ในช่วงนี้นักลงทุนหลายๆท่านอาจเกิดความกังวลใจ ในช่วงที่ตลาดหุ้นรวมถึงสินทรัพย์หลายๆตัว ปรับตัวลงพร้อมๆกัน
แต่ทาง FINNOMENA พร้อมอยู่เคียงข้างนักลงทุนทุกคนเสมอครับ โดยในช่วงนี้เราจะมี Live สดออกมาเกาะติดสถานการณ์กันเรื่อยๆ อยู่เป็นเพื่อนคู่ใจนักลงทุนทุกท่าน ในยามที่ต้องการกำลังใจเช่นนี้กันไปเลย
โดยทางผม Mr.Serotonin ได้รับมอบหมาย มาสรุป Live ให้ทุกคนได้ดูกัน ซึ่งยังคงคอนเซ็ปต์เดิมคือ ให้เข้าใจได้ง่ายๆที่สุด
ถ้าพร้อมแล้วก็อ่านไปพร้อมๆกันได้เลยครับ
ก่อนอื่นเรามาอัพเดทสถานการณ์ตลาดและสินทรัพย์ในช่วงเช้าของวันนี้กันก่อนเลยครับ…
ตลาดหุ้นซาอุดิอาระเบีย ติดลบ 3%
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei 225) ติดลบ 2.4%
ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ติดลบ 9.7%
ตลาดหุ้นเอเชีย (ฮ่องกง, จีน, ไต้หวัน, อินโดเนเซีย, สิงคโปร์, อินเดีย, ไทย) ติดลบราวๆ 4.5%
ตลาดโภคภัณฑ์
ทองคำ
ปรับตัวลงมาที่ 1,510 จุดและปรับตัวขึ้นไปที่ 1,532 จุด
นํ้ามัน
ปรับตัวลงราวๆกว่า -1.5$ ลงมาที่ 30.56$ โดยระดับราคานํ้ามันที่ตํ่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตนํ้ามัน เช่น ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย รัสเซีย และหากลดลงน้อยกว่า 30$ หลายๆบริษัทอาจได้รับผลกระทบ
สรุปโดยรวม ตลาดโภคภัณฑ์ยังปรับตัวลง ยกเว้นสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทอง”
สาเหตุที่ตลาดปรับตัวลงวันนี้
เนื่องมาจาก Fed ลดดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว จาก 1.00%-1.25% เป็น 0.00%-0.25% หรือลดลง 1.00% ถ้วนจากปกติที่ลดทีละ 0.25% โดยเป็นการลดแบบฉุกเฉินก่อนการประชุมในช่วงวันพุธถึงพฤหัส
Fed อาจทำ QE ครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์ หรือจะเรียก 5.1 ก็ว่าได้เพราะ Fed แอบทำ QE อย่างลับๆผ่านตลาด REPO หรือการซื้อคืน U.S. treasuries เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบมาแล้วก่อนหน้า
Fed จะไม่ส่งสัญญาณ dot plot (ตัวชี้วัดที่เอาไว้ส่งสัญญาณว่าใน 1-3 ปีข้างหน้าคิดว่าดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไร) โดยเผยว่าอีกสองเดือนข้างหน้าจะไม่มีการประมาณการแนวโน้มดอกเบี้ย แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอน ตลาดจึงตีความหมายเป็นลบและปรับตัวลง
ระยะยาวสภาพคล่อง (เงินในระบบ) อาจล้นตลาด จากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก แต่ในระยะสั้นอาจเกิด กับดักสภาพคล่องหรือสภาพคล่องล้นแต่ผู้คนยังไม่มั่นใจ (Liquidity trap) เนื่องจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด 19 อาจทำให้ผู้คนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นถึงแม้มีการลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจให้กู้ยืมได้ในอัตราที่ถูก ผู้คนก็อาจจะยังไม่ออกมาขยับขยายมากนัก
และด้วยการทำเช่นนี้จึงทำให้เกิด circuit breaker ทันทีหลังตลาดฟิวเจอร์เปิดในช่วงเช้า
โดยรวมมีการคาดการณ์ว่าอาจมีทั้งนโยบายการคลังและมาตรการอื่นๆ ออกมาอีกยกใหญ่ เพื่อเรียกความมั่นใจของคน เพื่อดึงตลาดกลับมา
เปรียบเทียบการตอบสนองของตลาดในปัจจุบันกับช่วงวิกฤติซัพไพร์ม หลังการลดดอกเบี้ยของ Fed
