กลับมากันอีกครั้งกลับสรุป FINNOMENA Live ประจำวันโดยวันนี้ได้คุณ แบงค์ (Mr. Messenger) และคุณ กิ๊ก (อดีตผู้จัดการกองทุน CIMB) มาวิเคราะห์เจาะลึกการทำ QE แบบใจป๋า (ไม่อั้น) ของ Fed รวมถึงพอร์ตการลงทุนแนะนำจาก FINNOMENA Investent Team ในช่วงนี้ด้วยครับ ถ้าพร้อมแล้วก็อ่านไปพร้อมๆกันได้เลย!
อัพเดท พรก. ฉุกเฉินจากไทย
ในช่วงบ่ายของวันนี้มีการประกาศ พรก. ฉุกเฉินขึ้น โดยเหมือนจะมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจต่างๆ ควบคุมการเข้าใช้สถานที่ และจำกัดเวลาได้ เพื่อให้ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้นเดี๋ยวจะมีการแจกแจงยิบย่อยต่างๆออกมาอีกที
Timeline การปั๊มหัวใจกระตุ้นตลาดหุ้นของ Fed
ช่วงที่ผ่านมา Fed ออกมาตรการยื้อยุดฉุดกระฉากรัวๆ แต่ตลาดก็ยังเฉยเมยเรามาดูกันว่า Fed ได้ทำอะไรไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา
- วันที่ 3 มีนาคม 2563 ทาง Fed ลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% สู่ระดับ 1.00%-1.25% แต่ตลาดก็ยังปรับตัวลงต่อ
- วันที่ 10 มีนาคม 2563 Fed ทำ REPO หรือการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารกันเองเพิ่มเติม เพราะ ธนาคารขาดสภาพคล่อง Fed จึงเข้ามาปล่อยกู้ให้ธนาคารดำเนินกิจการต่อไปได้ หากยกตัวอย่างให้เข้าเจ้าง่ายๆก็เช่น สถานการณ์ระหว่างธนาคาร A และ B โดย B ขาดเงินฉุกเฉินเลยขอยืม A (ไม่งั้นเจ๊งแน่ๆ) แต่ A เห็นว่า B อยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เลยเสนออัตราดอกเบี้ยแพงๆไปให้ เพราะ B ไม่มีทางเลือก จากนั้น B ไม่รู้จะทำยังไงเลยไปขอให้ Fed ช่วย โดย Fed พิมพ์เงินออกมาให้ B แลกกับพวกตัว Treasuries ต่างๆ
- วันที่ 12 มีนาคม 2563 WHO (World Health Organisation) ได้ประกาศว่าการระบาดของ Covid-19 เป็น Pendemic หรือโรคระบาดร้ายแรง ทำให้ WHO มีอำนาจเหนือกว่ากระทรวงสาธารณสุขในประเทศต่างๆ โดยสามารถเอาทรัพยากรของประเทศนั้นๆ เช่น เงิน (เชิงบังคับ) ให้ไปช่วยผู้ป่วยทำให้แทนที่ประเทศนั้นๆจะเอาเงินส่วนนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับต้องใช้ไปแก้ปัญหาโรคระบาด จึงส่งผลให้ตลาดกังวลกว่าเดิม เพราะ ต้องมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก
- วันที่ 13 มีนาคม 2563 Fed เข้าช่วยซื้อพันธบัตร เมื่อคนแห่ขายจน spread และ yield ปั่นป่วนกันไปใหญ่ โดยเป็นการซื้อเพิ่มเติมจากปกติที่ทำแค่ในส่วนของ ตราสารหนี้ต่างๆและ Mortgage back securities (MBS) ไปเพิ่มในส่วนของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial paper) ด้วย
- วันที่ 15 มีนาคม 2563 Fed ลดดอกเบี้ยอีกเฮือกแต่คราวนี้ลดทีเดียว 1% สู่ระดับ 0-0.25% และประกาศทำ QE เพิ่มถึง 700,000 ล้านดอลลาร์
- วันที่ 19 มีนาคม 2563 Fed ประกาศสัญญา swap ค่าเงินดอลลาร์ชั่วคราวให้กับ ออสเตรเลีย, สวีเดน, สิงคโปร์, เกาหลี, บราซิล, และแมกซิโก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเงินดอลลาร์ได้ให้หายใจหายคอได้มากขึ้น เพราะหากประเทศอื่นพัง Fed อาจจะล้มตามไปด้วย
- วันที่ 23 มีนาคม 2563 Fed ประกาศทำ QE แบบป๋าๆ (Unlimited) โดยพูดเท่ห์ๆแบบกัปตันอเมริกาว่า [Whatever it takes(need)]
QE แบบป๋าๆ (Unlimited) ของ Fed ทำอะไรบ้าง?
- เพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดเงิน (Money market) เช่น ช่วยอุ้มซื้อกองทุนต่างๆและพันธบัตร ที่น่าสนใจก็คือแบงค์ชาติไทยทำก่อน Fed ด้วย โหดสุดๆ
- เสริมสภาพคล่องตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond) โดยถือเป็นครั้งแรกของ Fed ที่เข้ามาอุ้มภาคเอกชน หลังจากคนขายรีบเทขายด้วยความตื่นตระหนก ส่วนคนซื้อก็ไม่ได้อยากซื้อ เพราะ ราคามันลงเรื่อยๆ เลยต่อรองว่าถ้าซื้อก็ขอส่วนลดหน่อยละกัน ส่งผลให้ราคาร่วงแรงกว่าเดิม ซึ่งการทำเช่นนี้คล้ายๆกับการทำมาตรการทางการคลัง โดย Fed ขอรับซื้อเองหากไม่มีคนซื้ออยาก แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆเริ่มขาดสภาพคล่องจากการที่คนเทขายอย่างหนัก ซึ่งถือว่าเป็นการอุ้มตรงๆเลยกับผู้ประกอบการ
- เสริมสภาพคล่องธนาคาร (REPO) เมื่อก่อนธนาคารยืมกันเองก็เสียดอกเบี้ยนิดหน่อย แต่ตอนนี้ Fed บอกให้ยืมไปเลยที่ 0% (ยืมฟรี) ป้องกันกลุ่มธนาคารล่ม
- ครั้งนี้ Fed เข้าไปช่วยซื้อ Commercial MBS (คนที่กู้ไปทำห้างสรรพสินค้า โรงงาน ตึก ) หรือตัวทำเกิดวิกฤติ Subprime ที่เกิดจากการเอาตัวที่มี credit ดีๆมามัดรวมกับตัว credit ไม่ดีละมาเหมารวมว่าดี
- ช่วยธุรกิจขนาดเล็ก (SME) หากเงินหมุนไม่พอ สามารถมายืมเงิน Fed ได้ แต่ต้องจับตาดูด้วยว่าปล่อยให้ธุรกิจที่พื้นฐานไม่ดีหรือเปล่า?
- ตั้งวงเงินกู้แบบพิเศษสำหรับพวกการกู้ยืมต่างๆ e.g. student loan, credit card loans ช่วยภาคการบริโภค (Consumption) ให้เงินไปกู้ซื้อของแบบจัดเต็ม รวมถึงยืดระยะเวลาผ่อนชำระ แต่ต้องมีหลักทรัพย์มาคํ้าประกันนะ ตัวอย่างเช่น เอาบ้านไปคํ้าตอนกู้ รวมถึงผ่อนคลายการกู้ยืมส่วนบุคคลด้วย อาธิเช่น สินเชื่อการศึกษา โดยทำไปเพื่อลดหนี้เสียในระบบ
- ยืดชำระหนี้
หลัง Fed เดินเครื่องนโยบายสินทรัพย์ต่างๆตอบสนองอย่างไรบ้าง?
