จากโพสใน Sinthorn Fanpage และลงใน Twitter เมื่อวาน สัญญากันไว้ว่า จะมาลงรายละเอียดว่า กองทุนหุ้นปันผล 6 กองที่อยู่ในตาราง ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ ในการบอกวิธีการตีความข้อมูลในตาราง ซึ่งน่าจะตอบคำถามสำหรับนักลงทุนที่ตั้งคำถามไว้ในใจว่า “เลือกกองไหนดี” ได้ ไม่มากก็น้อยนะครับ
6 กองทุนสุดยอดได้แก่
INGTEF-DIV ของ บลจ.ไอเอ็นจี , KTSE ของ บลจ.กรุงไทย , BKD ของ บลจ.บัวหลวง , KFSDIV ของ บลจ.กรุงศรี , 1VAL-D ของ บลจ.วรรณ และ HI-DIV ของ บลจ. เอ็มเอฟซี
การเลือกกองทุนหุ้นซักกองเข้าพอร์ต จริงๆ ประเด็นหลักๆที่ต้องพิจารณานั้นมีอยู่ 3 ปัจจัย
1. นโยบายการลงทุนที่สอดรับกลับเป้าหมายทางการลงทุนของเรา
2. ผลตอบแทนที่ได้ ควรจะดีกว่าค่าเฉลี่ย และจะให้ดี ต้องดีกว่ากองทุนอื่นๆในประเภทกองทุนเดียวกัน
3. ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ก็ต้องเป็นความเสี่ยงที่เรารับรู้ได้ตั้งแต่ยังไม่ลงทุน กองทุนต้องไม่ผันผวนมากเกินไป เพื่อประโยชน์ในแง่ของการกระจายความเสี่ยง
ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นที่ผมบอกว่าต้องพิจารณานั้น ในตารางนี้ บอกท่านไป 2 หัวข้อ นั้นคือ ผลตอบแทน และ ความเสี่ยง
… อ้าว แล้วนโยบายการลงทุนล่ะ?
หัวข้อก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นกองทุนหุ้นปันผล เน้นหุ้นที่จ่ายปันผลดี มีการจ่ายปันผลต่อเนื่อง และตัวกองทุนเองก็ต้องจ่ายปันผลให้เราต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นหากใครคิดจะแสวงหาผลตอบแทนในรูป Capital Gain อย่างเดียว ก็ขอให้ข้ามบทความนี้ไปเลยนะครับ ส่วนใครที่ยังอ่านต่อไป ผมถือว่าคุณสนใจแล้ว เดินตามผมมาเลย อ่านจบปั๊บ ผมเชื่อว่า คุณจะรู้ได้ด้วยใจตัวเองว่า ชอบกองไหนมากขึ้น แน่นอน
MorningStar บอกอะไร?
MorningStar เป็นบริษัทจัดอันดับกองทุน โดยจะโชว์ว่า เป็นกองทุนที่ดีหรือไม่ ก็ให้ดูที่ดาวครับ มีตั้งแต่ 0 ดาว ยัน 5 ดาว ยิ่งดาวเยอะ แสดงว่า ผลตอบแทนเปรียเทียบความเสี่ยง ยิ่งดี จาก 6 กองทุนในตาราง ดาวน้อยสุดก็แค่ 4 ดาว เพราะฉะนั้น ไว้ใจได้ว่า กองทุนคุณภาพทั้ง 6 กองทุนแน่นอน โดย MorningStar พิจารณาให้ Rating จากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี โดยใช้โมเดลความเสี่ยงเข้ามาจับ หากกองทุนใดที่ผลตอบแทนสูง ก็จริง แต่ความผันผวนสูงตามไปด้วย Rating ก็จะลดลง ถ้าใครสนใจวิธีการวัดความเก่งในแบบของ MorningStar สามารถ Download Methodology ได้จากลิงค์นี้นะครับ http://www.wealthmagik.com/Document/Methodology/MstarRatingMethodology.pdf
NAV ถูกหรือแพง เกี่ยวไหม?