หากเทียบกับช่วงซัพไพรม์ถือว่าสอดคล้องกัน เพราะช่วงนั้นตอน Fed ลดดอกเบี้ยตลาดก็ยังปรับตัวลงอยู่เช่นกัน โดยปัจจุบันตลาดอาจจะยังปรับฐานลงต่อเนื่อง
โดยต้องจับตามองในเรื่องของ
1)สงครามราคานํ้ามัน
2)Covid-19 ซึ่งหากมีวัคซีนออกมาได้เร็ว อาจทำให้ผู้คนมั่นใจ และออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่หาก สถานการณ์ยืดเยื้อ บริษัทอาจมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ได้
การคาดการณ์กำไรล่วงหน้า (Forward PE) ของตลาดหุ้นอเมริกา
อธิบายเพิ่มเติมซักนิด Forward PE คือตัวชี้วัดที่นำการคาดการณ์กำไรของบริษัทในอีก 4 ไตรมาสข้างหน้า มาหารกับดัชนีตลาดหุ้น โดยจะสังเกตุได้ว่าตอนนี้ค่า P/E ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือไม่ได้มาจากกำไรที่เติบโต แต่เป็นเพราะราคาหุ้นที่ลดลงอย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงศักยภาพทางธุรกิจที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 15 ดังภาพแต่หากเทียบกับช่วงวิกฤติซัพไพร์มแล้วค่า P/E ในช่วงนั้นลดลงมาถึง 12 เลยทีเดียว อาจจะลงได้ต่อ?
ทั่วโลกพร้อมใจอัดสภาพคล่องเข้าระบบ โดยซื้อคืน bond กันแบบชุดใหญ่
ตอนนี้ทั่วโลก Balance sheet มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นและทำ new high ไปเรียบร้อยแล้ว แต่รอบนี้ตลาดกลับไม่ฟื้น เพราะ ดูเหมือนผู้คนยังไม่ค่อยมั่นใจกับนโยบายกระตุ้น ณ ตอนนี้ว่าจะช่วยดึงตลาดกลับมาได้
การอัดฉีดสภาพคล่อง (เพิ่ม Balance sheet) กับ GDP สัมพันธ์กันหรือไม่?
จากภาพจะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกันในระดับนึง โดยมีการเพิ่มสภาพคล่องในช่วงล่าสุด แต่อาจต้องรอความมั่นใจของภาคธุรกิจกลับมาก่อน GDP ถึงฟื้นตัวตาม
เงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ภาครัฐอย่างต่อเนื่อง กลับกันกับตราสารหนี้ภาคเอกชน
โดยที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทน (Yield) ปรับตัวลงรุนแรงมาก สังเกตได้จากเส้นสีเหลือง (สัปดาห์ที่แล้ว) โดยอัตราผลตอบแทน (yield) ตอบสนองตามการลดดอกเบี้ยของ Fed โดยขยับไปกลับมากถึง 30-50 basis points เลยทีเดียว
และหากสังเกต อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (ช่วง 1 เดือนถึง 3 เดือน) ก็มีการลดลงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าธนาคารจะสามารถปล่อยกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก แต่ก็ยังคงต้องจับตามอง เพราะ หากดอกเบี้ยน้อยเกินไป ผู้คนอาจถอนเงินฝากซึ่งเป็นเงินทุนในการปล่อยกู้ของธนาคารได้เช่นเดียวกัน
เงินไหลไปไหน? วัดกันจะๆผ่าน spread (ส่วนต่าง) ของตราสารหนี้ภาคเอกชนเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล
จากภาพจะสังเกตุได้ว่าส่วนต่างของตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนดีดตัวขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าไปในตราสารหนี้ภาครัฐมากขึ้น เนื่องมาจากผู้คนอาจจะไม่มั่นใจในตราสารหนี้ที่ออกโดย บริษัท เพราะอาจผิดนัดชำระหนี้ได้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
แล้วอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) เป็นยังไงบ้าง?
