ยามวิกฤตเลือกหุ้นแบบไหนดี? ดูแค่ปันผลสูง หนี้น้อย จบเลยไหม?
แต่ช้าก่อนหนี้น้อย ๆ นี่หลัก ๆ เป็นสินทรัพย์ที่เป็นเงินสดหรือใกล้เคียง หรือเปล่า?
เรื่องแบบนี้คงต้องมาลองเช็กผ่าน “สินทรัพย์หมุนเวียน” กันครับ
สินทรัพย์หมุนเวียน คืออะไร?
สินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง หรือสรุปได้ง่าย ๆ ว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ไว โดยคำจำกัดความของคำว่าไวในที่นี่ก็คือภายใน 1 ปีนั่นเอง
สินทรัพย์หมุนเวียน มีอะไรบ้าง?
1. เงินสด (Cash)
นิยามง่าย ๆ ว่า “ลื่นสุด ดีสุด” เงินสดถือเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนที่คุณต้องมี คนยอมรับ มีสภาพคล่องสูงสุด
2. เงินฝาก (Bank deposit)
คิดไว ๆ แทบไม่ต่างอะไรกับเงินสด แต่ในส่วนนี้ยังมีเช็คที่เอามานับด้วยไม่ว่าจะขึ้นเงินแล้วหรือยังไม่ขึ้นเงิน (แต่ข้อกำหนดยังคงเป็นการที่จะต้องเปลี่ยนเงินสดได้ภายใน 1 ปี เหมือนเคย)
3. เงินที่นำไปลงทุนชั่วคราว (Short Term Investment)
เงินที่บริษัทเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ในสินทรัพย์ระยะสั้นต่าง ๆ เช่น ตราสารหนี้ หรือ หุ้น ที่มีความเสี่ยงน้อย ๆ และบริษัทตั้งใจถือเอาไว้ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งสินทรัพย์แบบนี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากอันก่อน ๆ เพราะอาจมีราคาที่ผันผวนได้
4. ลูกหนี้การค้า (Accounts Receivable)
เรื่องปกติของหลายกิจการ และปกติมาก ๆ สำหรับกิจการที่ขายสินค้าหรือบริการชิ้นใหญ่ ต้องผ่อนจ่ายเป็นงวด ๆ หรือมีการตกลงเครดิต (credit term) ในการรับสินค้าก่อนจ่ายเงินทีหลังตามเวลาที่ตกลงกัน
*หัวใจสำคัญของลูกหนี้การค้าก็คือต้องเก็บหนี้ให้ได้หรือถ้าวัตถุดิบไม่บูดหรือตกเทรนด์เร็วได้ก็ยิ่งดีมูลค่าจะได้ยั่งยืนหน่อยเวลามีเหตุจำเป็นต้องขาย
5. ตั๋วรับเงิน (Notes Receivable)
สัญญารับเงิน ประกอบไปด้วยผู้รับเงินและผู้ที่ต้องชำระหนี้ มีหลายรูปแบบ เช่น สัญญาซื้อ-ขาย สัญญากู้ยืม โดยตั๋วรับเงินสามารถเป็นได้ทั้งสินทรัพย์หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน ซึ่งหัวใจก็คือ ถ้าไม่เกิน 1 ปี = สินทรัพย์หมุนเวียน
6. เงินให้กู้ยืมระยะสั้น (Short Term Loan)
อธิบายง่าย ๆ คือเงินที่ให้คนอื่นยืม โดยต้องไม่เกิน 1 ปีเช่นกัน (คล้าย ๆ ข้อแรกแต่รูปแบบจำกัด)
7. สินค้าคงคลัง (Inventory )
วัตถุดิบการผลิตต่าง ๆ สินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต รวมถึงสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วกำลังรอขาย สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน
*บริษัทไหนเริ่มมีสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นมามากผิดปกติ อาจหมายถึงการขายสินค้าไม่ออกได้
8. วัสดุสำนักงาน (Supplies)
อุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้แล้วหมดไปใน 1 ปี จำพวกอุปกรณ์ในออฟฟิศต่าง ๆ เช่น ปากกา ดินสอ แฟ้ม และอื่น ๆ
9. รายได้ค้างรับ (Accrued Revenue)
รายได้ที่บริษัทยังไม่ได้รับ แต่มีแนวโน้มได้รับค่อนข้างแน่นอนในอนาคต ตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยจากการลงทุน หรือ ในธุรกิจอสังหาฯ ที่มีการบันทึกรายได้ค่าเช่ารายเดือนทันทีตั้งแต่ต้นเดือน (แต่จริง ๆ อาจจะต้องจ่ายปลายเดือน) เป็นต้น
10. ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expenses)
สรุปง่าย ๆ คือ จ่ายแล้วได้ประโยชน์ในอนาคต ตัวอย่างก็เช่น เบี้ยประกันที่จ่ายไปแล้วได้รับความคุ้มครองในอนาคตต่อไป
สินทรัพย์หมุนเวียน มีประโยชน์ยังไงกับนักลงทุน?
