02_INVESTOR_OASIS_Template081

คำถามนี้ ดูจะคาใจสำหรับใครหลายๆคนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นนะครับ

เพราะตำรา Value Investing ก็สอนเราว่า ให้ดูมูลค่าของกิจการ ขายเมื่อแพงเกินมูลค่า และซื้อเมื่อถูกกว่าปัจจัยพื้นฐาน

คำถามคือ มันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่ราคาเกินปัจจัยพื้นฐานไปมาก แต่ราคาหุ้นกลับไม่ตก และราคาต่ำเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานสุดๆ แต่หุ้นก็ดันหลุดทุกแนวรับ

นั้นเป็นเพราะ หุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวด้วยกำไร/ขาดทุนของกิจการเพียงอย่างเดียว แต่มันเคลื่อนไหวตามความคาดหวังของนักลงทุน ซึ่งต่างคนก็ต่างมองในมุมที่ไม่เหมือนกันครับ

ผมพาไปดูโครงสร้างหุ้นไทยซักเล็กน้อยนะครับ

นักลงทุนต่างชาติ – คิดเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดกว่า 50-60% ของ Free Float ทั้งหมด แต่ ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันนั้นคิดไม่ถึง 25% เพราะส่วนใหญ่ เข้ามาลงทุนแบบระยะยาว เน้นรอบใหญ่

นักลงทุนสถาบัน – คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 20% ของ Free Float ปริมาณการซื้อขายไม่ถึง 10% เพราะหลักๆ เป็นกองทุนพวก Long Only เน้นถือลงทุนในระยะยาว (ยาวกว่าพวกต่างชาติเสียอีก)

บัญชีโบรกเกอร์ – คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 4% ของ Free Float เน้นแสวงหากำไรระยะสั้น เข้าเร็วออกเร็ว ปริมาณการซื้อขายใกล้เคียงกับนักลงทุนสถาบันเลย

นักลงทุนรายย่อย – คิดเป็นสัดส่วน 16% ของ Free Float แต่เป็นผู้เสริมสภาพคล่องให้ตลาดมากที่สุด เพราะปริมาณการซื้อขายต่อวัน มาจากนักลงทุนประเภทนี้ เกิน 50% นั้นแปลว่า นักลงทุนรายย่อย (ส่วนใหญ่) มีมุมมองการลงทุนในระยะที่สั้นมากๆ

ในยามที่ภาวะตลาดมันเป็นปกติ ราคาก็จะเคลื่อนไหวโดยไม่ให้น้ำหนักปัจจัยภายนอกประเทศมากนักหรอกครับ และยิ่งนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทยด้วยแล้ว ก็ถือว่ามีผลไม่เยอะ แต่ในยามที่เกิดภาวะผิดปรกติเช่นปัจจุบัน มันทำให้นักลงทุนต่างชาติ เริ่มขยับพอร์ตการลงทุน และปรับสัดส่วนหุ้น ซึ่งฝรั่งเนี่ย เงินใหญ่ และคิดคล้ายๆกัน ถึงแม้จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีสัดส่วนในตลาดหุ้นเยอะ แต่การกระทำในทิศทางเดียวกัน มันส่งผลต่อราคาหุ้นในระยะสั้นพอสมควร

รูปด้านล่าง คุณจะเห็นว่า ตั้งแต่ต้นปี กลุ่มที่ขายหนักขายเยอะ คือนักลงทุนต่างชาติ และถ้าพล๊อตกราฟหุ้นไทย กับการถือครองของต่างชาติ คุณจะพบความสัมพันธ์ท่น่าสนใจนั้นก็คือ เมื่อไหร่ต่างชาติขายติดต่อกัน หุ้นไทยมักจะลง และหุ้นไทยมักจะขึ้นได้แข็งแรงถ้ามีเงินทุนจากนักลงทุนกลุ่มนี้

Sell

กรณีตัวอย่าง : จีนทำอะไรกับเศรษฐกิจ แล้วทำไมถึงจะมากระทบกับตลาดหุ้นไทย

ความสัมพันธ์ก็คือ

  1. เศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย เป็นอันดับสองของโลก ดังนั้น จีนจะโต หรือจะชะลอ มีผลต่อคู่ค้าทั่วโลกอยู่แล้ว
  2. จีน เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยรองจาก CLMV แต่ถ้าดูสัดส่วนการส่งออกของไทยไปใน ASEAN รวมเข้าไปด้วย ซึ่งอยู่ที่ 24% โดยที่ประเทศเหล่านี้ ก็ส่งออกไปที่จีนอยู่ดี ก็จะพบว่า จีนคือตลาดหลักที่สำคัญของเรานะครับ ดังนั้น จีนจะเป็นอะไร เราได้รับผลกระทบแน่นอน
  3. ในแง่ของตลาดหุ้น – กองทุนขนาดใหญ่ของโลกที่ขนเงินมาลงทุนในเอเชีย เวลาเงินเขามา มาแบบมหาศาล ดังนั้น การลงทุน กลยุทธ์หลักคือเรื่อง “บริหารความเสี่ยง” ไม่ใช่การเสี่ยงอย่างไม่ลืมหูลืมตา ดังนั้น เขาจึงมีการวาง Allocation แต่ละประเทศ จัดสัดส่วนอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างสมดุลและลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เมื่อเศรษฐกิจจีนแย่ เขาก็วิเคราะห์ครับ ว่าจะกระทบใครบ้าง แล้วเขาก็สั่งลดพอร์ตตามสัดส่วนที่เขาคิดว่าควรลด ดังนั้น ไทยจึงโดนด้วย จากเหตุผล 2 ข้อข้างต้น

วันนี้ ประเทศไทย เป็นเศรษฐกิจแบบเปิดครับ

การรู้ข้อมูลในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่เปิดโอกาสให้เราไปลงทุนในตลาดอื่น
แต่มันเพราะ เศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงกับโลกไปเรียบร้อยแล้วครับ เมื่อเรารู้โลก เราก็รับมือได้ดีขึ้น

Mr.Messenger