การตอบสนองของตลาดหุ้นหลังการกระตุ้นของ Fed
จากภาพจะสังเกตได้ว่าไม่ว่า Fed จะพยายามกี่ครั้งก็ตามแต่ ตลาดดูจะฟังมาตรการกระตุ้นของ Fed ไม่ขึ้น
การตอบสนองของพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีหลังการกระตุ้นของ Fed
ตัวผลตอบแทน (Yield ) ของพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีแกว่งไปแกว่งมาอยู่นาน แต่ล่าสุดหลังประกาศ QE แบบจัดเต็ม ตลาดพันธบัตรรัฐบาลก็ดูจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการที่ yield ลดลงมา
การตอบสนองของทองคำหลังการกระตุ้นของ Fed
มีการขายมาถือเงินสดก่อนหน้าในช่วงตลาดขาลง แต่ล่าสุด QE แบบป๋าๆทำให้ทองกลับมา และทองมักส่งสัญญาณก่อนตลาดหุ้นขึ้น (ผมเสริมเองครับจาก Live ก่อนหน้า)
Balance Sheet จับคู่กับอะไรถึงเข้ากัน?
Balance sheet กับ ทองคำ
ถือว่าเข้ากันใช้ได้เลย สำหรับ Balance sheet กับทองคำ แต่จุดสังเกตก็คือช่วงปี 2013-2014 ดูจะไม่เข้ากันนัก เหตุผลอาจเป็น เพราะ ตลาดมองว่าการทำ QE ใกล้จะจบและเศรษฐกิจน่าจะรอดแล้วเงินจึงไหลเข้าหุ้นแทน
ดังนั้นต้องใช้เหตุผลอื่นๆประกอบการตัดสินใจด้วย ไม่ได้ดูแต่เพียงตัวนี้อย่างเดียว
Balance Sheet กับ S&P 500
เข้ากันได้ดีแบบสุดๆไปเลยสำหรับ Balance sheet กับ ดัชนี S&P 500 ค่าความสัมพันธ์ (correlation) ชัดเจนมากๆ ยิ่งซื้อยิ่งขึ้น ยิ่งปล่อยยิ่งลด
แต่ช่วง 2008 หากสังเกตดีๆ ตลาดหุ้นจะลงต่ออีกพักหลัง balance sheet ขึ้นและจึงดีดตัวขึ้นในภายหลัง
Balance Sheet กับ U.S. Treasury Yield (10 Yrs.)
หลังจากที่ Fed ออก QE ช่วยซื้อพันธบัตรต่างๆ yield ก็ลดลง ส่งผลให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่โดยรวมคนยังแห่ขายกันเยอะ credit spread เลยถ่าง เลยยังคงต้องจับตาดูว่าทำให้ spread ที่ว่าลดลงไหม
FINNOMENA แนะนำลงทุนยังไงตอนนี้
1.สายเซฟๆเน้นอุ่นใจ
สามารถเข้าไปพักเงินสด และลดความเสี่ยงไว้ก่อนในพอร์ต “Money Plus” โดยมีข้อดีคือ ถอนเร็ว หมุนเงินได้เร็ว ความเสี่ยงตํ่า กำไรน้อย (เอาไว้พักเงิน) ได้ผลตอบแทนทุกวัน และผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก
พอร์ตนี้คัดเน้นๆจาก กองทุนตลาดเงิน (Money market fund) ทั้งหมดในไทย
โดยมีเงื่อนไขในการคัดเลือกคือ….