เวลาที่เราวิเคราะห์หรือเลือกหุ้น สิ่งหนึ่งที่คาดไม่ได้ก็คือการตรวจสอบในส่วนของ Balance sheet หรืองบดุล ซึ่งเปรียบง่าย ๆ คงเหมือนกับสุขภาพการเงินของบริษัท
บริษัทที่มีทรัพย์สินเยอะ ๆ หนี้น้อย ๆ หากสกรีนผ่าน ๆ อาจจะดูดี แต่รู้หรือไม่ว่าแล้วในส่วนของทรัพย์สินเรายังต้องลงรายละเอียดเพิ่มเติมอีก ซึ่งหลัก ๆ แล้วทรัพย์สินจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ซึ่งก็คือ สินทรัพย์หมุนเวียน และ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
สินทรัพย์หมุนเวียนตามที่อธิบายไว้ก่อนหน้าก็คือ สินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี ซึ่งสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนตามนิยามก็ตรงกันข้ามชัดเจนเลย ก็คือ มากกว่า 1 ปี
แล้วประเด็นนี้สำคัญยังไง? เวลาเรากรองหุ้นหยาบ ๆ แล้วเห็นว่าเออ หุ้นนี้หนี้น้อยนะเวลาวิกฤตคงไม่เป็นไร
แต่ถ้าผมสมมติว่าหุ้น A เป็นหุ้นที่มีเงินสดมาก ซึ่งเกิดจากการขายสินค้าได้ดีเสมอมา หนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับใช้ได้ ราคาหุ้นไม่แพง ในขณะที่หุ้น B เป็นหุ้นอสังหาฯ มีสินทรัพย์หลัก ๆ เป็นจำพวกบ้านคอนโด กำลังเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ขายดีเช่นกัน หนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับใช้ได้ ราคาไม่แพง ซึ่งถ้าถามว่าหุ้น 2 ตัวนี้ใครมีทรงว่าจะรอดไปได้มากกว่ากัน?
คำตอบก็น่าจะเป็นหุ้น A ถูกไหมครับ เพราะ หุ้น A เวลาคนมาเรียกเก็บเงินหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันจนขายสินค้าได้ไม่ดี ก็ยังมีเงินสดไปจ่ายหนี้ ในขณะที่หุ้น B ซึ่งดูผ่าน ๆ น่าจะดี มีสินทรัพย์ส่วนใหญ่ เป็นคอนโดหรือบ้านซึ่งต้องใช้เวลาในการขาย และของพวกนี้คงไม่ใช่ของที่คนเอามาใช้แลกเปลี่ยนกันง่าย ๆ กันในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้คงไม่มีใครเดินไปร้านค้าแล้วบอกว่า
“ผมขอซื้อรถคันนึงแลกกับพื้นที่บ้านผมบางส่วนได้ไหม”
ดังนั้นยามวิกฤตหรือมีเหตุไม่คาดฝันกับบริษัท บริษัทที่มีเงินสดหรืออะไรที่ขายออกง่าย ๆ อาจจะเป็นวัตถุดิบจำพวกน้ำตาล แป้ง อะไรทำนองนี้ก็ได้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะชำระหนี้ได้ทันทียามเจ้าหนี้มาเคาะประตูหน้าบ้าน
(จริง ๆ มีเรื่องของการที่บ้านมีการเสื่อมสภาพ วัตถุดิบบูดง่ายไหมอีกก่อนขายอีก แต่สรุปง่าย ๆ ไว้เท่านี้ก่อนละกันครับ)
นี่จึงเป็นเหตุผลที่สินทรัพย์หมุนเวียนถือได้ว่ามีความสำคัญยามเฟ้นหาหุ้นนั่นเอง
ขอให้ทุกคนโชคดีครับ
Mr. Serotonin
References
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/knowledge/accounting/notes-receivable/
http://library.tru.ac.th/images/academic/book/btp001/06chap2.pdf
https://www.station-account.com/current-assets/