Rebalancing

ปัญหาของนักลงทุนเกินกว่า 80% ที่โลดแล่นอยู่ในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหุ้นโดยตรง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็คือ ซื้อเป็น แต่ขายไม่เป็น

สาเหตุก็เพราะ

ถ้าตอนที่กำไรอยู่
ก็ไม่รู้ว่ามันจะขึ้นไปอีกหรือเปล่า
และถ้าเอาจริงๆ ก็อยากซื้อเพิ่มเสียด้วยซ้ำ
บางครั้ง ก็มัวนั่งเสียดายว่าเราซื้อมาน้อยเกินไป

ถ้าตอนขาดทุน
ก็หวังว่า เดี๋ยวมันคงจะขึ้นมาให้ขาย
สัญญากับตัวเองว่า คราวนี้ถ้ามันขึ้น ฉันจะขายจริงๆ ละ
แล้วความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ มันมักจะไม่ขึ้นมา และไหลลงต่อ

โชคร้ายกว่านั้นก็คือ ตอนกำไรซักตัว ลงทุนไปนิดเดียว
แต่ตอนขาดทุนมาเนี่ย มักจะเป็นตอนที่อัดไปเต็มพอร์ต

เอาอย่างนี้ครับ ผมมีหลักการ ขาย / ลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นคร่าวๆ 4 อย่าง ซึ่งหวังว่า มันน่าจะช่วยให้ในอนาคต คุณน่าจะสามารถรู้ว่าต้องทำยังไงดี

1. เมื่อราคาวิ่งมาถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ให้ขาย

ยกตัวอย่างเช่น วิเคราะห์ หุ้น AAA ว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า มันจะวิ่งจากราคา 10 บาท ไป 12 บาท … สมมติว่า ผ่านไป 3 เดือน มันไปถึงเป้า 12 บาทแล้ว สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ‘ขายครับ’ แต่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้เพราะไอ้เจ้าราคาเป้าหมายเนี่ย มันมักจะมาจากการฟังคนอื่น อ่านดูที่นักวิเคราะห์เขียนบ้าง ซึ่งความเห็นของคนอื่น มันก็คือของคนอื่น และอาจเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอด อย่าเอาความคิดเค้ามาผูกไว้กับชีวิตของเราครับ สิ่งที่ควรทำก่อนการตัดสินใจลงทุนคือ หาราคาเป้าหมายด้วยตัวของเราเอง ไม่ว่าจะสั้นจะยาวแค่ไหน มันก็ควรเป็นตัวเลขที่เรามั่นใจ แล้วเมื่อมันถึงเป้าเมื่อไหร่ อย่าลังเลที่จะขายมันไปซะ!!

2. เมื่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้น หรือกองทุนนั้นๆ มันเปลี่ยนแปลงไป

ปัจจัยพื้นฐานที่ว่า ยกตัวอย่างเช่น ยอดขายตก, Margin ลดลง, กระแสเงินสดต่ำกว่าที่เราประเมิน หรือเริ่มมีสัญญาณของการสูญเสีย Market Share ในตลาด แม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนผู้บริหารที่เราไม่รู้จัก สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บอกเราว่า ควรขายหุ้นออกไปซะ

สำหรับท่านที่ลงทุนในกองทุนรวม การดูสัญญาณทางเศรษฐกิจซึ่งแสดงถึงพื้นฐานของภูมิภาคที่เราไปลงทุน จะเป็นตัวตัดสินใจว่า เราควรขายหรือยัง เช่น GDP เริ่มชะลอตัว, มีกระแสเงินทุนไหลออกมากผิดปกติ, การชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ หรือการลงทุนภาคเอกชน แต่อาจะต้องดูหลายอย่างประกอบกันนะครับ เพราะในภาพกว้าง การวิเคราะห์แบบ Top Down Approach สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมนั้น ต้องพึ่งการวิเคราะห์ และการตีความปัจจัยมหภาคในหลายๆ มิติ ไม่เหมือนการซื้อขายหุ้นรายตัว ที่ดูผลกระทบต่อบริษัทนั้นบริษัทเดียว

