สัปดาห์ที่แล้ว ผมโพสมุมมองตลาดหุ้นในหน้า Fanpage อันหนึ่ง เป็นเรื่องมุมมองมองว่า ตลาดหุ้นขาขึ้น และเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะยังวิ่งมายังไม่ถึงปลายทาง นั้นหมายความว่า โอกาสของนักลงทุนยังมีอยู่
แต่ถ้ามองให้ลึกเข้าไป สำหรับนักลงทุนพอร์ตใหญ่ๆโตๆ โดยเฉพาะพวกผู้จัดการกองทุนกองมหึมาทั้งหลาย รวมถึง Hedge Fund ที่มีกลยุทธ์ว่า ต้องทำ “Absolute Return” ไม่ว่าเงื่อนไขสภาวะเศรษฐกิจตอนนั้นเป็นอย่างไร การจะลงทุนเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีเพียงอย่างเดียวนั้น ดูจะไม่ทำให้ผู้ถือหน่วย และลูกค้าของเขาปลื้มเท่าไหร่ ดังนั้น คำถามคือ แล้วพวกเขาบรืหารพอร์ตอย่างไร?
หนึ่งทฤษฎี ที่จะทำให้คุณเห็นว่า โอกาสมีอยู่ในทุกช่วงเวลา แค่เราต้องหามันให้เจอ ก็คือ นาฬิกาแห่งการลงทุน หรือ Investment Clock นั้นเอง
หลักคิดก็คือ สินทรัพย์แต่ละประเภท มีช่วงเวลาที่ดีและช่วงเวลาที่แย่แตกต่างกันไป และมันจะหมุนเวียนเป็นวงจรอย่างนั้นไปเรื่อยๆตามภาวะเศรษฐกิจและเงื่อนไขของตลาด ณ ตอนนั้น โดยหลักๆแล้วนักเศรษฐศาสตร์แบ่งช่วงวงจรการลงทุนออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน นั้นก็คือ
1. Reflation Stage หลายคนไม่รู้จักคำนี้นะครับ จริงๆ แปลให้ง่ายก็คือ ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีปริมาณเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นในช่วงหลังจากเกิดวิกฤต ทุกคนดึงเงินเข้ากระเป๋า ไม่ยอมลงทุน มีกำลังการผลิตเหลือ เพราะกลัวความเสี่ยง … แต่ขณะเดียวกัน ก็จะมีผู้ประกอบการที่เห็นโอกาส จากต้นทุนการผลิตต่ำ (ราคาสินค้าตกต่ำ) ใช้โอกาสนี้ในการลงทุน ช่วงนี้ การลงทุนใน “พันธบัตร” ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะให้ผลตอบแทนที่สูง ในจังหวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและพร้อมจะปรับตัวขึ้น
2. Recovery Stage หรือ ช่วงของการฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ ช่วงนี้ บริษัทจะกล้าลงทุน คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย โดยรัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายต่างๆ และการลดดอกเบี้ย หรือคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ ซึ่งช่วงนี้ละครับ ที่การลงทุนใน “หุ้น” จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ
3. Bubble Stage หรือ เริ่มส่งสัญญาณก่อตัวเป็นฟองสบู่ เกิดจากเศรษฐกิจโตเต็มที่ บริษัทไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ทันความต้องการ เงินเฟ้อเริ่มขยับตัวขึ้นจากการที่ต้นทุนสินค้า และราคาสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้น ช่วงนี้เอง เราจะเริ่มเห็นรัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะเข้ามาควบคุมเพื่อให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงมากเกินไป และการลงทุนที่สอดรับกับ Bubble Stage ก็คือ “สินค้าโภคภัณฑ์” นั้นเอง
4. Stagflation คือระยะสุดท้าย ก่อนเริ่มต้นวงจรเศรษฐกิจครั้งใหม่ ระยะนี้ GDP จะเริ่มปรับตัวลดลง แต่เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง หลังค่าครองชีพแพงขึ้น และตัวบริษัทเองก็ต้องการปกป้องผลกำไรไม่ให้แย่กว่าเดิม ก็ตามมาด้วยการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ การฟุบตัวลงของเศรษฐกิจ และแน่นอน ถ้าเศรษฐกิจไม่มี การลงทุนที่น่าสนใจในช่วงนี้ก็คือ “การถือเงินสด” นะครับ
สรุปวงจรของนาฬิการการลงทุนเรือนนี้ ก็จะได้ภาพด้านล่างครับ
ลองกลับมาดูเศรษฐกิจไทย ณ ตอนนี้นะครับ ว่าเราอยู่ในช่วงใด
รัฐบาลยังจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจบ้านเรายังโตไม่เต็มที่แน่นอน เพราะ GDP Growth ปี 2015 นี้เอง ก็เพิ่มขึ้นไปไม่ถึง 2% ดังนั้น เราไม่ได้อยู่ใน Bubble Stage ที่รัฐกังกลกับความร้อนแรงของเศรษฐกิจแน่นอน
ถ้าถามว่า เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะล่าสุด เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ที่ 1.50% ดังนั้น เราก็ไม่ได้อยู่ใน Stagflation Stage เช่นกัน
บางคนอาจบอกว่า แต่ GDP บ้านเราชะลอตัวนะ มันก็เข้าเงื่อนไขอยู่ แต่ผมมองว่า มันเพราะปัญหาการเมืองที่ไม่แน่นอน และนโยบายดึง Demand ในอนาคตเร็วเกินไป และการที่เศรษฐกิจชะลอความร้อนแรง มากกว่าที่จะเกิดจากวงจรเศรษฐกิจจริงๆครับ
คราวนี้ก็เหลือ Reflation Stage กับ Recovery Stage ซึ่งถ้ามองในภาพรวม ผมมองว่า ตอนนี้ทุกคนกล้าลงทุนเพิ่มขึ้น มาซักระยะ รัฐบาลก็เข้ามามีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นบ้าง และดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ไทยเรา น่าจะอยู่ใน Recovery Stage ซึ่งสินทรัพย์ที่น่าจะให้ผลตอบแทนดีต่อไปอีกซักระยะก็ยังคงเป็น “หุ้น” อย่างที่เคยบอกไป
คำถามคือ ควรเป็นหุ้นอะไร?
เมืองนอกเขาศึกษาพอเป็น Guideline ให้เราไว้แล้วครับ โดยใช้หุ้นใน S&P500 ย้อนหลังไป 30 ปีมาศึกษา พบว่า…
ในช่วง Recovery Stage นั้นหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุน 3 อันดับแรกคือ 1) Consumer Discretionary (สินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มบันเทิง) 2) Telecoms (สื่อสาร) 3) Technology (ไอที) แต่ทั้งนี้ มันก็เป็นแค่การศึกษาในเมืองนอกนะครับ
สุดท้าย เราเป็นนักลงทุนในไทย สิ่งที่เราต้องดูก็คือ Valuation ของหุ้นที่เราสนใจ ความแข็งแรงของงบการเงิน และความสามารถของผู้บริหาร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจที่จะสร้างผลตอบแทนให้เราในระยะยาว
เอาละ รู้แล้วนะ ตลาดหุ้น น่าจะยังดีอยู่ ถ้าอยากรวย อยากลงทุน อย่าไปคิดว่า 1,300 – 1,400 จุด มันแพงครับ ตอนมันไป 2,000 จุด ระวังจะเสียใจ นั้นเรื่องแรก อีกเรื่องก็คือ สนใจ Index ให้น้อย แต่สนใจพื้นฐานบริษัทที่เราชอบให้มาก