- ผลตอบแทนรายสัปดาห์ไม่ติดลบ ในช่วงที่ตลาดผันผวนที่ผ่านมา
- กองทุนไส้ในต้องมีคุณภาพดี ระยะสั้น อายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี
- ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝาก ไส้ทั้งหมด 80% เป็นพันธบัตรรัฐบาล
- กองขนาดใหญ่มากกว่า 10,000 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท เพราะ เดี๋ยวเอาของเข้าพอร์ตเพิ่มไม่ได้
- ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำ 12 เดือน ที่อยู่ที่ 0.93% (หักภาษีแล้ว)
โดยแนะนำเข้าซื้อ
TBMTM 50% ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง +1.22%
PHATRA MP 50% ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง +1.36%
จุดเด่นเสริมคือตัวไส้พอร์ตได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือของพันธบัตรรัฐบาล โดยอาจสามารถใช้มาตรการรัฐช่วยได้
2. สายบู๊คันไม้คันมือ
ตอนนี้เราแนะนำกลยุทธ์ลงทุนใน FINNOMENA GOAL ความเสี่ยง3,5 และ 7 ตามลำดับ
กลยุทธ์ ก็คือ จะเริ่มกลับเข้าซื้อตอนที่ค่าเฉลี่ย P/E คล้ายกับตอน subprime โดยที่ดัชนี SET Index มีราคาอยู่แถวๆ 900-555 จุด โดยจะแบ่งการลงทุนเป็นไม้ๆ และหากใครคนไม้คันมืออดใจไม่ไหวตอนนี้หากคิดว่าลงมาระดับนึงแล้วอยากลงทุนก็เริ่มทยอยได้เลย แนะนำให้ใช้สัดส่วน Port GOAL ความเสี่ยงระดับ 3 เข้าไปก่อนและหากราคากลับมา 900 ก็ต่อด้วย Port GOAL ความเสี่ยงระดับ 5 (จะอยู่ประมาณ wave ขาลง B พอดีเชิงเทคนิคอล) และหากลงลึกมากกว่าจึงเพิ่มเป็น Port GOAL ความเสี่ยงระดับ 7
โดยอาจปรับได้แล้วแต่คนว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน จะลงระดับ 7 สามรอบก็ได้ หากคุณรับความเสี่ยงได้ โดยเหตุผลที่มีการเข้าซื้อสามระดับ เพราะ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการกลับตัวของราคา
3. Tactical call สุดเร้าใจจาก FINNOMENA Investment Team
สำหรับผมมันคือการคอลสั้นๆเก็บเวฟ B ซึ่งเป็นเวฟพักตัวของขาลงในเชิงเทคนิคอล
เจาะลึกเทคนิคอลสักนิดก่อนลงพอร์ตนี้
เบื้องต้นจะสังเกตได้ว่ากราฟ 60 นาที RSI เกิด Bullish convergence หรือสัญญาณที่ขัดแย้งกันของ Indicators กับราคาหุ้นจริงในตลาด โดยจะสังเกตได้ว่าถึงแม้ตลาดไหลลง แต่ RSI ยังยืนอยู่และไม่ไหลลงตาม
จากกราฟ รายวัน (Day) ราคาลงมาทดสอบที่แนวรับ 23.6 ของ Fibonacci retracement โดยยังดึงๆอยู่อาจดีดขึ้นมาได้
สรุปโดยรวมแล้วเราอาจเล่น wave B ของตลาดขาลงได้ โดยอาจดีดตัวประมาณ 20% แต่ยังต้องจับตาดูตรง Moving average period 50 ก่อนต้องดูผ่านไหวไหม
โดยแนะนำเป็นตัว TMBGQG ซึ่งหนักการลงทุนในหุ้นอเมริกาเป็นหลักสอดคล้องกับดัชนี S&P 500ด้านบน โดยกระจายการลงทุนในหุ้นเติบโตทั่วโลก
สำหรับ Tactic นี้อาจจะต้องรอการยืนยันจาก FINNOMENA Investment Team อีกทีครับว่าจะ call เข้าตอนไหน แต่ถือว่าต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดหากต้องการลงทุนใน Tactic นี้ เพราะเป็นการเล่นสั้นๆและ Wave B ของขาลงคาดการณ์ได้ค่อนข้างยากว่าจะไปถึงไหน อาจจะต้องใช้ทักษะของผู้จัดการกองทุนเข้าช่วยครับ (ส่วนตัวผมไม่ได้เล่น Wave B อาจจะไม่เชี่ยวชาญในส่วนนี้)
สรุป LIVE ในวันนี้มีเวลาเหลือเยอะเลยเกลาภาษาออกมาให้อ่านเพลินๆเข้าใจง่ายๆ ถือว่าคลายเครียดกันไปนะครับ ไม่อยากให้ทุกคนเครียด รักษาสุขภาพด้วยครับ
ขอให้ทุกคนโชคดี