EPS ของ S&P 500
ตัว EPS ที่ถูกคาดการณ์ในอนาคตมีแนวโน้มลดลงถึงแม้ที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอาจต้องจับตามอง เพราะ หากเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลง อาจแสดงถึงความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงเช่นกัน (รายได้บริษัทลดลง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น)
EPS ของ SET Index
มีการปรับตัวลงต่อเนื่องในส่วน EPS โดยช่วงล่าสุดได้ปรับตัวเป็นขั้นบันไดไหลลงมาแสดงถึงภาวะที่ยํ่าแย่เรียบร้อยแล้ว
EPS ของ CSI 300 (จีน)
ตัวรายได้ ยังทรงๆและยังถือว่าดูดีเลยทีเดียว หากเทียบกับประเทศอื่นๆข้างต้น
มุมมองทองคำ
จากสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเทขายของทองคำโดยอาจเป็น เพียงแรงขายอย่างตื่นตระหนก (panic sell) เพราะ ผู้คนอาจต้องการเงินสดในยามวิกฤติเนื่องด้วยเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง โดยรวมมองว่า “ทองคำ” ยังมีโอกาสถือได้ แต่ควรมีในสัดส่วนที่เหมาะสม และมีกระจายการลงทุน โดยในจุดนี้ถือว่าเป็นช่วงทยอยสะสม
มุมมองเชิงเทคนิคอล
ดัชนี S&P 500, DOW Jones และ NASDAQ
โดยรวมราคาได้หลุด Moving Average 200 ไปเรียบร้อยแล้วและหากเทียบกับวิกฤติก่อนหน้าระยะเวลาในการกลับมาได้จะเป็นดังนี้…
วิกฤติดอทคอม ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ครึ่ง
วิกฤติซัพไพร์มใช้เวลาราวๆ 1 ปีกับอีก 4-5 เดือน
ดัชนี DAX (เยอรมันนี)
เกิด Bearish Divergence หรือการที่เกิดแนวโน้มขาลงใน indicator สวนทางกับราคาที่เกิดแนวโน้มขาขึ้น (สัญญาณขัดแย้งกัน) โดยเกิดขึ้นติดกันสามรอบบน indicator อย่าง MACD ในช่วงปี 2017-2019 แสดงให้เห็นถึงการกลับตัวเป็นแนวโน้มขาลง
ดัชนี Shanghai Composite จีน
ทางด้านของจีนยังอยู่ในกรอบ sideway แต่มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้จากปัจจัยพื้นฐานที่ดูมั่นคงกว่าประเทศอื่น
ดัชนี SET Index ไทย
ในส่วนของ Fibonacci Retracement ยังไม่หลุดระดับ 0.50 แต่อาจต้องถอยออกมาก่อน เพราะ เราอยู่ในช่วง corrective wave ที่ชัดเจน (สูญเสียแนวโน้มขาขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว) โดยราคาอาจเด้งกลับมาได้ไม่แรง
สุดท้ายนี้ขอให้นักลงทุนทุกคนสู้ๆนะครับ ทางเราพร้อมเป็นกำลังใจให้เสมอ และเราจะก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันครับ ส่วนตัวผมขอตัวไปพักก่อนละกัน… รักษาสุขภาพกันด้วย ขอให้ทุกคนโชคดีครับ