Top-down Space : ทิศทางราคาทองในอนาคต ใครกำหนด?

นับจากจุดสูงสุดของราคาทอง Spot Gold ที่ทำไว้เมื่อไตรมาส 3 ปี 2011 ที่ระดับราคา $1,920 ราคาทองร่วงลงมาทำจุดต่ำสุดที่ $1,045 เมื่อวันที่ คิดเป็นการปรับฐานมากกว่า -40% ทีเดียว สาเหตุของการปรับตัวขึ้นตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ ก็คือ นักลงทุนไปคาดหวังกันว่า นโยบายการอัดฉีดเงินเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า QE จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในอนาคต และค่าเงิน USD จะมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว จากปริมาณเงิน (Money Supply) ที่เพิ่มมากขึ้น

แต่เมื่อกลางปี 2013 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็กลับลำเปลี่ยนนโยบาย ยกเลิกการทำ QE ขณะที่เงินเฟ้อก็มีสัญญาณปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้นักลงทุนกลับมามองแล้วว่า ปริมาณเงินในระบบที่เพิ่มสูงขึ้นมาตลอด ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีทิศทางดีขึ้น จนสามารถยกเลิก QE และเตรียมจะขึ้นดอกเบี้ยได้เช่นนี้ น่าจะทำให้เกิดการไหลกลับของค่าเงิน USD เข้าหาประเทศสหรัฐฯอีกรอบ ตรงนี้เอง ที่ทำให้ราคาทองปรับฐานลงมา จนถึงทุกวันนี้

ถ้าถามว่า ปัจจัยใดที่กำหนดการเคลื่อนไหวของราคาทอง ผมคงต้องบอกว่า มันแล้วแต่ช่วงเวลาว่าปัจจัยไหนมีอิทธิพลสูงกว่าปัจจัยอื่น

จากจุดต่ำสุดของราคาทองเมื่อปลายปี 2015 ราคาทองได้มีการรีบาวน์มาต่อเนื่องในปี 2016 และทำจุดสูงสุดของรอบก่อนวันที่ทั่วโลกทราบว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯคือ นายโดนัล ทรัมป์ เพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น (ช่วงนั้น สำนักโพลต่างๆ บอกว่า ผลการเลือกตั้ง นางฮิลลารี จะชนะนายทรัมป์แบบขาดลอยมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของสหรัฐฯ)

ก่อนหน้านี้ ตลาดเชื่อกันว่า หากสหรัฐฯได้นายทรัมป์เป็นผู้นำสูงสุด นโยบายสุดโต่งของเขา น่าจะเป็นผลบวกต่อราคาทอง สาเหตุก็เพราะ แต่ละนโยบาย มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเอง รวมถึงประเทศคู่ค้าต่างๆ ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น นโยบายกีดกันทางการค้า, นโยบายปราบปรามผู้ก่อการร้าย, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ รวมถึง การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ และเมื่อความไม่แน่นอนมันสูง สินทรัพย์ที่น่าจะได้รับประโยชน์ก็คือ ทองคำ

จากวันที่ทรัมป์ชนะการเลืองตั้งจนถึงวันนี้ ต้องบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับราคาทอง ก็ถือว่าผิดไปจากที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้พอสมควร เพราะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ $1,150 – $1,300 และยังไม่เลือกทางเสียทีว่าจะเอายังไง

ที่ผมเล่าย้อนอดีตของราคาทอง กับข่าวใหญ่ๆที่มีผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของมันให้ดู โดยแบ่งเป็นสองช่วงให้เห็น ก็เพื่อจะพาผู้อ่านลองกลับมาย้อนดูครับ เราอาจจะรู้ต้นตอขอการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้นก็ได้

สิ่งแรกก็คือ ขาขึ้นครั้งใหญ่ของทองหลังวิกฤตซับไพรม์ มาจากความคาดหวังให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า บนความเชื่อของนักลงทุนว่า นโยบาย QE มันไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นไม่ได้จริงๆ และนักลงทุนจะขนเงินหนีออกจากสหรัฐฯในที่สุด นั่นแปลว่า ราคาทองปรับตัวขึ้นรุนแรง จากมุมมองที่นักลงทุนเห็นตรงกันว่า ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าในระยะยาว และเป็นการปรับตัวขึ้นในระยะยาวมากกว่า 1-3 ปีด้วยนะครับ

สิ่งที่สองก็คือ หลังจากทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ โลกก็ปั่นป่วนอย่างที่เราเห็นจริงๆนั่นหล่ะครับ ความแน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) สูงขึ้นมากทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาทองปรับตัวขึ้นอย่างเด่นชัดขนาดนั้น ส่วนหนึ่งก็คงเพราะ ยังมีนักลงทุนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่า ที่เราเห็นกันอยู่ตอนนี้มันเป็นแค่การขู่กันไปขู่กันมา ใช่ว่าจะเกิดสงครามกันจริงๆเสียเมื่อไหร่ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มันอาจเป็นไปได้ว่า ปัจจัยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางราคาทองคำหรือเปล่า?

งั้นลองดูเหตุการณ์สดๆร้อนๆที่เพิ่งผ่านไป

เมื่อวานนี้ ผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบแรก นายเอ็มมานูแอล มาครอง จากพรรคก้าวหน้า คว้าชัยชนะด้วยคะแนน 24% และจะมีการเลือกตั้งรอบ 2 โดยเป็นการเลืองกันอีกทีระหว่างนายมาครอง ผู้ชนะ กับ อันดับสอง คือ นางมารีน เลอ เปน ผู้สมัครจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือเนชันแนล ฟรอนต์ ที่มีแนวนโยบายขวาจัด นักวิเคราะห์ก็พากันออกมาบอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ นายมาครอง น่าจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งรอบสองด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 60% แน่นอน ทำให้ความเสี่ยงที่จะได้ผู้นำอย่างนางมารีน ซึ่งชูนโยบาย FREXIT ก็ลดลงไปทันที ราคาทองก็ดิ่งลงมาร่วมๆ -1% แต่นี่ก็แค่การเคลื่อนไหวระยะสั้น ไม่ได้มีอิทธิพลต่อราคาทองในระยะยาว

ดังนั้น ระยะสั้น จึงสรุปได้ว่า ทิศทางราคาทอง ถูกกำหนดด้วยความไม่แน่นอนในสถานการณ์การเมืองโลกที่มีผลต่อกระแสเงินทุน แต่ในระยะยาว หากดูกันเป็นเทรนแล้ว ผู้กำหนด น่าจะเป็นทิศทางของค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ นั่นเอง

และผู้ที่อ่านแนวโน้มของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐออก นอกจากจะสร้างกลยุทธ์ในการลงทุนในทองคำในระยะยาวได้แล้ว ก็สามารถใช้มุมมองดังกล่าวเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆได้ด้วยนะครับ

ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641038