เป็นที่น่าเศร้าที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจแบบผิดๆเกี่ยวกัน NAV กองทุน โดยเชื่อว่า ซื้อกองทุนที่ราคา NAV ต่ำ จะได้เปรียบกองทุนที่มี NAV สูงกว่า ซึ่งในความเป็นจริง ผลตอบแทนที่คุณจะได้รับ ขึ้นอยู่กับการวิ่งของหุ้นในพอร์ต ไม่ได้เกี่ยวเลยว่า NAV จะเป็นเท่าไหร่ สมมตินะครับ ว่า กองทุน A มี NAV ปัจจุบันที่ 5 บาท อีกกองทุน ชื่อกองทุน B NAV ปัจจุบัน 30 บาท ถ้าใช้ตรรกะ NAV ถูกแพง มองแค่นี้ คุณอาจเลือกกองทุน A ใช่มั้ย งั้นผมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว NAV ของกองทุน A และ B อยู่ที่ 10 บาท เท่ากัน เป็นแบบนี้ คุณจะเลือกกองไหน?
ในมุมมองของนักลงทุนในกองทุนรวม เราควรพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลัง เป็นปัจจัยประกอบการพิจารณา โดยไม่ต้องไปสนใจว่า NAV มันจะแพงหรือไม่แพงนะครับ ไม่งั้น คุณจะไม่หลุดจากกับดัก NAV และยิ่งเป็นกองทุนหุ้นปันผลแล้ว ส่วนใหญ่ NAV จะต่ำๆกันทั้งนั้น เพราะพอวิ่งดีๆ ผลการดำเนินงานสวยๆ ผู้จัดการกองทุนก็จัดการแบ่งกำไรบันผลออกมาให้เราทุกๆไตรมาส กลายเป็นว่า NAV ไม่ได้ขยับไปไหน ใครคิดแบบนี้ แล้วหากองทุน NAV ต่ำๆ ลืมเช็คไปว่า นโยบายจ่ายปันผลเขาคือ 90% ของกำไรในรอบบัญชี แต่จริงๆ ผลการดำเนินห่วยกว่าชาวบ้าน ได้ปันผลไปปีละ 6-5% ดีใจนั่งยิ้ม แต่กองทุนอื่นในตลาด ปันผล + Capital Gain พรวดไปปีละ 10% ก็จะกลายเป็นนักลงทุนพลาดโอกาส ก็มีให้เห็นมาไม่น้อยเลย
ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี 5 ปี อยู่ยังไง?
ยิ่งมีสถิติให้เราดูย้อนหลังได้ไกลเท่าไหร่ เรายิ่งชอบ และยิ่งเป็นผู้นำ ทั้งในระยะยาว และในระยะสั้น ก็ตอบได้ทันทีว่า กองทุนนั้นคือกองทุนที่คู่ควรกับพอร์ตการลงทุนของเรา
โดยปกติ ผมจะให้ความสำคัญกับผลการดำเนินงาน 3 ปี และ 5 ปี มากกว่า 1 ปี สาเหตุเป็นเพราะ หากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3-5 ปีอยู่ในระดับกลางๆ แต่มาวิ่งแรงใน 1 ปี ที่ผ่านมา มันเป็นไปได้ 2 อย่างคือ กองทุนปรับกลยุทธ์ หรืออีกอย่างคือ บังเอิญเลือกหุ้นถูกตัว ซึ่งใน 1 ปี มันเกิดขึ้นได้ครับ แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องเจอคือ ปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอน เพราะแสดงว่า ก่อนหน้านี้ ผลการดำเนินงานกองทุน อยู่ในระดับต่ำ แต่มาวิ่งเป็นม้ามืดแซงกันตอนโค้งสุดท้ายแบบนี้ ไม่ได้มีอะไรการันตีว่า แข่งกันรอบหน้า จะวิ่งแบบม้าตีนปลายอีกหรือเปล่า และยิ่ง Concept ปันผลแล้ว ประสิทธิภาพ เราควรวัดที่ความสม่ำเสมอของการวิ่ง มากกว่า ไม่งั้น ปีนี้จ่ายปันผลได้เยอะ แต่ปีหน้าจ่ายไม่ได้เลย แบบนี้ปวดหัวตายเลย
สำหรับผลการดำเนินงานในตารางนั้น ผมโชว์เป็น ผลตอบแทนจาก ทั้งในรูป ปันผล และ Capital Gain รวมกัน โดยทั้ง 6 กองนั้น ปันผลในระดับที่ใกล้เคียงกันนะครับ แต่สิ่งที่ทำให้ผลการดำเนินงานต่างกันคือ ปันผลแล้ว หุ้นที่ถืออยู่ของแต่ละกอง ใครวิ่งดีกว่า จนเป็นที่มาของ Excess Return
Standard Deviation (S.D.)
