ในช่วง 1 เดือนย้อนหลังที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า ตลาดการเงินของโลกมีความผันผวนในระดับที่เราไม่ได้เห็นมาซัก 2-3 เดือนหลังจากการระบาดของโควิด-19
ผันผวนระดับไหน พาไปดูกันทีละประเภทสินทรัพย์นะครับ เริ่มจาก ดัชนี S&P 500 ย้อนหลังไป 1 เดือนปรับฐานลงมา -5.8% ขณะที่ราคาทอง ร่วงลงมา -2.6% พร้อม ๆ กับ ราคาน้ำมันที่ลงมาลึกถึง -6.8% รวมถึงตราสารหนี้ทั้งประเภท High Yield Bond และตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ ก็ต่างติดลบ -1.4% และ -1.7% ตามลำดับ
SET Index ของไทย ปรับฐาน 1 เดือนที่ผ่านมาไป -5.8% ตอนตลาดหุ้นโลกขึ้น ไม่ยักขึ้นกับเขาด้วย แต่ตอนลง ลงแรงพอ ๆ กับเขาเลย
เรียกได้ว่า หันไปทางไหน ก็มีแต่สินทรัพย์ที่อยู่ในช่วงของการปรับฐาน จะมีก็เพียงค่าเงินดอลล่าร์ (เมื่อมองผ่าน Dollar Index) และ พันธบัตรรัฐบาล ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้
เวลาเรามองตลาดแล้วเห็นการปรับตัวลงทุกสินทรัพย์แบบนี้ ใครที่มีประสบการณ์การลงทุนหน่อย ก็จะเริ่มมีความกังวลเป็นธรรมดา เพราะ การปรับฐานใหญ่จนเข้าสู่ภาวะตลาดหมี หรือ Bear Market เราจะเห็นพฤติกรรมแบบนี้เป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเห็นสัญญาณเทขายรุนแรงแทบจะทุกครั้งไป
ถามว่า แล้วปรับฐานครั้งนี้ มาจากสาเหตุอะไร และน่ากังวลไหม เราไปหาคำตอบกันครับ
ถ้าลองไปดูว่า ข่าวที่อยู่ในพื้นที่สื่อในช่วงที่ผ่านมาพร้อม ๆ กับการปรับฐานของตลาด ก็มีอยู่ 3 ประเด็น คือ
1. ในสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ได้มีการรายงานว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี โดยเอกสารลับของ FinCen ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับการโอนเงินมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในระหว่างปี 2542-2560 ซึ่งเงินเหล่านี้ได้รับอนุมัติการทำธุรกรรมโดยหน่วยงานภายในของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย ทั้งนี้ เอกสารยังมีการระบุ ชื่อของ HSBC , JP Morgan, Deutshe Bank, Standard Chartered และ Bank of New York Mellon ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารถูกเทขายทั้งโลก
2. จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในอังกฤษและยุโรปกลับมาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะทำให้อังกฤษมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 50,000 รายต่อวันภายในกลางเดือนหน้า และจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 รายต่อวัน ขณะที่แผนการผ่อนปรนของสหภาพยุโรป เพื่อให้ประชาชนทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ก็มีอันต้องเลื่อนออกไป ทำให้ตลาดกังวลเรื่องการเกิด Second Wave อีกรอบ
3. ตลาดมาได้ปัจจัยลบจากฝั่งสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังจากที่อความขัดแย้งระหว่างสภาคองเกรสและทำเนียบขาวยังอยู่ และทำให้โอกาสในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อาจดีเลย์ออกไป หลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 พ.ย. เลย
