ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพระเอกตัวจริงเสียงจริงจากหนัง The Big Short อย่าง Michael Burry ได้เริ่มสร้างปรากฎการณ์อีกครั้งหลังทำการ short หุ้น Tesla หนึ่งในหุ้นที่ฟอร์มร้อนแรงที่สุดในตอนนี้ เรามาดูกันว่าหากเราอยากคิดได้แบบ Michael Burry หรือนักลงทุนที่สร้างผลตอบแทนได้แบบเหนือชั้น เราจะต้องทำอย่างไร?
ว่ากันด้วยเรื่องของทฤษฎีตลาดสมบูรณ์ (Efficient Market Theory)
ถ้าหากจะสรุปทฤษฎีที่ว่าออกมาคร่าว ๆ เราก็อาจจะสรุปได้ดังนี้
- ทุก ๆ คนในตลาดเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนมีความสามารถ มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่นและทำงานอย่างหนักกับการลงทุน รวมถึงวิธีการวิเคราะห์ของทุก ๆ คนนั้นเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป
- และเนื่องด้วยการที่ทุก ๆ คนใช้ความพยายามอย่างเท่าเทียมกัน ข้อมูลจึงสะท้อนออกไปในตลาดผ่านราคาอย่างไร้ข้อบกพร่องในทุก ๆ สินทรัพย์ และผู้คนในตลาดจะทำการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่มีมูลค่าที่สมเหตุสมผลตลอดเวลา จึงทำให้ราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ สะท้อนออกมาอย่างเท่าเทียม
- ดังนั้นราคาหุ้นในตลาดจึงสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้น ๆ อย่างสมบูรณ์ จึงทำให้ไม่มีโอกาสผ่านความผิดพลาดของผู้คน
- สินทรัพย์ทุก ๆ ชนิดจึงให้ผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผลโดยตลอดและไล่ไปตามความเสี่ยง (พันธบัตรไปยังหุ้น หุ้นไปยังตราสารหนี้เกรดต่ำและอื่น ๆ)
แต่ถึงอย่างนั้นหากทฤษฎีที่ว่ามีอยู่จริง เราคงไม่ได้เห็นผลตอบแทนพันธบัตรในระดับที่สูงกว่าหุ้น เราคงไม่ได้เห็นพันธบัตรระยะสั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว และที่สำคัญเราคงไม่ได้เห็นนักลงทุนระดับโลกอย่าง Warren Buffett หรือนักเก็งกำไรระดับโลกอย่าง George Soros กันเป็นแน่
เพราะว่านักลงทุนและนักเก็งกำไรเหล่านั้นต่างก็หาโอกาสจากความไม่สมเหตุสมผลของคน ไม่ว่าจะเป็น bargain หรือข้อต่อรองที่ไม่อาจปฏิเสธได้ จากการคิดมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่าราคาที่สะท้อนออกไปในมุมมองของนักลงทุน
หรือจะเป็นความไม่สมเหตุสมผลและความร้อนแรงที่เกินเหตุ หรือความสุดโต่งของอะไรบางอย่างที่ทำให้นักเก็งกำไร เล็งเห็นโอกาสและสร้างผลตอบแทนอันน่าทึ่งมานัดต่อนัด และ Michael Burry เองก็อาจจะเป็นคนที่มองเห็นโอกาสส่วนนั้นในตอนนี้
ว่ากันด้วยเรื่องของทฤษฎีตลาด (ไม่) สมบูรณ์ (Inefficient Market Theory)
หากพูดกันถึงความไม่สมบูรณ์ของผู้คนที่ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลตลอดเวลา ในคลาสวิชาเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่านี้มาบ้าง:
วันหนึ่งอาจารย์กับนักศึกษาในคลาสเจอแบงก์ 100 ดอลลาร์ตกอยู่บนพื้น
นักศึกษา: มีใครทำแบงก์ 100 ดอลลาร์ตกอยู่ไม่รู้ครับ
อาจารย์: นั่นไม่ใช่แบงก์จริง ๆ หรอก เพราะ ถ้ามันเป็นแบงก์จริง ๆ คนคงเอามันไปใช้แล้วล่ะ
นักศึกษา: เก็บแบงก์แล้วเอาไปซื้อเบียร์….