3. เมื่อเห็นแล้วว่า  มีโอกาสใหม่ ที่น่าจะทำกำไรได้มากกว่า

นั่นแปลว่า นักลงทุนเมื่อลงทุนไปแล้ว หน้าที่ที่สำคัญหลังจากนั้นก็คือ ต้องพยายามเสาะแสวงหา เปรียบเทียบผลตอบแทน และโอกาสการที่อยู่รอบตัวเราเสมอๆ เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนออกไป  สุดท้าย มันอาจหมายถึง การขายหุ้นตัวหนึ่ง แล้วไปลงทุนในบริษัทคู่แข่งแทนเลยก็ได้ ถ้าเราประเมินแล้วว่า หุ้นที่เราถือ กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคนอื่น

ภาษาชาวหุ้น บางที เราเรียกวิธีนี้ว่า เปลี่ยนม้าขี่ ไปลุ้นกับตัวที่มีแนวโน้มจะวิ่งเร็วกว่า …

แต่กลยุทธ์นี้ ควรทำก็ต่อเมื่อเราลงทุนใน Allocation เต็มหมดแล้ว และไม่เหลือเงินสดในพอร์ตให้ไปซื้อตัวอื่นเพิ่ม เพราะบ่อยเหมือนกันครับ พอเปลี่ยนม้าขี่ปั๊บ ไอ้ตัวที่เรากระโดดหนีออกมา มันดันออกตัวแรงแซงทุกโค้งหน้าตาเฉย แบบนี้ถือว่า เราอาจวิเคราะห์ผิดนะครับ ดังนั้น สุดท้าย มันอยู่ที่ว่า เรา Research มาหนักแล้วจริงๆ หรือเปล่า

4. เมื่อสัดส่วนการลงทุนในหุ้น / กองทุนรวมหุ้น ของเราสูงเกินไป

เหตุการณ์นี้ มักจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนประเภท Long Term Investor ที่ปล่อยให้พอร์ตการลงทุนนั้นเคลื่อนไหวตามสภาพคลาดจะพาไป คราวนี้ มันจะมีโอกาสครับที่หุ้น หรือกองทุนที่เราลงทุนไป มันผลตอบแทนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้สัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ไม่เสี่ยง (ตราสารหนี้) สูงเกินความต้องการของเรา

เช่น กะจะวางพอร์ต 65 หุ้น : 35 ตราสารหนี้ แต่พอผ่านไป 3 ปี หุ้นวิ่งดี สัดส่วนพอร์ตอาจจะขึ้นไปที่ 75 : 25 ก็กลายเป็นว่า พอร์ตเสี่ยงไปโดยปริยาย

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ กำหนดสัดส่วนพอร์ตการลงทุนไว้ตั้งแต่แรกครับว่า จะให้หุ้นอยู่ในพอร์ตไม่เกินเท่าไหร่ เช่นตัวอย่างเมื่อกี้ เมื่อถึงเวลา เราก็ควรขายลดพอร์ตหุ้น จาก 75% ให้เหลือ 65% เสีย วิธีนี้ เขาเรียกว่า Re-Balancing Portfolio ซึ่งควรกำหนดตรวจสอบพอร์ตอย่างน้อย 3 เดือน

ก่อนจบบทความ ผมพาไปดูความเห็นของนักลงทุนระดับตำนานของโลก ต่อเงื่อนไขในการขายหุ้น ของแต่ละคนหน่อยครับ ท่านจะรู้ว่า ถึงแม้เขาเป็น Value Investors แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องถือจนตราบสิ้นกาลนานอย่างที่คุณเข้าใจนะครับ

ขายหุ้นเมื่อ PEG สูงประมาณ 1.2 – 1.4 หรือเห็นแนวโน้มว่าการเติบโตเริ่มลดลง
– Peter Lych

ระวังบริษัทที่มีการลดลงของการเติบโต 2 ปีติดต่อกัน ถ้าเจอ จงหนีออกมาซะ
– Sir John Templeton

มีเหตุผล 2 ข้อในการตัดสินใจขายหุ้น
1.พื้นฐานเริ่มเลวลง
2. ราคาขึ้นมาสูงถึงจุดที่ต้องการแล้ว
– John Neff

TSF2024