แต่ฝั่งของเทรดเดอร์ ที่ไม่ได้สนใจข่าว ก็จะบอกเหตุผลว่า ที่ตลาดปรับฐาน ก็เพราะ “มันขึ้นมาเยอะเกินไป” ดังนั้น ก็ต้องมีแรงขายทำกำไร จากนักลงทุนที่มองว่า ลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมออกไปบาง ในขณะที่ เราก็เห็นว่า มีความไม่แน่นอนอยู่ตรงหน้า และ ยังไม่รู้ว่า เหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์ของปีนี้ จะออกหน้าไหน นั่นก็คือ การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ
กลับไปที่ เหตุผลของการปรับฐานที่อยู่บนหน้าสื่อ ทั้ง 3 ข้อ หากพิจารณาดี ๆ จะพบว่า เหตุผลข้อที่ 1. เรื่องการเปิดเผยเอกสารลับของ FinCen นั้น เหมือนน่าจะเป็นปัจจัยลบชั่วคราว ที่สะท้อนความกังวลไปอยู่ในราคาของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินเลยได้ทันที และ Worst Case Scenario ที่จะเกิดขึ้น ก็คือ การที่เหล่าสถาบันการเงิน ยอมไกล่เกลี่ยและจ่ายค่าปรับกับทางการแต่โดยดี
ขณะที่เหตุผลข้อที่ 3. เรื่อง การล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้น ความเห็นส่วนตัวของผม ก็เชื่อว่า เป็นเกมส์การเมืองที่ต้องการเรียกคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย และยังไงก็ต้องจ่ายเช็คให้กับผู้ว่างงานอยู่ดี สหรัฐฯยอมไม่ล็อคดาวน์มาขนาดนี้ คงจะไม่ยอมให้เศรษฐกิจประเทศตัวเองทรุดหนักแน่นอน หลังจากยอมให้ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกในเวลานี้
เรื่องที่น่ากังวลจริง ๆ ก็คือ ข้อ 2. ซึ่งกระทบกับมาตรการผ่อนปรนในขั้นตอนต่อ ๆ ไป และความหวังเหมือนจะต้องลุ้นที่วัคซีนต้านไวรัส ซึ่งจะมาเร็วหรือช้า ก็คงต้องลุ้นกัน
แต่สัญญาณหนึ่งของรอบปรับฐานรอบนี้ที่ผมมองว่า ตลาดไม่น่าจะพังทลายลงมาในเร็ววันก็คือ เหล่า Leader Stocks หรือหุ้นผู้นำในกลุ่มเทคโนโลยีทั้งหลาย อย่าง FAANG + M กลับปรับฐานเบา และมีแรงรับสวนมาเรื่อย ๆ ทำให้ไม่ลงมาลึกถึงแนวรับในมุมการวิเคราะห์ทางเทคนิคหากเทียบกับขาขึ้นที่ตัวเองวิ่งขึ้นมา
ก็ไม่แน่นะครับ ตลาดแค่อาจยังไม่เทขายหุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้ออกมาตอนนี้ แล้วค่อยขายหลังจากนี้ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าวิเคราะห์กันบนสภาวะตลาด ณ ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่า การปรับฐานรอบนี้น่าจะเป็นแค่ Healthy Correction หรือ ปรับฐานเพื่อสร้างฐานที่มั่นคง และเตรียมขึ้นต่อ และตลาดหุ้นในเดือนต.ค. ที่จะถึงนี้ น่าจะย้ายประเด็นไปโฟกัสที่การเลือกตั้งสหรัฐฯมากขึ้น เพราะหากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ โลกก็จะหมุนตามนโยบายที่เปลี่ยนทิศเช่นกัน เตรียมดูการดีเบตระหว่างนายโดนัล ทรัมป์ และ นายโจ ไบเดน ทั้ง 4 ครั้งได้เลยครับ (29 ก.ย. , 7 ต.ค. , 15 ต.ค. และ 22 ต.ค.) ตลาดน่าจะแกว่งตามคำพูดของ 2 ท่านนี้ ตลอดเดือน ก่อนจะไปเลือกตั้งกันในวันที่ 3 พ.ย.
จังหวะในการทยอยสะสมลงทุนระยะยาว กำลังรอเราอยู่ครับ
Mr.Messenger