ทฤษฎีตลาด (ไม่) สมบูรณ์ (Inefficient Market Theory)
- ราคาหุ้นในตลาดมักจะผิดพลาด เพราะ การเข้าถึงข้อมูลของทุก ๆ คนนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ราคาหุ้นในตลาดมักจะสูงกว่าหรือตำกว่ามูลค่าเนื้อแท้ของสินทรัพย์นั้น ๆ
- ผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ได้ร้อยเรียงกันแบบสมบูรณืแบบเสมอไป เพราะ สินทรัพย์ต่าง ๆ มักจะให้ราคาที่ผิดเพี้ยนออกไป โดยในบางครั้งอาจจะให้ผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงที่คุ้มค่ามาก ๆ หรือต่ำมากจนน่ากลัว
- นักลงทุนบางคนสามารถ “เอาชนะ” คนอื่น ๆ ได้ เพราะพวกเขาเหล่านั้นเล็งหา
- a) มูลค่าที่ผิดเพี้ยนอย่างมีนัยยะสำคัญ
- b) ความแตกต่างในด้านทักษะ การเข้าถึงข้อมูลของผู้เล่นในตลาดที่อาจทำให้เกิดมูลค่าที่ผิดเพี้ยนและทำกำไรจากข้อแตกต่างดังกล่าว
เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วหลาย ๆ คนก็คงจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่า “แล้วทำอย่างไรถึงจะเป็นคนส่วนน้อย หาโอกาสจากความไม่สมบูรณ์ และเป็นสุดยอดนักลงทุนได้ล่ะ?” คำตอบของคำถามที่ว่าก็คงจะต้องวัดกันที่แนวคิดในหัวข้อถัดไปแหละครับ
คิดแบบเหนือชั้น เหนือตลาดด้วย Second Level Thinking
Second Level Thinking หรือการคิดอีกสเต็ปหนึ่ง คือการคิดที่แตกต่างออกไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งจะสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปจากเดิมได้ เพราะ เราคงไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างจากคนอื่น โดยการทำเหมือนคนอื่น ส่วนตัวอย่างของการคิดแบบ Second Level Thinking ก็เช่น…
First-level thinking: มุมมองในตอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเราทิ้งหุ้นกันเถอะ
Second-level thinking: มุมมองเศรษฐกิจในตอนนี้ดูย่ำแย่มาก ๆ เลย แต่ทุกคนกำลังวิ่งวุ่นกับการขายหุ้น… น่าจะมี Bargain ดี ๆ ให้กับเรานะ
อีกหนึ่งตัวอย่างก็คือ
First-level thinking: กำไรของบริษัทดูท่าจะลดลง ขายหุ้นบริษัทนั้นทิ้งดีกว่า
Second-level thinking: กำไรของบริษัทดูท่าจะลดลงน้อยกว่าที่พูดคนคาดหวังกันไว้ ดังนั้นมันอาจจะออกมาดีกว่าที่ทุกคนคิด ซื้อหุ้นดีกว่า
วิธีคิดแบบ Second-level Thinkers
- ในอนาคตมีโอกาสเกิดอะไรได้บ้าง?
- อันไหนมีแนวโน้มที่จะเกิดสูงที่สุด?
- ความน่าจะเป็นที่จะถูกมีแค่ไหน?
- คนส่วนใหญ่คิดกันอย่างไร?
- ความคิดของเราต่างจากคนอื่น ๆ อย่างไร?
- ราคาสินทรัพย์ในตอนนี้ในตอนนี้คนอื่น ๆ มองมันอย่างไร และตัวเราคิดอย่างไร?
- จิตวิทยาหมู่ของราคาเป็นไปในเชิงบวกหรือลบมากเกินไปหรือเปล่า?
- ถ้าคนส่วนใหญ่คิดถูกราคาของสินทรัพย์จะเป็นอย่างไร และถ้าเราคิดถูกจะเป็นอย่างไร?
มาถึงจุดนี้บางคนอาจจะเริ่มคิดว่าคอนเซปต์ของการคิดแบบนี้ มันไม่ชัดเจน เราจะไปรู้ได้อย่างไร มันไร้รูปธรรมจนเกินไป คำตอบของคำถามที่ว่าก็คงจะเป็นการที่การลงทุนนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ตายตัว ไม่มี set of rules หรือกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่จะใช้ไปได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
และยิ่งเป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่รับรู้แนวทางนั้นหรือสิ่ง ๆ นั้นทำตามได้ง่ายดายแล้ว สิ่งนั้น ๆ ก็จะมีประสิทธิภาพที่ลดลงเรื่อย ๆ เพราะ เราก็จะไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่น
ดังนั้นหลักการของ Second Level Thinking ที่แท้จริงอาจจะเป็นการเข้าใจคอนเซปต์ของความไม่สมบูรณ์ และค้นคว้าอย่างหนัก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่คนส่วนใหญ่มองข้ามมันออกไป
ศิลปะของความเดียวดาย โอกาสจากความไม่สมบูรณ์ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย
การที่เราจะยืนหยัดท่ามกลางเสียงส่วนมาก นั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ซึ่งตัวผมเองก็ยังพยายามและพัฒนาในจุดนี้อยู่เช่นกัน
บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวที่ได้ว่าไป ซึ่งผมก็คงจะไม่ว่าอะไรและก็ยินดีที่ทุกคนรับฟังจนมาถึงจุดนี้ด้วยซ้ำ
แต่สุดท้ายแล้วผมเองก็ยังเชื่อว่า หากเราต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ การที่เราทำตามคนอื่นไปเรื่อย ๆ ผลลัพธ์ที่ว่าก็คงจะไม่ออกมาให้เราได้เห็นแน่ ๆ
คล้าย ๆ กับการที่เราทำวิธีเดิมซ้ำ ๆ ไม่ปรับปรุง พัฒนา และคาดหวังว่าสักวันหนึ่งมันคงจะดีขึ้นนั่นแหละครับ…
ส่วนตัวผมเองก็ยังยืนยันคำเดิมว่าหุ้นน่าจะยังอยู่ในภาวะที่อันตราย และความตื่นเต้น ไม่สมเหตุสมผลก็จะยังอยู่เพื่อบิดเบือนความเป็นจริงออกไป
สุดท้ายแล้วคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมบางคนถึงลงทุนได้ยอดเยี่ยมกว่าคนอื่น อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของจังหวะเวลาเพียงอย่างเดียว แต่มันอาจหมายถึงแนวคิดที่กล้า แตกต่าง และที่สำคัญที่สุด… ต้องชาญฉลาด
ขอให้ทุกคนโชคดีและมีความสุขไปกับการเรียนรู้โลกแห่งการลงทุนอันน่าทึ่งในปีนี้ด้วยครับ
Mr. Serotonin
References
Marks et al. (1946). The Most Important Thing Illuminated: Uncommon Sense for the Thoughtful Investor. Columbia, Columbia University Press, 2013.