คือค่าความผันผวนของ NAV ในอดีตที่ผ่านมา ยิ่งค่านี้สูงมากเท่าไหร่ แสดงว่า กองทุนนั้นผันผวนสูง โดยปกติ กองทุนหุ้นปันผล เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น จะมีค่า S.D. ที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว เพราะหุ้นในพอร์ตที่มีการจ่ายปันผลดี มักจะมีความผันผวนในแง่ของราคาตลาดต่ำกว่าพวกหุ้น Growth Stock หรือ Turnaround Stock
คราวนี้ ถ้าต้องเลือกนั้น S.D. ที่ต่างกันประมาณ 1-2 bps นั้น ผมมองว่าไม่แตกต่าง ผ่านไปในอนาคต อาจมีโอกาสที่ S.D. จะขยับแซงกันได้เป็นปกติ แต่ถ้าต่างกันเกินซัก 5-10bps แล้ว กองไหนสูงกว่า ผมมักจะตัดกองนั้นออกจากการพิจารณาทันที ว่าแล้วก็เหลือบไปดูตาราง นะครับ จะเห็นว่า กองทุน S.D. สูงสุด เทียบกับต่ำสุดนั้น ค่า S.D. ต่างกันเกิน 5 เลย
Sharpe Ratio วัดผลตอบแทนเปรียบเทียบความเสี่ยง
ถือเป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้กันอย่างมากในหมู่นักลงทุนกองทุนรวม เพราะสามารถหาค่าเองได้ไม่ยาก โดยเอาผลตอบแทนในงวดนั้นๆมาหารด้วย S.D. ในงวดเดียวกัน ยิ่งค่า Sharpe Ratio สูง ก็แปลว่า ผลตอบแทนเปรียบเทียบความเสี่ยงแล้วดีกว่ากองทุนอีกกองที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ยกตัวอย่าง กองทุนที่มี Sharpe Ratio เท่ากับ 1 นะครับ แสดงว่า ผลตอบแทนกองทุน มันเท่ากับ ความผันผวนของตัวมันเอง เช่น กองทุน ผลตอบแทน 1 ปี เท่ากับ 20% และมีค่า S.D. เท่ากับ 20% เท่ากัน
มันแปลว่าอะไรล่ะ? ก็แปลว่า ผลตอบแทนที่ได้มา 20% ได้มาบนความเสี่ยง 20% คือมีโอกาสที่กองทุนจะวิ่งกลับลงไปจนผลตอบแทนเหลือ 0% ก็ได้ นั้นเอง ดังนั้น ยิ่งค่า Sharpe สูงๆ ยิ่งแปลว่า ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงต่ำครับ
Information Ratio เปรียบเทียบ Benchmark
อัตราส่วนนี้ คล้ายๆกับ Sharpe เพราะไว้พิจารณาเปรียบเทียบความเสี่ยงเหมือนกัน แต่ Sharpe เปรียบเทียบกับความเสี่ยงของตัวมันเอง แต่ Information Ratio เปรียบเทียบกับความผันผวนของดัชนีชี้วัด (Benchmark) ครับ ซึ่ง Benchmark ของทั้ง 6 ตัวในตารางนี้ คือ SET Index ตัวเดียวกัน และก็เช่นเดียวกันยิ่งค่า Information Ratio สูง ก็ยิ่งแปลว่า ถีบตัวเองสูงกกว่า Benchmark ได้มากเท่านั้น
Expense Ratio สำหรับคนที่แคร์เรื่องค่าใช้จ่าย
