ประเด็นของเรื่องก็มีอยู่ว่า จากการคลุกคลีอยู่ในแวดวงการลงทุนมาซักระยะ ก็มักจะได้ยินคำถาม หรือข้อสงสัยของนักลงทุนทั้งหน้าใหม่ และหน้าเก่า ซึ่งเป็นคำถามที่ซ้ำไปซ้ำมาอยู่บ่อยครั้ง และเอาจริงๆแล้ว บางคำถามมันก็ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง 100% ด้วยสิ
ขึ้นชื่อว่า “การลงทุน” (Investment) ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตราสารหนี้ หรือ อะไรก็ตาม สิ่งที่คุณควรจำไว้ก่อนลงสนามก็คือ มันไม่มีสูตรสำเร็จ 100%
การลงทุนมันต่างจากหนังสือตำราเรียน และการทำงานในองค์กรอยู่หลายประเด็น สำหรับนักศึกษา พอได้เรียนวิชา Finance ซัก 2-3 ตัว ก็มักจะอยากลองของจริง และพยายามเอาความรู้ที่ตัวเองได้มาใช้ในสนามนั้น
สำหรับพนักงานกินเงินเดือน ด้วยงานประจำ(บางคน) เป็นงานที่มีกระบวนการทำงานชัดเจน มีขั้นมีตอน ชี้ถูกได้ ชี้ผิดได้ ทำอย่างนี้อยู่ซ้ำไปซ้ำมาทุกวันๆ ก็พลันนึกไปว่า เรื่องอื่นๆในชีวิตมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่เปล่าเลยครับ ชีวิตจริง มันยิง่กว่าในนิยายซะอีก
สิ่งหนึ่งที่ตำรา และกูรูที่ประสบความสำเร็จในวงการมักบอกเราๆท่านๆอยู่เสมอก็คือ “การลงทุนระยะยาว เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง และสบายกว่าการลงทุนในระยะสั้น”
และคำถามที่เจอบ่อยเหลือเกินก็คือ “ไหนบอกว่าถือยาวแล้วจะได้กำไรไง ไม่เห็นจริง” ลองพูดมาแบบนี้ รู้ทันทีว่า พอร์ตขาดทุนอยู่ชัวร์!!
ก็บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า การลงทุนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว งั้นเราลองสำรวจตัวเองกันหน่อยว่า ถือยาวแล้วไม่กำไรเพราะอะไร?
1. ถือยาว แต่ถือผิดตัว – กรณีนี้ เกิดจากการทำการบ้านมาไม่มากพอ หรือใช้วิธีซื้อตามผีบอก โดยขาดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองลงทุนในเชิงลึก กรณีนี้ สินทรัพย์ตัวที่คุณถือ อาจจะดีในช่วงที่คุณได้ยินมา แต่เวลาผ่านไป ปัจจัยพื้นฐานอาจเปลี่ยน และผีตนนั้นก็ลืมบอกคุณไป (หรือบางทีเขาก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน – -“) อาการนี้ แก้ได้ด้วยการ เชื่อการวิเคราะห์ของตัวเอง อย่าไปเชื่อคนอื่น ถึงแม้เขาจะเก่งจริงๆก็ตาม
2. ถือยาว แต่ลืมดูแล – กรณีนี้ แถวบ้านเรียกว่า ซื้อทิ้ง … กะทิ้งไว้ให้ลูกให้หลายในอนาคตไปเลย สาเหตุเกิดจาก พอได้ยินคำกูรูปั๊บ ก็นำไปปฏิบัติทันที เลยลืมตรวจสอบประวัติกูรูทั้งหลายว่า กลยุทธ์หลักของเขาคือถือยาว แต่จริงๆแล้ว มีการขายทำกำไร เมื่อปัจจัยต่างๆเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น Warren Buffett ขายล้างพอร์ตหุ้น PetroChina เดือน ต.ค. ปี 2007 ซึ่งตอนนั้น ใครๆก็มองว่า อนาคตไปได้อีกยาวไกล แต่แล้วก็ดูตามกราฟครับ (ผู้อ่านสามารถกลับไปอ่านเนื้อข่าวและบทสัมภาษณ์ของปู่ ณ ตอนนั้นได้ที่ http://goo.gl/dR0Lg
กูรูทั้งหลาย เขาก็มีการลดพอร์ต มีการเพิ่มพอร์ตตาม Cycle ของธุรกิจ และมีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายตัว ไม่ใช่มีเงินเท่าไหร่ ก็ตั้งหน้าตั้งแต่ใส่เงินเข้าไปลูกเดียว อาการนี้ แก้ไขได้ด้วยการอ่านแนวคิดของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จให้ละเอียดขึ้นซักเล็กน้อย และปรับความเข้าใจเสียใหม่ว่า ถือยาว ก็ยังต้องดูแล ยังต้องเทคแคร์ (เหมือนจีบสาวนั้นหล่ะครับ ไม่ดูแลให้ดี เขาจะหนีไปหาคนอื่นนะเออ)
3. ถือยาว แต่ใส่เงินน้อยไป – กรณีนี้ ผมเห็นจากพอร์ตการลงทุนของหลายๆคนเลย นั้นก็คือ จะลงทุนยาว แต่ไม่กล้าใส่เงินเข้าไปเยอะ ทั้งๆที่ทำการบ้านมาดี แต่พอแบ่งพอร์ตมาลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูง หลังกำไรระยะสั้น กลับกระโดดลงไปเล่นอย่างผีพนัน เป็นงี้ก็เหนื่อยสิครับ
ลองคิดดูนะ สมมติ ลงทุนหุ้น ADVANC ที่ราคา 120 บาท มา ณ วันนี้ ก็กำไรไปแล้ว 62% แต่ลงทุนไปแค่แสนเดียว แต่พอเจอหุ้นเหวี่ยงโหดๆ หวือหวาอย่างเช่น ITD เคาะไม้หนึ่งที 200,000 – 300,000 หุ้น
ADVANC ได้กำไรมา 62,000 บาท แต่เล่น ITD เสียไปรอบละ 5% ซัก 2 รอบก็พอ … ที่พยายามถือ ADVANC มา ก็แปลว่ากำไรหายหมดทันที
อาการนี้ แก้ได้ด้วยการ จัดการบริหารเงิน แบ่งพอร์ตการลงทุนตั้งแต่แรกเริ่ม (Money Management และ Asset Allocation) คุณต้องบอกตัวเองไว้ตั้งแต่แรกเลยว่า พอร์ตการลงทุนระยะยาว ควรจะมีเกิน 50% ขึ้นไป ในขณะที่การเก็งกำไรระยะสั้น ไม่ควรมีสัดส่วนที่มากเกินไป (<20%) เพราะจะทำให้ผลตอบแทนคาดหวังในระยะยาวของคุณเบี่ยงเบนไปจากการลงทุนที่มีโอกาสผิดพลาดสูง
สุดท้ายแล้วครับ อันไหนแก้ได้ก็แก้ แต่คุณจะไม่ต้องแก้ที่วิธีการเลย ถ้าคุณวางใจเรื่องจากลงทุนให้เป็น
นั้นก็คือ หากคุณเข้าลงทุนด้วยความโลภนำหน้า… แรงขับจากจิตใจ ความอยากได้ อยากมี จะเข้ามาบดบังเหตุและผลที่คุณควรใช้ประกอบการตัดสินใจทันที
เพราะฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจลงทุนอะไร ถามตัวเองก่อนครับว่า เราลงทุนด้วยความอยากในใจ หรือ เราลงทุนด้วยความรู้ที่เรามี