top-down-when-war-come-korea

ประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนอาจยังให้ความสนใจไม่มาก แต่ก็ถือเป็นความเสี่ยงเล็กๆ ที่ในฐานะของนักลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์แบบ Top-down Approach อาจต้องอัพเดทสถานการณ์ไว้ซักหน่อยก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในเอเชียเราเองนั่นเอง

เมื่อกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีคดีลอบสังหารระดับโลกเกิดขึ้น ก็คือ การลอบสังหาร คิม จอง นัม พี่ชายต่างมารดาของ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่สนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนักวิเคราะห์สายการเมืองก็พุ่งเป้าว่าน่าจะเป็นความตั้งใจของผู้นำเกาหลีเหนือเองในการกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมือง ซึ่งการลอบสังหารครั้งนี้ มีก่อนการเฉลิมฉลองวันเกิดของ คิม จอง อิล อดีตผู้นำสูงสุด พ่อของจอง นัม และจอง อึน ในสัปดาห์เดียวกันนั้นเอง และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบขีปนาวุธครั้งใหม่ โดย 3 ใน 4 ลูกไปตกลงในน่านน้ำทางตะวันออกของญี่ปุ่น ถือเป็นการตอบโต้ความร่วมมือทางการทหารระหว่างเกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แน่นอนว่าอันตรายมาอยู่ข้างบ้านแบบนี้ ญี่ปุ่นยอมไม่พอใจ และนานาชาติก็ประณามการกระทำดังกล่าว ตรงจุดนี้เอง ที่อาจทำให้เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ใกล้เกาหลีเหนือที่สุด ยิ่งมีความกังวล และจับมือกับสหรัฐทางการทหาร ซึ่งอย่างที่หลายคนทราบข่าวกันว่า รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้และรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เห็นพ้องที่จะเดินหน้าติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธทาด (THAAD) และชิ้นส่วนของอุปกรณ์นี้ ก็เข้ามายังเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่การติดตั้ง THAAD นี้ กลับทำให้พันธมิตรอีกฝั่งของเกาหลีใต้ไม่พอใจ นั้นก็คือ จีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่ต้องการจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ออกจากคาบสมุทรเกาหลี พอมีการติดตั้ง THAAD จีนก็มองว่า เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ กำลังจะใช้ไม้แข็งสั่งสอนเกาหลีเหนือ และจีนเอง ก็มองว่า THAAD ซึ่งมีระบบสอดแนม อาจสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการทหารของจีน ซึ่งมีระบบป้องกันขีปนาวุธข้ามทวีปจากสหรัฐฯ และจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันตนเองในกรณีที่เข้าสู่ภาวะสงครามนั้นลดลง

อีกประเด็นคือ ที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯที่เกาะกวม ก็มีการติดตั้งระบบยิงขีปนาวุธซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ THAAD ไว้แล้ว และที่ญี่ปุ่นเองก็มี เรดาห์บนเรือลาดตระเวน รวมถึงระบบรับสัญญาณจากอวกาศบนเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิกฟิก (เป็นที่รู้กันว่า ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่ดีกับสหรัฐฯ มากกว่ากับจีน) พอมองมุมมองนี้ จีนก็ต้องมองว่า เป็นความเสี่ยงต่อตนเองมากขึ้น เป็นเรื่องปกติ

งานหนัก ณ ตอนนี้ จึงตกลงมาที่เกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้เพิ่งจะมีมติถอดถอน นางสาวปัก กึน เฮ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่ศาลวินิจฉัยว่า เธอละเมิดกฎหมาย หลังจากที่อนุญาต หรือปลอยให้นางชอย ซุน ซิล เพื่อนสนิทคนหนึ่งเข้ามาก้าวก่ายงานของรัฐบาล ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองอย่างน้อยๆ คือ 60 วัน

การตอบโต้ กรณีที่เกาหลีใต้เปิดบ้านให้สหรัฐฯเข้ามาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธทาด ก็คือ จีนได้ออกคำสั่งห้ามบริษัททัวร์ขายแพ็คเกจท่องเที่ยวไปยังเกาหลีใต้ และออกมาตรการตอบโต้บริษัทลอตเต้ ที่มอบที่ดินให้กองทัพสหรัฐฯใช้เป็นฐานที่ตั้งของระบบทาดนี้

ผลกระทบระยะสั้นที่จะตามมาก็คือ ธุรกิจท่องเที่ยวในเกาหลีใต้อาจมีปัญหา เนื่องจากตัวเลขล่าสุดในปี 2015 นักท่องเที่ยวจีนที่เข้าไปเที่ยวในเกาหลีใต้คิดเป็นครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้าไปในเกาหลีใต้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ในการหาแนวทางรับมือกับความสัมพันธ์ที่แย่ลงเรื่อยๆกับจีน รวมถึงการรับมือกับปัญหาท้าทายด้านความมั่นคงอันเป็นผลจากระบบทาดนี้ ซึ่งประชาชนเกาหลีใต้เองก็มีการต่อต้านเหมือนกัน

แต่หากกลับมาดูที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศอื่นๆในเอเชีย จะเห็นว่า นักลงทุนยังไม่ได้มีความวิตกต่อความตึงเครียดในประเด็นที่เท่าไหร่ ดัชนี KOSIP ของเกาหลีใต้ก็ทำ New High เกินกว่า 1 ปี แต่สิ่งนี้ก็ประมาทไม่ได้นะครับ

อีกอย่างที่เห็นจากประเด็นนี้ก็คือ นักลงทุนให้น้ำหนักต่อประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มากกว่าประเด็นอื่นๆในช่วงนี้ เนื่องจากสภาพคล่องที่มีอยู่สูงมากจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษมาอย่างยาวนาน แต่หากเหตุการณ์ความขัดแย้งไม่สามารถแก้ไขได้ หรือขยายวงกว้างไป ก็น่าสนใจว่า เกาหลีใต้จะจัดการความสัมพันธ์อย่างไร ในมุมของไทย ก็อาจได้ประโยชน์เล็กน้อยจากนักท่องเที่ยวจีนที่หันมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นได้เหมือนกัน ยังไงเราก็ติดตามกันครับ

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640610