Expense Ratio นั้น รวมทุกอย่างนะครับ ทั้ง Front-end และ Back-end Fee ค่าธรรมเนียมการจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ฯลฯ ยิ่งค่ามาก แสดงว่า กองทุนเก็บค่าธรรมเนียมสูง
แต่ประเด็นก็คือ เก็บสูงๆเนี่ย ไม่ดีใช่มั้ย? คำตอบคือ ถ้าเก็บเยอะ แล้วผลตอบแทนห่วยแตก อย่างนี้ต้องอย่าไปคบครับ แต่ถ้าเก็บสูงกว่าคนอื่น แต่ผลตอบแทนก็ดีกว่าคนอื่น แบบนี้ ยังพอให้อภัย
สำหรับผล Expense Ratio ไม่ได้มีความสำคัญมาก หากพิจารณาในมุมมองของ นโยบายการลงทุน ผลตอบแทนในอดีต และความเสี่ยงของพอร์ตแล้ว ถือว่าเป็นกองทุนที่ดี เพราะ เวลาคำนวนผลตอบแทนย้อนหลัง หรือความเสี่ยง จะทำนวนจาก NAV ซึ่งหักพวกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออกไปแล้วเรียบร้อยครับ
มาถึง ตัวเลือกในใจผมละ ย้อนกลับไปทีละประเด็น
NAV – ผมไม่แคร์ กองไหนก็ได้ที่ผลตอบแทนดีกว่า งั้นข้ามประเด็นนี้ไป
MorningStar Rating – เนื่องจากดีทุกกอง 4 และ 5 ดาว ผมรับได้หมด (ก็เลือกกองที่ดีที่สุดมาแล้วนิ) ข้ามประเด็นนี้เช่นกัน
ผลตอบแทนย้อนหลัง – 3 ปี และ 5 ปี ถือว่า 1VAL-D และ KFSDIV น่าสนใจ เลือก 2 กองนี้ (ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ผมไม่พิจารณา เพราะต้องการถือว่า กินปันผลและการำเพิ่มขึ้นของ NAV ในระยะยาว)
S.D. – BKD ต่ำมาก แต่ผลการดำเนินงานย้อนหลังต่ำไปนิด เสี่ยงน้อยลำดับถัดมา ก็ยังเป็น 1VAL-D และ KFSDIV
Sharpe Ratio – นี่ก็ชัดว่าเป็น 1VAL-D และ KFSDIV
Information Ratio – ช่วง 3 ปี HI-DIV ของเอ็มเอฟซี ติดอันดับหนึ่ง แต่กองตั้งมาไม่ถึง 5 ปี ผมคิดจะถือยาวมากกว่านั้น อีกอย่าง HI-DIV ตั้งกองทุนหลังวิกฤต Subprime ซึ่งเป็นช่วงหุ้นขาขึ้น เพราะฉะนั้น กองทุนที่ผ่านตลาดขาลงมาแล้ว รอดมาแล้ว ย่อมมีภาษีดีกว่า และ KFSDIV ให้ค่า Information Ratio 3 ปี รองอันดับ 3 (สูงกว่า 1VAL-D) ส่วน 5 ปี เป็นอันดับหนึ่ง มองในมุมนี้ ผมเลือก KFSDIV
Expense Ratio – ผมไม่แคร์ เพราะไม่ได้ต่างกันมากจนน่าเกลียด ถึงแม้ KFSDIV จะเก็บ Brokerage Fee ขาเข้า ขาออก สูงกว่ากองอื่น แต่ผมซื้อ แล้วถือยาว เน้นปันผล ไปเรื่อยๆ ไม่ได้เอามาเทรดเข้าๆออกๆ
สรุป อันดับในใจผม KFSDIV เป็นตัวเลือกแรก ส่วน 1VAL-D เป็นตัวเลือกถัดไป
ส่วนคุณ สะดวกตัวไหน ชอบตัวไหน ก็แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคนนะ
โชคดีในการลงทุนครับ