและการคลังที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองหลักในการควบคุมระบบเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ธุรกิจแอปพลิเคชันทางการเงินต่าง ๆ มากมายมีทางเลือกมากขึ้นในการหาแหล่งเงินทุนและเติบโตต่อไป จบปัญหา Delist ความขาดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดดังเช่นทุกวันนี้
ผมเชื่อว่าระบบของ Terra เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการปฏิวัติวงการต่าง ๆ อีกหลายวงการค่อนข้างแน่นอน
และถ้าหากวันนึงการ Dencentralize ทำได้จริง มันอาจหมายถึงการ Disrupt จริง ๆ ก็เป็นได้
เราอาจสามารถยกประเทศมาอยู่ในระบบ Blockchain…
เราอาจลดปัญหาคอรัปชั่นได้จริง…
หรือยิ่งกว่านั้นเราอาจจะสร้างประเทศหรือระบบเศรษฐกิจอีกได้เอง…
และถ้าหากทำได้มันอาจหมายถึงการ Disrupt จริง ๆ ก็เป็นได้…
หวังว่าทุกคนจะได้รับความรู้กันอย่างเต็มที่นะครับ หากผมผิดพลาดตรงไหนสามารถถกเถียงติชมแบบ Constructive เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นได้เต็มที่เลย
บทความนี้มีข้อเสียไหม? คงต้องตอบว่ามีครับ ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้มาทางสาย Deep tech หรือแบรคกราวน์การศึกษามาจากพื้นเพดังกล่าว เพราะฉะนั้นเรื่องการ Coding เรื่องระบบว่าขายฝันหรือเปล่า Smooth จริงอย่างที่ทดสอบหรือเปล่าคนอ่านสามารถตั้งคำถามได้เต็มที่เลยครับ
สุดท้ายนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์และถ้าผิดพลาดยังไงขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
Mr. Serotonin
ความเสี่ยงของ Terra
ในส่วนสุดท้ายผมของพูดถึงเรื่องความเสี่ยงของ Terra ที่ผมพอจะนึกได้หลังจากได้อ่านมา
1. Terra ยังมีส่วนที่ใช้คนกลางอยู่ดี
การที่การอนุมัติแอปฯ ที่มีศักยภาพผู้ควรค่าแก่การอัดฉีด รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมยังถูกกำหนดโดยมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกล้ำยากอย่างถึง ดังนั้นหากเกิดการเตี๊ยมกันเป็นขบวนการก็อาจก่อให้เกิดการ Corrption ได้อยู่ดี
2. ระบบของค่าเงินย่อมมีวัฏจักรตั้งอยู่ดับไป
ส่วนตัวผมมองว่า Terra มีความคล้ายคลึงกับเฟส Claims on Hard Money ซึ่งคนถือ Terra ถูก Back มูลค่าโดยสกุลเงิน Fiat และสามารถสลับแลกเปลี่ยนไปมากับสกุลเงินในชีวิตประจำวัน (Fiat) รวมไปจนถึงอาจถูกค้ำยันโดย Luna ด้วย ดังนั้น ความเสี่ยงทางด้าน Supply ของ Luna ที่มีอยู่อาจเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป เพราะ หากไม่เพียงพอ Terra อาจจำเป็นต้องทิ้ง Luna ในวันที่คนใช้มากเพียงพอ และเข้าสู่ยุค QE ได้ ในเฟส 3 ซึ่งเป็น Fiat Money
ภาพแสดงวัฏจักรของเงิน ที่มา: newsletter.banklesshq.com วันที่: 27 เมษายน 2020
3. ผู้คนเกิดความสงสัยใน LUNA
อีกหนึ่งความเสี่ยงสุดท้ายที่ผมพอจะนึกได้ก็คือจู่ ๆ คนเกิดเลิกเชื่อมั่นใน LUNA และเลิกขุดกันไปซะอย่างนั้น ซึ่งสิ่งที่ว่าอาจส่งผลต่อระบบ Terra โดยตรง
อัปเดตล่าสุด เกิดอะไรขึ้นกับเหรียญ LUNA! อ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งก์ด้านล่าง
https://www.finnomena.com/finspace/luna-crashed
References
https://newsletter.banklesshq.com/p/maybe-im-a-maximalist-market-monday-02d?s=r