เราเห็นคนบ่นกันเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีกันมาซักระยะ และยิ่งถ้าเราได้อ่านข่าวรายวัน ก็จะพบเห็นข่าวร้าย ข่าวไม่ดี ถูกฟอร์เวิร์ดส่งต่อกันเป็นทอดๆ ในกรุ๊ปไลน์ หรืออยู่บนหน้าฟีดในเฟสบุ๊คของเพื่อนๆ เรา ให้ตัวเราเองไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจ เจอข่าวแย่ๆ เข้ามาทุกๆ วันแบบนี้ ก็ต้องมีเสียทรงตัวบ้างเป็นธรรมดา และพานคิดไปว่า นี่เศรษฐกิจไทยไม่ดีจริงๆ หรือเนี่ย
พาไปดูตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเก็บรวบรวมจริงบางตัวที่ผมคิดว่า เราควรรู้ไว้หน่อยนะครับ จะได้ทำให้เราเห็นภาพในทางเดียวกัน และอ่านสนุกขึ้นจนจบบทความนี้ ตัวเลขแรกเลยก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค หรือ Consumer Confidence Index ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีนี้เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 63 โดยตัวเลขของเดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 68.3 จากเดือน พ.ย. 62 ที่อยู่ในระดับ 69.1 ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 68 เดือน ขณะที่อีกตัวเลขที่ทางหอการค้าไทยเปิดเผยก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 56.0 ลดลงจากเดือน พ.ย.62 ที่อยู่ในระดับ 56.4 ซึ่งสะท้อนว่า เราไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในอนาคตซักเท่าไหร่
สิ่งนี้สอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจไทยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่ปรับลดคาดการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 62 จากเดิม 2.8% ลดลงเหลือ 2.5% ขณะที่ตัวเลขของปี 63 ปรับลดลงจากเดิม 3.3% เหลืแ 2.8% ถึงแม้จะมีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นในเชิงปลอบใจกับเราว่า ถ้าดูจากตัวเลขประมาณการแล้ว มองในแง่ดีคือ ปี 63 นี้ เศรษฐกิจดูขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้วนะ (จาก 2.5% ขยับขึ้นมาที่ 2.8%)
ความเป็นจริงอีกด้านก็คือ หากจำกันได้ ประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ทาง กนง. มองเป้า GDP Growth ของปี 62 อยู่แถวๆ 3.5% นับตั้งแต่ต้นปี พอจบปี ต่างจากที่มองไว้ถึง 1.0% ก็ทำให้สงสัยว่า เปิดปีใหม่มา คาดว่าเศรษฐกิจเราจะโต 2.8% แล้วจบปีมันจะกลายเป็นลบจนต่ำกว่า 2.0% เป็นไปได้ไหม?
เอาละครับ ไม่ว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไร แต่ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า เศรษฐกิจไทยเราอยู่ในขาชะลอตัวจริงๆ คำถามคือ แล้วมันจะดีขึ้นไปมากกว่านี้ได้ไหม?
เผื่อคุณไม่รู้ เศรษฐกิจไทยเราพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนราวๆ 70% ถือเป็นเครื่องยนต์หลักของไทยเราเลยก็ว่าได้ และเครื่องยนต์ตัวที่ 2 ใหญ่ไม่แพ้การส่งออกก็คือ การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 50% ซึ่งในช่วงเวลาเกิดสงครามการค้าที่ปธน.ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เป็นตัวจุดประเด็นขึ้นจนทำให้ภาคการส่งออกของไทยเรามีปัญหามาอย่างยาวนานนั้น เศรษฐกิจไทยก็ได้การเติบโตภาคการบริโภคนี่ละครับที่เป็นตัวค้ำยันให้ภาพของเศรษฐกิจเราดูไม่แย่มากไปกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน
ถึงตรงนี้ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลถึงพยายามทุกวิถีทางในการดึงและกระตุ้นภาคการบริโภคกลับมาให้ได้นะครับ
แต่จนแล้วจนรอด สัญญาการฟื้นตัวที่เป็นรูปร่าง เราก็ยังไม่เห็นชัดเจนว่า มันจะกลับมาขยายตัวได้ดีเมื่อไหร่ ซึ่งจากที่ผมได้ลองนั่งดูด้วยประสบการณ์ตรง และสอบถามจากผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง สิ่งที่ผมสรุปได้ก็คือ จริงๆ แล้ว คนไทยโดยส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้จ่ายเงินในการบริโภคลดลงมากขนาดนั้น แต่เราเปลี่ยนที่ในการใช้จ่ายเงินโดยที่เราไม่รู้ตัวครับ
ยกตัวอย่าง Baby Boomer ซึ่งมีกำลังซื้อมากสุด หลายๆ คนกำลังเข้าสู่ช่วงรีไทร์ ในช่วงเวลาที่อายุขัยของประชากรไทยกำลังขยับสูงขึ้น เขาเหล่านี้ก็รู้ตัวว่า ตัวเองกำลังจะไม่ได้มีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยมากเช่นเดิมก่อนที่ตัวเองจะเกษียณ ก็ต้องเก็บเงินมากขึ้นแต่เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ก็เริ่มขยับเอาเงินออมไปลงทุน มากกว่าจะเอาไปใช้
ขณะที่กลุ่ม Gen Y และ Gen Z ซึ่งกำลังเข้ามาสู่ตลาดแรงงานก็มีอำนาจการจับจ่ายที่ไม่ได้มากเท่า Baby Boomer แถมให้คุณค่ากับสินค้าและบริการที่ต่างไปจากรุ่นพี่ๆ คือ ซื้อได้ถ้าได้ความสะดวยสบายโดยไม่เกี่ยงราคา และแคร์สิ่งแวดล้อม รักษ์โลก ความเป็น Global Citizen มากๆ รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกไม่ใช่แค่เพียงส่วนหนึ่งของประเทศ ปัญหาคือ สินค้าที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ เมื่อสำรวจตลาดในประเทศ จะพบเรื่องน่าเศร้าว่า เราแทบไม่พบผู้ประกอบการไทยที่ทำสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้มากเท่าที่ควร
ลองมาย้อนดูตัวเอง ผมก็พบว่า ตัวเองซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เยอะมากขึ้น เป็นสมาชิกของ Platform Online หลายอย่างที่เจ้าของไม่ใช่คนไทย และพอลองกางค่าใช้จ่ายรายเดือนของตัวเอง เปรียบเทียบกับช่วง 10 ปีก่อน พบว่า จริงๆ เราไม่ได้จับจ่ายใช้สอยน้อยลงเลย เพียงแต่ มันเข้ากระเป๋าคนอื่นที่มากขึ้น และเข้ากระเป๋าคนไทยด้วยกันน้อยลง เขียนมาถึงตรงนี้ คุณคิดว่า การบริโภคไทยเราจะฟื้นได้อย่างไร ไว้ตอนหน้า ผมจะลองมาบอกความคิดของผมให้ได้อ่านกันครับ
Mr.Messenger